วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยกเลิกบรรจุครูผู้ช่วย ดีเอสไอดึงเป็นพยาน


 ผอ. โรงเรียนดังนำข้อสอบไปขาย ดอดรับทราบข้อหากับดีเอสไอ แล้ว ก่อนปฏิเสธ ด้านครูผู้ช่วยถูกกันเป็นพยาน ธาริตเผยเตรียมร่อนหนังสือถึง ก.ค.ศ.-อ.ก.ค.ศ.แจ้งยกเลิกบรรจุครู344 ราย ให้โอกาส เข้าให้การแลกเป็นพยานเอาผิดขบวนการโกง แนะให้ชิงลาออกก่อน
          เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีทุจริตสอบครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า นายอำพร ทวรรณกุล ผอ.โรงเรียนเสมาอุปถัมภ์ จ.นครราชสีมา และนายสุเชาว์ ยะถีโล ครูผู้ช่วยโรงเรียนกงรถราษฎร์สามัคคี จ.นครราชสีมา ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว สำหรับนายอำพร ได้แจ้งข้อหากระทำผิดตามมาตรา 188 กรณีเอาเอกสารข้อสอบไปจำหน่ายและเผยแพร่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ สพฐ. ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยนายอำพรยังให้การปฏิเสธและได้ให้ถ้อยคำเพิ่มเติมบางส่วน ทั้งนี้แม้จะแจ้งข้อกล่าวหาแล้วแต่เนื่องจากนายอำพรเป็นข้าราชการจึงให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมสำนวนส่งฟ้องอัยการต่อไป
          อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอยืนยันว่าขณะนี้มีพยานหลักฐานชัดเจนว่านายอำพรมีส่วนเกี่ยวข้องในการนำข้อสอบออกมาขาย โดยพบว่ามีรายชื่อผู้สอบได้คะแนนสูงในพื้นที่จ.นครราชสีมา จำนวนมากถึง 48 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 7-8 ราย ให้การยืนยันว่าซื้อข้อสอบมาจากนายอำพร ดังนั้น ดีเอสไอจะเรียกผู้เข้าสอบทั้ง 48 คน ที่ได้คะแนนสูงในพื้นที่นครราชสีมาเข้าให้ปากคำ ส่วนนายสุเชาว์เบื้องต้นได้กันไว้เป็นพยาน
          ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอมีหนังสือถึงคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 119 เขต เพื่อให้พิจารณาดำเนินการยกเลิกการบรรจุบุคคล จำนวน 344 ราย โดยเห็นว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการเข้าข่ายทุจริตในการสอบ โดยทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกัน และมีคะแนนสอบที่สูงผิดปกติ ทั้งนี้ดีเอสไอจะได้เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวน นอกจากนี้ จะได้มีหนังสือเรียกผู้ที่เข้าสอบ จำนวน  344 ราย มาให้การต่อไป หากให้การเป็นประโยชน์จะกันไว้เป็นพยาน เช่น ซื้อเฉลยคำตอบจากใคร พาไปชี้ที่เกิดเหตุและเชื่อมโยงถึงตัวผู้บงการได้ แนะนำให้รีบเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงออกถึงการร่วมมือกับเจ้าพนักงาน หากล่าช้าดีเอสไอไม่จำเป็นต้องกันตัวไว้เป็นพยาน และจะถูกดำเนินคดีถึงที่สุด นอกจากนี้ขอแนะนำให้รีบลาออกก่อนถูกเพิกถอนการบรรจุ เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินการทางวินัย
          "วันนี้ทั้ง 344 คน ย่อมรู้แก่ใจดีว่าไปซื้อเฉลยข้อสอบมาทุจริต จึงไม่ต้องลังเลหรือรอลุ้นใด ๆ เพราะเรื่องนี้ได้ไม่คุ้มเสีย คดีจะผ่อนคลายจากหนักเป็นเบา ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าดีเอสไอจะขออนุมัติออกหมายจับบุคคลที่อยู่ในขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วย" นายธาริต กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

'ศธ.'แก้กฎใหม่นักเรียนหญิงเฮ!เลิกห้ามซอยผม

          'ศธ.'แก้กฎกระทรวง น.ร.หญิง 'ซอยผม'ได้ พร้อมสั่งห้ามโรงเรียนออกระเบียบแย้ง หลังพบออกกฎเพิ่มห้าม น.ร.หญิงไว้ผมยาวเกิน 8 นิ้ว แถมต้องถักเปีย อย่างเดียว
          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามในร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. ... ตามที่ได้เสนอให้พิจารณา โดยนายพงศ์เทพได้ปรับแก้ถ้อยคำในหมวด 3 แบบทรงผม โดยตัดคำว่า "ห้ามนักเรียนซอยผม" ออกจากข้อ 2.นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย ห้ามนักเรียน ซอย ดัดผม ทำสีผม ไว้หนวดเครา หรือทำการอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน โดยนายพงศ์เทพให้เหตุผลว่า การที่นักเรียนชายตัดรองทรงสั้นได้ไม่เลยตีนผมด้านหลัง ก็ถือว่าเป็นการซอยเช่นกัน ดังนั้น พอตัดคำว่าซอยผมออก จะรวมไปถึงนักเรียนหญิงที่สามารถซอยผมได้ด้วย
          นางพนิตากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ให้เพิ่มคำว่า "หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดเนื่องจากความจำเป็นทางศาสนา ประเพณี หรือความจำเป็นอื่นใด ก็ให้อยู่ในอำนาจของสถานศึกษานั้นเป็นผู้พิจารณา" และให้ตัดคำว่า "โรงเรียนอาจกำหนดแบบทรงผมได้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ โดยให้รับฟังความคิดเห็น และทำประชาพิจารณ์ร่วมกับนักเรียนให้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาก่อน" ออกไป
          "หมายความว่า กฎกระทรวงฉบับนี้จะเปิดกว้างให้อิสระกับนักเรียน โดยโรงเรียนไม่มีสิทธิไปกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ เดิมกฎกระทรวงกำหนดว่าเด็กผู้หญิงไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย แต่บางโรงเรียนกำหนดเพิ่มเติมว่าการรวบให้เรียบร้อย อาจหมายถึงแต่ต้องรวบให้เรียบร้อย แต่บางโรงเรียนกำหนดเพิ่มเติมว่าการรวบให้เรียบร้อย อาจหมายถึงการถักผมเปียอย่างเดียว หรือบางโรงเรียนอาจจะกำหนดว่า ไม่ให้ผมยาวเลยตีนผมไปเกินกว่า 8 นิ้ว เป็นต้น หากตัดถ้อยคำนี้ออก เท่ากับว่าโรงเรียนจะไม่สามารถกำหนดอะไรเพิ่มเติมได้อีกเลย เพราะในร่างกฎกระทรวงไม่ได้ให้อำนาจไว้ ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปีการศึกษา 2556 นี้ การแก้ร่างกฎกระทรวงครั้งนี้ นายพงศ์เทพเป็นคนขีดฆ่าถ้อยคำ และพิจารณาข้อกฎหมายด้วยตนเอง จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" นางพนิตากล่าว
          นางพนิตากล่าวอีกว่า ขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งได้ทยอยเปิดภาคเรียนแล้ว และมีบางโรงเรียนไล่ให้นักเรียนไปตัดผมใหม่ ดังนั้น นายพงศ์เทพจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนว่าขอให้ยึดถือกฎกระทรวง พ.ศ.2518 เป็นหลัก เพราะกฎกระทรวงดังกล่าวให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงได้ และไว้ผมยาวได้ ประเด็นส่วนใหญ่ไม่ต่างกับร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพียงแต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมนิดหน่อยเท่านั้น
          นางพนิตากล่าวต่อว่า สำหรับร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติฯ ฉบับใหม่ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด 1 ความประพฤติ เป็นการกำหนดเรื่องความประพฤติของนักเรียน และนักศึกษา ดังนี้ 1.นักเรียน และนักศึกษาต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของสถานศึกษาที่ตนสังกัดอยู่ และต้องไม่ประพฤติตนดังนี้ หนีเรียน หรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน พกพาอาวุธ หรือวัตถุอันตราย ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน ให้หรือเสพสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา หรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ บังคับขืนใจเพื่อเอาทรัพย์สินบุคคลอื่น หรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหารือการกระทำใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น และโรงเรียน หรือสถานศึกษาอาจกำหนดระเบียบว่าด้วยความประพฤติของนักเรียน และนักศึกษาได้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย่งกับกฎกระทรวงนี้
          นางพนิตากล่าวว่า หมวดที่ 2 การแต่งกาย ดังนี้ การแต่งกาย นักเรียน และนักศึกษาต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับวัย และสภาพการเป็นนักเรียน และนักศึกษา นักเรียนต้องแต่งกาย หรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาต้องแต่งกาย หรือแต่งเครื่องแบบนักศึกษาตามข้อบังคับ หรือระเบียบของสถานศึกษานั้น และนักเรียน นักศึกษา ไม่ใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อเสริมสวย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็น ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน หรือสถานศึกษาพิจารณาเป็นกรณีไป
          "และหมวด 3 แบบทรงผม กำหนดให้นักเรียนต้องไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ ดังนี้ 1.นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้าง และด้านหลังยาวไม่เลยตีนผมหรือผมรองทรงก็ได้ 2.นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย ห้ามนักเรียน ดัดผม ทำสีผม ไว้หนวดเครา หรือทำการอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้ไม่ใช้บังคับกับนักเรียนในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและนักศึกษา โดยให้ไว้ทรงผมแบบสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะตามข้อบังคับ หรือระเบียบของสถานศึกษา หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไว้ทรงผมแตกต่างจากที่กำหนดไว้ เนื่องจากความจำเป็นทางศาสนา ประเพณี หรือความจำเป็นอื่นใด ก็ให้อยู่ในอำนาจของสถานศึกษาเป็นผู้พิจารณา" นางพนิตากล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ศธ.เตรียมประเด็นเร่งด่วนขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ AC

ศึกษาธิการ - ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุม
ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการดำเนินการในประเด็นเร่งด่วนที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC)ของแต่ละองค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

*  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  จะเน้นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างความรู้พื้นฐานอาเซียน  ความรู้เกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอาเซียน โดยในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจะกำหนดกิจกรรมสำคัญในการส่งเสริมและรณรงค์การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ
  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  รับผิดชอบในการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติและการเชื่อมโยงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ กับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของอาเซียน โดยขณะนี้ได้จัดทำแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ตามมติ ครม. 8 มกราคม 2556 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้เตรียมแผนงานที่จะจัดประชุมนานาชาติเพื่อหาแนวทางการพัฒนากรอบคุณวุฒิอาเซียนร่วมกับ 10 ประเทศในอาเซียน จากนั้นจะประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดแนวทางการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัดใน 4 ภูมิภาค  พร้อมทั้งจัดทำโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบดำเนินการ
    • สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)  รับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบต่างๆ การจัดกิจกรรมระหว่างประเทศ และโครงการแลกเปลี่ยนครูและเยาวชนอาเซียน โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2556 จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices)ของประเทศต่างๆ ในอาเซียนร่วมกัน
    • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  การเตรียมความพร้อมด้านแรงงานรองรับการเคลื่อนย้ายของ วิชาชีพ และ 32 ตำแหน่งงาน รวมทั้งการผลิตพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องร่วมทำงานกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
    • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  ดูแลเรื่องการผลิตและพัฒนาครู กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:HEd) และการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเป็น "เมืองการศึกษานานาชาติ" ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติแล้ว 1,017 หลักสูตร แยกเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 344 หลักสูตร ปริญญาโท 394 หลักสูตร ปริญญาเอก 249 หลักสูตร และหลักสูตรฝึกอบรม 30 หลักสูตร พร้อมทั้งจะเสนอของบประมาณปี 2557 ให้มหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยนำร่องภายใต้โครงการเมืองการศึกษานานาชาติ
    • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  ดูแลการจัดตั้งและขยายศูนย์อาเซียนศึกษา (ASEAN Study Center)  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับ สพฐ. โดยในส่วนกลางจะตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา ที่อาคาร กศน.ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย มีแท็บเล็ตให้บริการค้นคว้าข้อมูลฟรี พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารว่าง เครื่องดื่มให้บริการ
    • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)  การดูแลแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เช่น แก้ไขกฎระเบียบกับชาวต่างชาติที่เป็นครูผู้สอนในไทย การต่ออายุวีซ่าซึ่งจากเดิมให้เพียง ปี เป็น ปี เช่นเดียวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชาวต่างชาติ การขอใบอนุญาตการทำงาน การพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีทางการศึกษาทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติของผู้ถือครองที่ดิน สัดส่วนผู้ถือหุ้นสถานศึกษาเอกชนให้เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติจาก 49%เป็น 51%, พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจขอบคนต่างด้าว พ.ศ.2542, พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานของโรงเรียนเอกชนนานาชาติฯ เป็นต้น
    ทั้งนี้ ศธ.จะนำกิจกรรมต่างๆ ในการขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของทุกองค์กรหลักดังกล่าว มาจัดงาน Go to ASEAN ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ที่เมืองทองธานี โดยเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิด พร้อมกับจะมีการเปิดแคมเปญ Speak English Now! และรถยนต์อาเซียน (ASEAN Bus) ในช่วงดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมงานด้วย
    ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี


ไม่มีความคิดเห็น: