วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุบ'โรงเรียนขนาดเล็ก'สะท้อนภาพชุมชน ยังมีคำถาม...?


เอนก  กระแจ่ม - กวินทรา ใจซื่อ          "โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ทุกวันยายจะไปรับ-ไปส่ง แต่หากโรงเรียนถูกยุบอย่างที่ผู้ใหญ่เขาคุยกัน  หนูก็ไม่อยากเข้าไปเรียนในเมือง เพราะยายต้องลำบาก ไปรับส่ง สงสารยายแก่มากแล้ว"
          เสียงสะท้อนของ เพชรไพริน  เชาวพงษ์  ด้วยวัยเพียง 10 ขวบ เรียนอยู่ ชั้นประถมศึกษาปีที่  4 โรงเรียนบ้านโสกยางต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม   หลังจากทราบถึงข่าวการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก  ในวันประชุมผู้ปกครอง
          เพชรไพริน อาศัยอยู่กับ นางทองขาน   ประทิตังโข อายุ 64 ปี  ผู้เป็นยายมาตั้งแต่เกิด ขณะที่บิดาของเด็กหญิงรายนี้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนรายได้ที่จุนเจือในครอบครัวขณะนี้ มาจาก น้ำพักน้ำแรงของมารดาของ เพชรไพริน ที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งเสียมาตั้งแต่เกิด  โดยมีนางทองขาน ทำหน้าที่ดูแลหลาน
          ทุกเช้าเมื่อไปส่งที่โรงเรียนแล้ว นางทองขาน  ก็จะไปทำไร่ ทำนา ตามวิถีชีวิต  กรณีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จึงทำให้ นางทองขานรู้สึกวิตกกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
          "เป็นกังวลไปหมดทุกเรื่อง ความปลอดภัย อุบัติเหตุ ทั้งค่าใช้จ่าย ค่ากิน ค่าเดินทางของ ทั้งยายและหลาน หลานยังเด็กมาก หากต้องไปโรงเรียนที่ไกลบ้าน  ก็ต้องเดินทางไปส่งเอง  แต่ยายแก่มากแล้ว จะให้ขึ้นรถเดินทางก็คงจะไม่ไหว หลานเองก็ไม่อยากจะไปโรงเรียนในเมือง  หวังว่าจะไม่มีการยุบโรงเรียนตามที่รัฐบาลออกประกาศ  ยังคงต้องการให้มีโรงเรียนในหมู่บ้านเหมือนเดิม" นางทองขาน กล่าว
          ไม่ต่างจาก นางกนกพร  คุณสีขาว  เพื่อนบ้านหมู่บ้านเดียวกันที่แสดงความกังวลว่า หากต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็ก บุตรสาว ซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านโสกยาง ก็ต้องย้ายไปเรียน ใน อ.วาปีปทุม ไกลจากบ้านถึง  7 กิโลเมตร  ความเป็นห่วงและความวิตกกังวลถึงปัญหา ที่จะเกิดขึ้น จากประเด็นนี้ ทำให้ "กนกพร" หันมาสนใจการพัฒนาคุณภาพการเรียน การสอนในโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความทัดเทียมกับโรงเรียนในตัวเมืองหรือในจังหวัด โดยเป็นแกนนำพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการจัดการเรียนการสอนโดยชุมชน  เพื่อต่อลมหายใจให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่ก่อตั้งมากว่า 57 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีครู 5 คน  และมีนักเรียน 35 คน
          "ตลอด 4 เดือนได้ยินกระแสการยุบโรงเรียน ทำให้ผู้ปกครองสนใจและจับกลุ่ม คุยกันมากขึ้น  ทุกคนไม่ยอมรับแนวคิดในการ ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก  สิ่งที่ชาวบ้านทำได้คือ การรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย  เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาโรงเรียนในด้านวิชาการ ส่วนชุมชนจะใช้ภูมิปัญญาให้ลูกหลานได้เรียนรู้วิชาชีวิต ทั้งสอนทำอาหาร ทอเสื่อ ทอผ้า โครงการเกษตรน้อยในโรงเรียนเล็ก เข้ามาช่วยสอนลูกหลานของเรา สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง จะทำให้นำ ลูกหลานกลับมาเรียนในชุมชนเหมือนเดิม" นางกนกพร กล่าว
          หนึ่งปีแล้วที่โรงเรียนบ้านหนองอ้อน้อย ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กปิดตัวลง หลังจากมีนักเรียนอยู่เพียง 4 คน สภาพโรงเรียน อาคารเรียน  อาคารพักครู โรงอาหาร วันนี้จึงถูกทิ้งร้างทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เหลือเพียงร่องรอยโรงเรียนในความทรงจำ
          ก่อนจะถูกยุบโรงเรียน ครูได้อธิบายกับนักเรียนและผู้ปกครองถึงความจำเป็น  พร้อมจัดหาโรงเรียนใกล้บ้านให้เป็นที่เรียนใหม่  โดย ด.ช.อุเทน ดอนมะโฮง อายุ 12 ปี  เป็นนักเรียนคนสุดท้ายที่ย้ายไปเรียนต่อในชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ที่โรงเรียนบ้านกุดกว้าง ในตำบลเดียวกัน
          นางหลอด  คำอ้อ  ผู้เป็นแม่ บอกว่า  บ้านอยู่ติดกับรั้วโรงเรียนเก่า แต่พอต้องย้ายไปเรียนที่ใหม่แม้จะห่างไปเพียง 1 กิโลเมตร ทุกเช้าลูกจะขี่รถจักรยานไปโรงเรียนเอง  รู้สึกกังวลใจ  แม้ไม่ไกลแต่ก็กลัวเรื่องอันตราย ไกลหูไกลตา คิดไปต่างๆ นานา กลัวกระทั่งเรื่องการขโมยเด็ก
          " รู้สึกใจหายที่เห็นโรงเรียนในชุมชนถูกยุบ  คนขับรถผ่านไปมาก็มอง และสอบถามสาเหตุ  โรงเรียนถูกยุบก็เหมือนบ้านไม่มีคนอยู่ เหมือนบ้านร้าง  นับวันก็ทรุดโทรมไปตามเวลา"
          การนับถอยหลังรอวันเวลาโรงเรียนถูกยุบ เท่ากับยอมรับคำตัดสินการชี้ชะตาในการก้าวเดิน ซึ่งสำหรับชาวบ้านและผู้บริหารทางการศึกษากลุ่มหนึ่ง เลือกที่จะไม่ให้มีวันนั้น ด้วยการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ตั้งแต่มีกระแสข่าวว่าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กเมื่อ 14 ปีที่แล้ว
          โรงเรียนฮ่องแฮพยอมหนองม่วง อ.ปทุมรัตต์  จ.ร้อยเอ็ด เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนที่พยายามทำให้ตัวเองรอดจากการ ถูกยุบ "เสน่ห์ เสาวพันธ์" ผู้อำนวยการโรงเรียน ในฐานะผู้ประสานงานโรงเรียนขนาดเล็กภาคอีสาน บอกว่า โรงเรียนต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยได้ร่วมกับทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจุบัน รวมถึง ชาวบ้านในชุมชนจัดวันคืนสู่เหย้า "74 ปี  ฮ่องแฮพยอมหนองม่วงคืนสู่เหย้า" ได้เงินบริจาคกว่า  1 ล้านบาท ซึ่งไม่มากแต่ก็เพียงพอสำหรับนำมาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาการศึกษา
          เงินบางส่วนนำมาจัดจ้างครู จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่โดยโรงเรียน ส่วนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเรื่อง พื้นฐานชีวิต มีผู้ปกครองอาสา  ครูภูมิปัญญา สอนเรื่องหมอลำ  การทอผ้า  การย้อมสีธรรมชาติ เป็นการต่อลมหายของโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ
          "รัฐต้องมองใหม่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่ปัญหาในการพัฒนาการศึกษา   แต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากนโยบายของกระทรวงที่เน้นให้การศึกษาเป็นเรื่องของการแข่งขัน  มีโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล หรือโครงการโรงเรียนดีประจำอำเภอ เป็นการแบ่งเกรดให้กับโรงเรียน เกิดการเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนด้วยกัน   รัฐไม่มีมิติในด้านอื่นๆ ทั้งความสัมพันธ์ของชุมชน  เด็กกับโรงเรียน การหล่อหลอมที่เกิดขึ้นในชุมชน  เมื่อเด็กต้องย้ายไปเรียนที่อื่นจิตสำนึกที่มีต่อชุมชนก็จะหายไปด้วย"ผู้อำนวยการโรงเรียน แห่งนี้กล่าว
          'รู้สึกใจหายที่เห็นโรงเรียนในชุมชนถูกยุบ โรงเรียนถูกยุบก็เหมือนบ้านไม่มีคนอยู่ นับวันก็ทรุดโทรมไปตามเวลา'
          หลอด คำอ้อ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ยุบร.ร.ขนาดเล็ก เน้นบริหารไม่ใช่นร.

          นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพ(สวพ.)และอดีตคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)กล่าวในการแถลงข่าวกรณีรมว.ศึกษาธิการมีนโยบายสั่งยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 1.7 หมื่นแห่งทั่วประเทศที่อาคารศศินิเวศน์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คนควรแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่อยู่ๆประกาศยุบไปเลย หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่บนพื้นราบที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่ถึง 15 กิโลเมตร ก็วางระบบบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเน้นปัจจัยสำคัญได้แก่ ครู นักเรียน หลักสูตรและอุปกรณ์การศึกษา เช่น จัดครูมาสอนเพิ่มเติมโดยจ้างครูเกษียณในวิชาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมีรถรับส่งครูให้มาสอนที่โรงเรียน หรือหากกรณีจำเป็น เช่น โรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 10 คน มีครูไม่ครบชั้นเรียน ก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อจัดรถรับส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียนใกล้เคียงที่มีความพร้อมด้านครูมากกว่า
          "หากดำเนินการข้างต้นไปแล้วผู้ปกครองและชุมชนเห็นว่าคุณภาพการศึกษาไม่ดีขึ้น ถ้าจำเป็นจะต้องยุบโรงเรียนจริงๆเชื่อว่าผู้ปกครองชุมชนคงยอมรับได้ เมื่อทำเช่นนี้แล้วโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ ก็จะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆจนเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเด็กที่มีอยู่วัยเรียนและต้องย้ายติดตามพ่อแม่ไปในพื้นที่ต่างๆเช่น งานก่อสร้าง ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 แสนคนด้วย" นายชัยณรงค์ กล่าว
          อดีตกรรมการบริหารสมศ.กล่าวต่อไปว่า ศธ.จะต้องส่งเสริมให้โรงเรียนรัฐบาลที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดซึ่งมีประมาณ 8 พันแห่งทั่วประเทศให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลลักษณะเดียวกับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มนี้มีความพร้อมด้านครูและบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนของผู้ปกครองและชุมชนก็ควรให้ความเป็นอิสระในการบริหารเพื่อให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 แห่งจะได้มีเวลาไปดูแลโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก



ร.ร.ดังขยับรับทรงผมใหม่'เทพศิรินทร์'ยัน'เกรียน'!

          หลาย ร.ร.เดินเครื่องปฏิบัติตามร่างกฎกระทรวงเรื่องทรงผม อนุญาตให้ผู้ชายไว้รองทรง ผู้หญิงไว้ผมยาว ขณะที่อีกหลาย ร.ร.ดัง 'ยื้อ' รอร่างกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ก่อน
          ความคืบหน้ากรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนและขอให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนเป็นแนวทางเดียวกัน โดยระหว่างที่รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมนักเรียน พ.ศ.... ขอให้ถือกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2518 ออกตามความในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 เป็นหลัก กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวให้นักเรียนไว้ผมรองทรงได้ หรือไว้ผมยาวได้ตามที่กำหนด ไม่แตกต่างกับร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมนักเรียน พ.ศ.... เพียงแต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมในบางประเด็น ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏว่าสถานศึกษาบางแห่งมีความเข้าใจในเรื่องของทรงผมนักเรียนไม่เป็นไปในแนวทางเดียวนั้น
          เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นายวันชัย ทองเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กทม. เริ่มดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนแล้ว อนุญาตให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงหรือทรงสั้นเกรียนก็ได้ ส่วนนักเรียนหญิง ถ้าจะไว้ผมยาวต้องรวบให้เรียบร้อย ส่วนกรณีอนุญาตให้นักเรียนซอยทรงผมได้นั้น ทางโรงเรียนไม่ได้ห้าม แต่เน้นให้นักเรียนตัดสินใจเอง โดยคำนึงถึงความสุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมและรู้กาลเทศะเป็นสำคัญ แต่เท่าที่ดูยังไม่เห็นทรงผมที่เป็นปัญหาไม่เรียบร้อย หรือดูไม่เหมาะสมเกินไป
          นางฎาทกาญจน์ อุสตัส ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กทม. กล่าวว่า โรงเรียนเริ่มปฏิบัติตามร่างกฎกระทรวงแล้ว นักเรียนชายให้สามเสนวิทยาลัย กทม. กล่าวว่า โรงเรียนเริ่มปฏิบัติตามร่างกฎกระทรวงแล้ว นักเรียนชายให้ไว้รองทรงได้ จากเดิมที่นักเรียนชายชั้น ม.ต้น ให้ตัดทรงสั้นเกรียน ส่วนนักเรียนหญิงเดิมไม่อนุญาตให้ไว้ยาว ก็ให้ไว้ยาวได้ แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย ผูกด้วยริบบิ้นสีดำ ขาว และน้ำตาล ขอให้คำนึงถึงความสุภาพเรียบร้อย และวัฒนธรรมองค์กรเป็นสำคัญ แต่ทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนซอยผมทรงแฟชั่น เนื่องจากทางโรงเรียนตีความว่า การที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตัดคำว่า "ห้ามซอย" ออกเพราะเข้าใจว่าการซอยเป็นส่วนหนึ่งของการตัดผม แต่ไม่ได้หมายความว่าอนุญาตให้นักเรียนซอยผมทรงแฟชั่นได้
          นางเบญญาภา คงรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร กทม. กล่าวว่า กำลังรอมติ ครม.พิจารณาเห็นชอบร่างกฎกระทรวง รวมถึงรอหนังสือจาก ศธ. หลังได้รับแล้วจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาและที่ประชุมสมาคมผู้ปกครองเพื่อพิจารณา หลังได้ข้อสรุปจะจัดทำเป็นคู่มือ แต่ระหว่างนี้ได้แจ้งให้นักเรียนไว้ทรงผมให้เรียบร้อย ไม่ถึงกับสั่งให้นักเรียนชายตัดเกรียน หรือนักเรียนหญิงต้องตัดสั้นถึงติ่งหู เพียงแต่ให้ไปตัดให้เรียบร้อย ส่วนตัวมองว่า เรื่องทรงผมไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เรื่องสำคัญคือความปลอดภัยและระเบียบวินัย หากปล่อยเด็กไว้ผมยาวจนเกินความพอดี หรือทำตามแฟชั่น อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็ก ที่สำคัญค่านิยมของผู้ปกครองยังต้องการให้เด็กมีระเบียบวินัย และตัดผมให้เรียบร้อย
          นายปรเมษฐ์ โมลี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการนักเรียนได้หารือร่วมกันจนได้ข้อสรุปที่จะไว้ทรงผมเช่นเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงนำมากำหนดเป็นนโยบายของโรงเรียนเช่นเดียวกับเรื่องการแต่งกาย ก็ไม่เปลี่ยนแปลง คนภายนอกอาจมองว่าเชย แต่นั่นคือเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนในปี 2428 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถึงตอนนี้เป็นเวลา 128 ปีแล้ว
          ด้านผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนสตรีวิทยาคนหนึ่ง กล่าวว่า ทางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมสั้นและผมยาวตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2518 ออกตามความในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 ส่วนการอนุญาตให้นักเรียนซอยผมได้นั้น ยังไม่อนุญาต เพราะต้องรอให้ร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมนักเรียน พ.ศ....ประกาศใช้ก่อน
          นายวิวัฒน์ชัย เศรษฐชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้มีเพียงความชัดเจนเป็นหนังสือแจ้งให้ทราบจาก สพฐ.เท่านั้น ฉะนั้น มาตรการดูแลระเบียบวินัย นักเรียนหญิงกว่า 4,500 คน ยังคงยึดกฎระเบียบเดิม แต่ในวาระการประชุมร่วมกับบุคลากรทางการศึกษา ได้กำชับครูผู้สอนให้เน้นเดินทางสายกลาง ไม่ควรเข้มงวดมากนัก หากพบความไม่เหมาะสม ให้ชี้แจงทำความเข้าใจ เกรงจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของนักเรียน และเครือข่ายผู้ปกครองซึ่งมีส่วนหนึ่งเข้าใจตามกระแสข่าว
          "แม้พบนักเรียนหญิงไว้ผมยาวหรือแอบซอยผม เราก็รับได้ แต่เพื่อความเป็นระเบียบและไม่ขัดหูขัดตาต้องรวบผมหรือผูกโบให้เรียบร้อย" นายวิวัฒน์ชัยกล่าว
          นายวิษณุ ไชยแก้วเมร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด และเป็นสถาบันการศึกษาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยศึกษาชั้นมัธยมปลาย ปี 2524-2526 กล่าวว่า ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องทรงผมนักเรียน ส่วนใหญ่นักเรียนและผู้ปกครองเข้าใจกฎระเบียบที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2518 นักเรียนชายไว้รองทรงสั้น นักเรียนหญิงรวบผมผูกโบ แต่บางรายไว้ผมยาวและโกรกสี จะให้ครูที่ปรึกษาประจำชั้นเรียกมาพูดคุยและตักเตือน ถ้าฝ่าฝืนเชิญผู้ปกครองมาพบ แต่ไม่ลงโทษเด็กรุนแรง ทั้งนี้ ให้ครู 1 คน ดูแลนักเรียน 20 คน ทั้งเรื่องการแต่งกาย ทรงผม จริยธรรมและคุณธรรมด้วย
          ดร.วินัย ทองมั่น ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ในส่วนของโรงเรียนไม่มีกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติมจากที่กระทรวงกำหนด การให้เด็กไว้ผมยาวได้บ้าง ก็ไม่มีปัญหา ที่ผ่านมาโรงเรียนบังคับเด็กให้ไว้ผมสั้น เด็กก็ต้องการไว้ผมยาว แต่การไว้ผมยาวต้องมัดให้เรียบร้อย ยกเว้นเด็กที่ผมหยิก ฟู มัดไม่ได้ ก็อนุโลมกันไป กฎระเบียบใหม่ของกระทรวงแม้ว่าสมาคมผู้ปกครอง ครู ไม่เห็นด้วย แต่ต้องทำตามคำสั่ง หากมองรอบด้านในข้อเท็จจริง ถึงแนวการปฏิบัติของเด็กในต่างจังหวัด น่าจะให้โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง เป็นผู้กำหนดความเหมาะสมเอง จะนำเด็กต่างจังหวัดไปเปรียบเทียบกับเด็กในเมืองไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่นอากาศ จะนำเด็กต่างจังหวัดไปเปรียบเทียบกับเด็กในเมืองไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่นอากาศ ความสะอาด ความพร้อม เป็นต้น" ดร.วินัยกล่าว
          นายสุพจน์ อภิศักดิ์มนตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้ปรึกษาสมาคมผู้ปกครอง และสมาคมศิษย์เก่าแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้กฎระเบียบโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งไม่คลาดเคลื่อนไปจากกฎของกระทรวง
          "เคยได้สอบถามความเห็นของนักเรียนแล้ว พบว่าเด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชายพอใจกฎระเบียบของโรงเรียนมาก เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก็ลงตัวพอดี ก่อนหน้านี้เราเคยปล่อยให้นักเรียนไว้ผมยาวกันได้ สภาโรงเรียนในเวลานั้นเละเทะสิ้นดี เราก็ต้องหันมายึดกฎระเบียบกันใหม่ กว่าจะทำให้ลงตัวได้ใช้เวลานาน" นายสุพจน์กล่าว
          นายพงศ์ชนก ไชยนุรัตน์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช กล่าวว่า เรียนมาตั้งแต่ชั้น ม.1 การแต่งกายและทรงผมยังเป็นเหมือนเดิม เป็นทรงผมเกรียนดูเรียบร้อยดี แต่เมื่อขึ้นชั้น ม.4 ผมยาวขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง แต่ไว้ผมยาวได้ไม่นานก็คงต้องตัดอีก เนื่องจากต้องเรียน ร.ด. คิดว่าทรงผมเดิมไม่เป็นปัญหา ทุกคนยึดกฎของโรงเรียนเป็นหลัก สิ่งที่เป็นปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เรียนเก่งมากกว่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน



สพฐ.หนุนร.ร.นิติบุคคลบริหารคล่องเปิดช่องเชื่อมอ.ก.ค.ศ.เขตคัดผอ.-ปรับวิธีจัดงบฯ

          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการโครงการโรงเรียนนิติบุคคล มาตั้งแต่ปี 2555 โดยนำร่อง 58 โรงเรียน แบ่งเป็นประถม 28 โรง มัธยม 30 โรง ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 1 ปี ก็มีความคืบหน้า และมีโรงเรียนนิติบุคคล เพิ่มขึ้นโดยรุ่นที่ 2 คัดเลือกอีก 56 โรง เป็นประถม 29 โรง และมัธยม 27 โรง หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกรุ่นที่ 2 มี 4 ด้าน คือ 1.มีความนิยมและอัตราแข่งขันสูง 2.โรงเรียนมีความพร้อม ด้านบุคลากรผู้สอน อุปกรณ์การเรียนการสอน 3.เป็นโรงเรียนที่ผ่านการประเมินในระดับดีมาก และ 4.เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2556 จะมีโรงเรียนนิติบุคคลจำนวน 114 โรง ซึ่งสพฐ.จะส่งเสริมให้โรงเรียนเหล่านี้มีการบริหารที่ยืดหยุ่น คล่องตัว นำไปสู่เป้าหมายให้ได้ โดยเมื่อเป็นนิติบุคคล โรงเรียนเหล่านี้จะมีสิทธิพิเศษคือ 1.ทางวิชาการ สามารถเปิดห้องเรียนพิเศษได้มากขึ้น ซึ่งจะประเมินจากความพร้อมของครู และห้องปฏิบัติการทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยา ศาสตร์ ภาษาอังกฤษ
          2.การบริหารงานบุคคล จะมีความคล่องตัวของบุคลากร สามารถใช้เงินรายได้ของโรงเรียนจ้างครูเฉพาะด้าน และจะมีส่วนสรรหาผอ.โรงเรียนได้หรือไม่ เรื่องนี้สพฐ.ใช้แนวทางจากโรงเรียนในประเทศนิวซีแลนด์ ที่คณะกรรมการโรงเรียนเป็นผู้คัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้น สพฐ.จะหาช่องทางว่า จะเชื่อมโยงกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กับอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ได้อย่างไร ในการคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน
          3.การบริหารงบประมาณ สพฐ.เสนอให้โรงเรียนนิติบุคคลเป็นหน่วยเบิกตรง แต่มีโรงเรียนที่สมัครเป็นหน่วยเบิกตรงจำนวน 106 โรง แต่จากการประชุมแล้วต้องมีเงื่อนไขความพร้อมหลายอย่าง ทำให้มีโรงเรียนยกเลิกไป จึงเหลือประมาณ 37 โรง โดยโรงเรียนเหล่านี้จะได้รับเป็นหน่วยเบิก และจะปรับวิธีการจัดสรรงบฯ ให้เป็นก้อน ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่างบฯ ดำเนินงาน และงบฯ ค่าวัสดุจะรวมเป็นก้อนเพื่อให้โรงเรียนคล่องตัวได้อย่างไร
ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2556 

ไม่มีความคิดเห็น: