วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.



  • อนุมัติร่างกฎ ก.พ.อ. การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ.อ. การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยสาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.อ. คือ กำหนดให้สายงานจิตวิทยาคลินิก เป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง
ข้อเท็จจริง
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้กำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาของกลุ่มประเภทวิชาชีพเฉพาะไว้จำนวน 29 วิชาชีพเฉพาะตามกฎ ก.พ.อ. โดยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดสายงานจิตวิทยาคลินิก แต่เนื่องจากมีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่มีคณะแพทย์ศาสตร์และโรงพยาบาลให้บริการด้านสุขภาพที่ดำรงตำแหน่งนักจิตวิทยาและมีคุณวุฒิทางจิตวิทยาคลินิก พร้อมทั้งมีใบประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิกตลอดรวมถึงปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก ตามมาตรฐานวิชาชีพจิตวิทยาคลินิกของสำนักงาน ก.พ.
ดังนั้น ก.พ.อ. จึงเห็นสมควรให้กำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสายงายจิตวิทยาคลินิกเพิ่มขึ้นอีก 1 สายงาน และกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปของสายงานจิตวิทยาคลินิก เป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งการกำหนดตำแหน่งนักจิตวิทยาคลินิกเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง มีผลให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 951,600 บาท
นอกจากนี้ ก.พ.อ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสายงานจิตวิทยาคลินิก และกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปของสายงานจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะมีสิทธิได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่ง ในการประชุมครั้งที่ 6/2555 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555

  • รับทราบการติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (ในส่วนของ ศธ. คือ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนตั้งตัวได้ และจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน)
ครม.มีมติรับทราบการติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ในส่วนของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์) ประจำเดือนมีนาคม 2556 ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์) เสนอดังนี้
1. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน
1.1 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  งานสนับสนุนการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการจ้างเจ้าหน้าที่ประสำนักงานกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างเหมาเอกชนบันทึกข้อมูลใบสมัครสมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับมาจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นอกจากนี้ได้ดำเนินการงานประชาสัมพันธ์กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และดำเนินงานยุทธศาสตร์และพัฒนาศักยภาพกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแล้ว เช่น จัดประชุมคณะกรรมการและยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี    ดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการกองทุนฯ ระดับตำบลและเจ้าหน้าที่จังหวัด (เพิ่มเติม) จัดกิจกรรมกองทุนฯ เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2556 เป็นต้น
2. กองทุนตั้งตัวได้
2.1 ศธ.ได้ดำเนินการดังนี้  เห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาสถาบันการศึกษาที่สามารถขอจัดตั้งเป็น ABI (Authorized Business Incubator)  และมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนตั้งตัวได้จัดทำ TOR การจัดตั้ง ABI  เพื่อประกาศใช้ต่อไป
2.2 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ (กองทุนตั้งตัวได้) วงเงิน 1,300 ล้านบาท โดยมอบงบประมาณให้ ศธ.ไปดำเนินการทั้งหมด
3. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การคุ้มครองสิทธิ การบริการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การสร้างความมั่นคงทางการเงินการคลังของหน่วยบริการ
4. จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน
4.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประชุมหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อแท็บเล็ตทั้ง 10 หน่วยงาน และเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติการจัดซื้อประจำปีงบประมาณ พ.. 2556 ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา4.2 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งได้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ จัดการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเสริมศักดิ์  พงษ์พานิช) เป็นประธาน ซึ่งได้มีการจัดทำแผนการประกวดราคาซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์4.3 สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคาการจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้มีการพิจารณาร่าง TOR จัดซื้อแท็บเล็ตด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับ 9 หน่วยงาน ขณะนี้ ร่าง TOR เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติ TOR เพื่อจัดซื้อ
4.4 ขณะนี้มีหน่วยงาน 9 หน่วยงาน ที่มีหนังสือมอบอำนาจให้ สพฐ. ดำเนินการจัดซื้อแทน (ยกเว้น อปท.)

4.5 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันการพลศึกษา ได้มอบอำนาจให้ สพฐ.ดำเนินการจัดหาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และในช่วงเดือนมีนาคม 2556 ได้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการจัดทำ TOR และอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบการจัดทำ TOR

  • รับทราบแผนปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย
ครม.มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ.2555–2559 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการให้บังเกิดผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายรัฐบาลด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2555–2559 ประกอบด้วยโครงการ/แผนงานใน 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 เด็กทุกคนได้รับบริการในการพัฒนาเต็มศักยภาพ  ประกอบด้วย 91 โครงการ/แผนงาน เช่น โครงการจัดทำบัตรประชาชนเด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิด โครงการส่งเสริมโภชนาการและอนามัยแม่และเด็กบนพื้นที่สูง  โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและอาหารเสริมนมสำหรับเด็กปฐมวัยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน การส่งเสริมการเจริญเติบโตโภชนาการของเด็กปฐมวัยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน  การส่งเสริมการเจริญเติบโตโภชนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็ก  คลินิกเด็กสุขภาพดี โครงการพัฒนาการดีเริ่มที่นมแม่อย่างมีส่วนร่วม  โครงการส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาสวัสดิการแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาสวัสดิการแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยบุตรผู้ใช้แรงงาน ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ มุมนมแม่ในศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง เป็นต้น
2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ไอโอดีนกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย  ประกอบด้วย 30 โครงการ/แผน เช่น โครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารอาหารไอโอดีน ปี 2556 โครงการเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีนแบบบูรณาการ โครงการบริหารจัดการและสร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายโครงการสื่อสารสาธารณสุขเพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ไอโอดีน โครงการยกระดับมาตรฐานการผลิตเกลือบริโภค ใช้มาตรการบังคับกำหนดให้การใช้เกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ต้องใช้เกลือ (โซเดียมคลอไรด์) เสริมสร้างไอโอดีนเป็นส่วนผสมในกรผลิตอาหารสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ประโยชน์ของเกลือ (โซเดียมคลอไรด์)  เสริมไอโอดีนให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ เฝ้าระวังปริมาณไอโอดีนในอาหารไก่ไข่  รณรงค์การใช้เครื่องปรุงรสที่มีส่วนประกอบของสารไอโอดีนในการประกอบอาหารให้แก่เด็ก เป็นต้น
3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย  ประกอบด้วย 73 โครงการ/แผน เช่น โครงการส่งเสริมเด็กไทยให้รักการอ่าน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันพระราชสมภพ 2 เมษายน เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ   การประชุมสัมมนาผู้ปกครองของเด็กที่รับบริการที่สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน  การฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัยในสถานรองรับเด็กเอกชน (สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานสงเคราะห์เด็ก สถานแรกรับ สถานพัฒนาและฟื้นฟู) การส่งเสริมจัดมุมความรู้สำหรับผู้ปกครองในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัยในชุมชนด้อยโอกาส เสริมทักษะชีวิตของครอบครัว ส่งเสริมสวัสดิภาพเด็กปฐมวัยในชุมชน  โครงการพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย โครงการให้ความรู้ครูปฐมวัย โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชน โครงการพัฒนาบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาในโรงเรียนอนุบาลเอกชน เป็นต้น
4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 กลไกการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัย  ประกอบด้วย 10 โครงการ/แผนงาน เช่น การประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย เด็กไทย สูง – สมส่วน สมองดี  แข็งแรง  การตรวจติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญเอกชน  โครงการวิจัยเพื่อติดตามสภาวการณ์เด็กปฐมวัยในถิ่นทุรกันดาร โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในถิ่นทุรกันดาร  โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในถิ่นทุรกันดาร โครงการพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลและเชื่อมต่อการทำงานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเชาว์ปัญญาเด็กไทย เป็นต้น

  • รับทราบผลการพิจารณาคำร้องที่ขอให้เสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย
ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สม.) เสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งความเห็นของกระทรวงกลาโหม  กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยอยู่ในกรอบของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย  
1. ศธ.ควรมีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้มีความชัดเจน  เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจ รวมทั้งควรมีการเชื่อมโยงการศึกษาทั้ง 3 ระบบ  คือ การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาตามอัธยาศัยของประเทศไทยให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต่อไป
2. สพฐ.ควรเร่งรัดในการจัดทำคู่มือการดำเนินงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ  ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจในเชิงระบบให้ตรงกันทั่วประเทศ โดยหลังจากที่ได้มีการใช้คู่มือฯ  ดังกล่าวแล้ว ควรมีการรับฟังปัญหาจากการใช้คู่มือฯ และการประเมินผลร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงคู่มือฯ ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและเป็นระบบต่อไป
3. สพฐ.ควรเร่งรัดการดำเนินการตามที่ได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาโดยครอบครัวเป็น 2 ระยะ คือ การดำเนินงานระยะยาว  และการดำเนินงานในปีงบประมาณถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประเด็นปัญหาที่ได้มีการวิเคราะห์และได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการจัดทำแผนงานการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัวไว้แล้ว
4. สพฐ. ควรเร่งประสานงานและหารือ ไปยังหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาประเด็นการเรียนวิชาทหารเรือการเรียนรักษาดินแดน (รด.) โดยเฉพาะปัญหาการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และให้สิทธิกับผู้เรียนจากการศึกษาโดยครอบครัว ผู้เรียนจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ผู้เรียนจากการศึกษาทางเลือก และผู้เรียนจากการศึกษาตามอัธยาศัย ในการสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 71 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย”  เพื่อเป็นกำลังของชาติโดยรัฐสามารถเกณฑ์กำลังพลมาใช้ป้องกันประเทศยามศึกสงคราม ทั้งนี้ การสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหารเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับการฝึกวิชาทหารและพร้อมที่จะเป็นกำลังสำรองรับใช้ชาติในยามศึกสงคราม
5. สพฐ.ควรมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัวและเป็นการส่งเสริมให้มีความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งการจัดอบรมและให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นการปรับทัศนคติในเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว
6. สพฐ.ควรหารือไปยังกรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณ งบเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวของผู้ที่ร้องที่ 2 (ตามคำร้องที่ 162/2555) เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป รวมทั้งควรมีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุนการศึกษารายหัวสำหรับผู้เรียน และเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว
7. สพฐ.ควรมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวและผู้เรียนจากการจัดการศึกษาโดยครอบครัวได้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทอำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัว ผู้เรียนจากการจัดการศึกษาโดยครอบครัว  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการมีทัศนคติที่ดีต่อกันในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต

  • แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายซูการ์โน มะทา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: