วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เผย 22 ราย จ่อฟ้องศาลปค. หลังถูกออกทุจริตครูผู้ช่วย

 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีทุจริตสอบการคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ว12 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หลังกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) มีมติให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ ทั้ง 119 เขตทั่วประเทศ เพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยทั้ง 344 ราย โดยเฉพาะในสังกัด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 1 - 7 ในจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมด 48 ราย และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ นครราชสีมา เขต 7 ปฏิบัติตามมติของ ก.ค.ศ. โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสั่งเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วย 6 ราย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เปิดโอกาสให้ผู้เสียสิทธิ์ทั้ง 6 รายมาชี้แจงภายใน 15 วันนั้น โดยครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่ามีเพียง 5 รายที่มาชี้แจงและเซ็นรับใบคำสั่งเพิกถอน ส่วนอีก 1 ราย ไม่ยอมเซ็นรับ แต่ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก อ.ก.ค.ศ. เพื่อตั้งทนายยื่นฟ้องกลับผู้เกี่ยวข้องสั่งเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน, อ.ก.ค.ศ., ก.ค.ศ., สพฐ. ไปจนถึงกระทรวงศึกษาธิการ และทราบข่าวว่าในเขต พื้นที่อื่นๆ มีผู้จะฟ้องกลับเช่นกัน
          ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา หากมั่นใจว่าตัวเองถูกต้อง ไม่ได้ทุจริต ก็เป็นสิทธิที่จะฟ้องร้องศาลปกครองได้ เป็นเรื่องธรรมดา โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา รายงานตนในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้หากศาลรับพิจารณา ก็เชื่อว่าไม่ทำให้เรื่องนี้หยุดชะงัก เพราะเป็นเรื่องรายกรณี
          ขณะที่นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กล่าวว่า กรณีของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ นครราชสีมา เขต 7 ไม่มั่นใจว่าเป็นการร้องทุกข์ หรือการฟ้องศาลปกครองเลย เพราะโดยขั้นตอน ก่อนการฟ้องศาลปกครอง ก็ต้องร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ก่อน ส่วนว่าจะมีผลให้การดำเนินการให้ผู้ที่ทุจริตสอบครูผู้ช่วยออกจากราชการหยุดชะงักหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับคำฟ้องว่าจะเป็นอย่างไร แต่โดยหลักการ การยกเลิกหรือชะลอคำสั่งให้ออกจากราชการในกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คงไม่มีผลต่อบุคคลอื่น
          "ส่วนกรณี ก.ค.ศ.มีหนังสือให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน สั่งการให้ครูที่ทุจริตออกจากราชการ  344 ราย จาก 119 เขตพื้นที่ฯ นั้น จนถึงขณะนี้มี 20 เขต รายงานมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.แล้ว โดยมีทั้งกลุ่มที่ยอมรับคำสั่งให้ออกจากราชการและกลุ่มที่ไม่ยอมรับ และได้ดำเนินการร้องทุกข์เข้ามาด้วย 22 รายจาก 20 เขตพื้นที่ฯดังกล่าว" นางรัตนากล่าว
มติชน ฉบับวันที่ 18 มิ.ย. 2556

ปรับหลักสูตรเหลือ 6 กลุ่มวิชา ปีหน้าติดเครื่องลด'ชม.เรียน'

          ศธ.เดินหน้าปรับหลักสูตรใหม่ ประถมลดชั่วโมงเรียนเหลือ 5 คาบต่อวัน มัธยม 6 คาบ นำร่อง 3 พันโรงปี'57 'ภาวิช'เผยรื้อใหม่เหลือ 6 กลุ่มวิชา'ภาษา-วิทย์-ไอซีที-สังคม-โลก-ชีวิต' ระดับ'ป.1-2'เน้นคณิต-อังกฤษ-ไทย
          เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า หลังจากที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร มีตนเป็นประธาน และคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ขณะนี้มีความคืบหน้าของการดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปมากแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงาน 6 กลุ่ม ในวันที่ 27 มิถุนายน จะประชุมหารือร่วมกันทั้งหมดเพื่อพิจารณาหลักสูตรที่แต่ละส่วนรับผิดชอบอยู่ ก่อนจะนำมาประกอบเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ ที่มีนายพงศ์เทพเป็นประธานได้พิจารณา
          นายภาวิชกล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรใหม่จะแบ่งการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ 1.กลุ่มภาษาและวรรณกรรม 2.วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี 3.เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) 4.สังคมและความเป็นมนุษย์ 5.โลก ภูมิภาคและอาเซียน และ 6.ชีวิตกับโลกของงาน อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีคณะทำงาน 6 กลุ่มแล้ว จะมีคณะทำงานกลางมาดูความเชื่อมโยงและความซ้ำซ้อนใน 6 กลุ่มของสาระวิชา หากเจอว่าซ้ำซ้อน ก็ต้องบูรณาการให้เล็กลง
          ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า ในส่วนของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จะเน้นทักษะ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือ จะนำ 6 กลุ่มสาระวิชามารวมแล้วแยกเป็น 4 วิชา ได้แก่ 1.บ้านของเรา โลกของเรา 2.ชีวิตกับการเรียนรู้ จะทำอย่างไรถึงจะสร้างความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน 3.เด็กของเรา 2.ชีวิตกับการเรียนรู้ จะทำอย่างไรถึงจะสร้างความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน 3.เด็กในวิถีประชาธิปไตย เป็นการเรียนรู้เพื่ออยู่ในสังคมแบบมีส่วนร่วม ความมีจิตสาธารณะ ศาสนา และ 4.ศิลปะและพลานามัยเพื่อชีวิต การจัดหลักสูตรดังกล่าว ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ส่วนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไปจะจัดการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มสาระวิชา แต่จะมีรายละเอียดที่แตกย่อยออกไปในแต่ละระดับชั้น เช่น ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเน้นการเรียนในทางลึกมากขึ้น จะแยกวิชาออกเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมทั้งจะมีทางเลือกให้กับนักเรียนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัย และสำหรับนักเรียนที่ไม่ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะให้ทางเลือกเพื่อเรียนต่อสายอาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในหลักสูตรเดิมนั้นจะมีทางเลือก ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อ จะไม่ได้มีการส่งเสริมหรือให้ทางเลือกอะไร
          "เนื้อหาของหลักสูตรใหม่ อาจจะไม่เปลี่ยนมาก เพราะจริงๆ แล้วเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอนได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นลำดับอยู่แล้ว เพียงแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ในปัจจุบันจะมี 8 กลุ่มสาระวิชา แต่ของใหม่จะเหลือเพียง 6 กลุ่มสาระ ตำราต่างๆ อาจจะต้องค่อยๆ ปรับปรุงไป โดยอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีนับจากมีการประกาศใช้" นาย ภาวิชกล่าว และว่า หลักสูตรใหม่จะกำหนดทักษะจำเป็น 10 ประการของเด็กเมื่อเรียนหนังสือจบ อาทิ ทักษะด้านไอซีที การงานและอาชีพ เป็นต้น ส่วนการเรียนการสอนไม่ได้ลดการเรียนรู้ แต่จะลดการเรียนในห้องเรียน เพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยจะต้องเน้นประสบการณ์เรียนรู้ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การอ่านเพื่อการเรียนรู้ ต่อไปครูต้องกระตุ้นให้เด็กอ่านมากขึ้น 2.การเรียนการสอนแบบโครงการ ทั้งด้านสังคม ศาสนา วิทยาศาสตร์ และจะนำไปสู่ทักษะที่พึงประสงค์ เช่น การค้นหาปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น วิทยาศาสตร์ และจะนำไปสู่ทักษะที่พึงประสงค์ เช่น การค้นหาปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น 3.ไอซีที 4.คุณธรรมและจิตสาธารณะ 5.ความเป็นประชาธิปไตย 6.อาชีพ
          นายภาวิชกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การปรับหลักสูตรใหม่จะทำให้ลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลง โดยระดับประถมศึกษาจะเหลือการเรียนในห้องเรียนประมาณ 600 ชั่วโมง ต่อปี และจะให้เรียนนอกห้องเรียน 400 ชั่วโมงต่อปี จะมีผลทำให้นักเรียนเรียนในห้องเรียนเพียง 5 คาบต่อวัน จากเดิมเรียนประมาณ 6-7 คาบ ส่วนมัธยมศึกษาจะให้เหลือ 6 คาบต่อวัน ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2557 จะนำร่องใช้หลักสูตรรอบแรกในโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 30 แห่ง รวมประมาณ 3,000 โรงเรียน และจะให้โรงเรียนนำร่องสร้างเครือข่ายโรงเรียนแห่งละ 10 โรงเรียน จะทำให้ขยายโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรใหม่เป็น 30,000 กว่าแห่ง
          ด้านนายพินิติ รตะนานุกูล ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มโลก ภูมิภาคและอาเซียน กล่าวว่า กลุ่มโลก ภูมิภาคและอาเซียน มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเกือบ 100% แล้ว กลุ่มนี้จะเป็นวิชาที่เชื่อมโยงเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม รวมถึงเรื่องอาเซียนเข้าไปด้วย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์จะต้องเขียนขึ้นใหม่ เพราะที่ผ่านมาประเทศใดเขียนประวัติศาสตร์ ก็จะเข้าข้างตัวเอง ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ในหลักสูตรใหม่จะเขียนประวัติที่สร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกัน ทั้งนี้ หลักสูตรในกลุ่มของตนเองจะต้องมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปตามเป้าหมาย ต่อไปเยาวชนในยุคศตวรรษที่ 21 จะต้องรู้เท่าทันในเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน อาทิ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไอที เป็นต้น โดยในการประชุมวันที่ 27 มิถุนายนนี้ แต่ละกลุ่มจะมาดูว่าแต่ละวิชาจะมีความเชื่อมโยงกันตรงจุดใดบ้าง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

โรงเรียนหนู...สู้โว้ย!

          เรื่อง : ชุติมา ซุ้นเจริญ
          Small Is Beautiful อาจไม่อยู่ในความคิดของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ แต่เด็กสตูลขอยืนยันว่าโรงเรียนเล็กๆ ของหนูก็มีคุณภาพไม่แพ้ใคร
          ใต้ผืนธงชาติไทยอันแหว่งวิ่น ป้ายผ้าเขียนข้อความ "เรารักโรงเรียน..." ลายมือของเด็กนักเรียนบ้านโกตา อ.ละงู จ.สตูล ถูกขึงขนานกับแนวรั้ว ร่วมกับความในใจอื่นๆ ..."อย่ายุบโรงเรียนของเราเลย" ... "จะให้เราไปเรียนที่ไหน"
          แม้ว่านโยบาย "ยุบ" โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ผู้ใหญ่บางคนเลี่ยงมาใช้คำว่า "ควบรวม" เพื่อลดดีกรีความร้อนแรงของกระแสต่อต้าน จะดูเหมือนหยุดการเคลื่อนไหวไปแล้ว แต่ในหลายพื้นที่การศึกษา ผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง รู้ดีว่า แนวคิดนี้ไม่เคยหายไปไหน ถ้ายังไม่ บรรลุเป้าหมายในวันนี้ สารพัดวิธีทั้งตัดลด งบประมาณ ไม่สนับสนุนบุคลากร และอุปกรณ์ การศึกษา จะถูกงัดขึ้นมาใช้เพื่อให้โรงเรียน เป้าหมายค่อยๆ เสื่อมคุณภาพ และปิดตัว ลงไป
          แต่สำหรับโรงเรียนบ้านโกตาที่เคยมี รายชื่อติดโผ 1 ใน 40 โรงเรียนของจังหวัดสตูลที่อยู่ในข่ายต้องถูกยุบรวม พวกเขา ซึ่ง หมายถึงครู นักเรียน ชุมชน จับมือกันประกาศเจตนารมย์หนักแน่นว่า "เราไม่ยอม"
          "พอได้ข่าวว่าโรงเรียนจะถูกยุบ เราก็นัดกันมาที่นี่ พวกชาวบ้านมาเต็มเลย บอกว่า ยุบไม่ได้ ก็มาช่วยกันกับเด็กๆ เขียนป้าย คัดค้านอย่างที่เห็น" เลาะ โชะติก ศิษย์เก่ารุ่นเก๋า ที่พ่วงตำแหน่งผู้ปกครองนักเรียน รุ่นปัจจุบัน บอก
          โรงเรียนบ้านโกตา เป็นโรงเรียนที่อยู่คู่กับชุมชนมาเกือบ 50 ปีแล้ว สอนตั้งแต่ รุ่นคุณปู่จนถึงหลานๆ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียนจึงแนบแน่น แต่ด้วยเหตุ ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กตามเกณฑ์ล่าสุด ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีรายชื่ออยู่ใน ข่ายที่อาจจะเหลือแต่ชื่อ
          ผอ.ปุณณาณี เจ๊ะหนุ่ม ที่เพิ่งมารับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งปี ยังไม่ทันตั้งหลักก็ เจองานใหญ่เสียแล้ว เล่าถึงแผนการยุบโรงเรียนในจังหวัดสตูลว่า ตามข้อมูลมีอยู่ประมาณ 40 โรงเรียน ส่วนของบ้านโกตามีแผนจะเริ่มจากการย้ายชั้นประถมปีที่ 5 และ 6 ไปเรียนรวมกับโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งก่อน  "เรื่องการยุบหรือควบรวมโรงเรียนมันเป็นนโยบายจากรัฐบาล ซึ่งโรงเรียนแต่ละขนาดคือ ตั้งแต่ 20-40 คน, 40-60 คน, 60-80 คน และ 80-120 คน จะค่อยๆ ยุบ โดยมีการประชุมตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะมีการทำแผนว่าโรงเรียนไหนจะยุบ ไม่ยุบ และจะยุบรวมกับโรงเรียนไหน แล้วก็หายไป มาโผล่ปีนี้ ปรากฏว่ายุบไปแล้วหนึ่งโรงเรียนสำหรับจังหวัดสตูล คือโรงเรียนปากปิง ซึ่งมีเด็กอยู่ 20 กว่าคน"
          ดังนั้นทันทีที่มีรายงานข่าวแจ้งว่าบ้านโกตา อาจเป็นรายต่อไป ชุมชนและโรงเรียนจึง ไม่ยอมนิ่งเฉย ตั้งวงปรึกษาหารือ ไม่ใช่แค่ค้าน แต่ยังแสดงความมุ่งมั่นที่พัฒนาคุณภาพของโรงเรียน หากว่านี่คือโจทย์สำคัญของอนาคตทางการศึกษาไทย "ที่นี่เป็นศูนย์กลางมันสมองของชุมชน ถามว่าที่จะยุบคุณดูคุณภาพหรือปริมาณเด็ก ถ้าพูดถึงคุณภาพ ตั้งแต่คุณครู เด็ก บุคลากร เราก็มีคุณภาพ อย่างที่ท่าน ผอ. บอก ผลการเรียน ของนักเรียนที่นี่ก็มีค่าเฉลี่ยค่อนข้างสูง และโรงเรียนยังสามารถพัฒนาไปได้อีก ถ้ามองการมีส่วนร่วมของชุมชน เราก็มีปราชญ์ชาวบ้าน มีพ่อครูแม่ครูมาสอนเด็ก มีความใกล้ชิดกัน แต่ถ้าคิดว่าเด็กมันน้อย เดี๋ยวเราจัดให้" วิรัช โอมมณี ผู้ใหญ่บ้านโกตา กล่าวเสียงเข้มการนำกระบวนการวิจัยมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน คือทางเลือกที่ทางโรงเรียนได้กำหนดแนวทางความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีประสบการณ์ในการสนับสนุนงานวิจัยเรื่องการศึกษาและการจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ในหลายพื้นที่ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึง "คุณภาพ" ที่อยู่เหนือเงื่อนไขเชิงปริมาณ หรือตัวเลขหยาบๆ ที่กำหนดขึ้นในห้องแอร์เย็นฉ่ำของกระทรวง- ศึกษาธิการ งานนี้ สมพงษ์ หลีเคราะห์ นักวิจัย ท้องถิ่น รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก
          "บ้านผมอยู่ตรงข้ามรั้วโรงเรียน แล้วผมก็เรียนโรงเรียนนี้ ผมทำวิจัยท้องถิ่นเรื่องประเด็นการศึกษาหลายโรงเรียน ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม โรงเรียนชนบทจนถึงที่เป็นอันดับหนึ่งของสตูล โรงเรียนปอเนาะ แต่โรงเรียนที่อยู่หน้าบ้านกำลังถูกยุบ ก็คิดว่ายอมไม่ได้" พร้อมกันนี้เขาเสนอให้มองย้อนกลับไปถึงสาเหตุการ ลดลงของนักเรียนในโรงเรียนของรัฐ
          "ถ้าเป็นที่จังหวัดสตูล เรื่องการตามกระแสพาลูกเข้าโรงเรียนดัง อาจมีบ้างแต่น้อย ส่วนใหญ่เป็นเพราะโรงเรียนของรัฐที่ดำเนินการ ในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน คือชุมชนเขาอยากให้ลูกได้เรียนรู้มิติทางศาสนา แล้วหลังๆ มีโรงเรียนเอกชนเปิดเพิ่มขึ้น และเป็นโรงเรียนที่เพิ่มมิติทางศาสนาเข้ามา เริ่มตั้งแต่อนุบาลเลย มันทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนตัดสินใจให้ลูกไปเรียนโรงเรียนเหล่านี้" ดังนั้นหากภาครัฐต้องการแก้ปัญหาจำนวนนักเรียนที่ลดลงในหลายๆ โรงเรียน การยุบ หรือควบรวมนอกจากจะไม่ตอบโจทย์แล้ว ยังอาจเป็นที่มาของปัญหาใหม่ๆ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านี้
          "ผมว่าอยู่โรงเรียนใกล้บ้านดีกว่า ใกล้ชิดครอบครัว ชุมชน ดูแลได้ทั่วถึง ถ้าเด็ก มีปัญหา รุ่งเช้าก็รู้แล้ว นี่คือความแตกต่าง ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่กับขนาดเล็ก"
          จิ๋วแต่แจ๋ว
          เพราะเป็นนโยบายที่สืบเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย มหากาพย์การยุบโรงเรียนจึงมีกรณีศึกษาอีกไม่น้อย หนึ่งในโรงเรียนเล็กของจังหวัดสตูลที่รอดการถูกยุบมาได้อย่างหวุดหวิดก็คือ โรงเรียนวัดหน้าเมือง โรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี 2552 จำนวนนักเรียนลดลงเหลือเพียง 60 คน เนื่องจากมีครูสอนไม่ครบชั้น ขาดสื่อที่ทันสมัย ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ จนผู้ปกครองเริ่มถอดใจทยอยพาลูกหลาน ลาออกไปเรียนที่อื่น และตกอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการถูกยุบ
          แต่ด้วยกำลังใจจากชุมชน และการก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ของ จุรีรัตน์ แคยิหวา ทำให้โรงเรียนวัดหน้าเมือง ซึ่งได้ใช้กระบวนการวิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน กลับมาสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพและได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจจากชุมชนอีกครั้ง
          สมพงค์ รัตตพันธ์ ประธานกรรมการสถานศึกษาแห่งนี้ เล่าว่า "ตอนนั้นโรงเรียนเกือบจะถูกยุบแล้ว พอดีผมกลับมาอยู่ในพื้นที่ก็เลยได้รวบรวมชาวบ้านให้ช่วยกัน ผมถามว่าที่จะยุบนี่ ยุบเพราะเหตุผลอะไร เพราะทางเขตพื้นที่เขาไม่ได้ส่งครูเข้ามา เด็กก็น้อยลงๆ ครูก็ไม่มี ถ้าเขามีครูให้เต็มชั้นก็โอเค ก็มานั่งคุยกัน แต่โชคยังดีที่ตอนหลังเขตพื้นที่เขา ส่ง ผอ.ที่มีคุณภาพเข้ามาพัฒนา และผมก็ เข้ามาเป็นกรรมการ เลยช่วยขับเคลื่อนร่วมกับชาวบ้าน นัดกันว่าเราจะเปิดการประชุมเดือนละครั้งในการแก้ปัญหาตรงนี้"
          เมื่อได้ชุมชนเป็นกองหนุน ผู้อำนวยการนักพัฒนาหญิงแกร่งแห่งวัดหน้าเมืองก็สู้เต็มที่ "ผอ.ย้ายเข้าเข้ารับตำแหน่งที่นี่ประมาณเดือนธันวาคม ปี 2552 ช่วงนั้นกำลังจะยุบ เป็นที่รู้กันว่านโยบายของเขตจะยุบรวม โรงเรียนวัดหน้าเมืองกับโรงเรียนวัดท่าจีน โรงเรียนนี้มีนักเรียนหกสิบกว่าคน และท่าจีนสามสิบกว่าคน ทางเขตก็ลงมาสำรวจเจรจา พูดคุย แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากเหตุการณ์ ครั้งนั้นชาวบ้านต่างไม่ยอม เพราะเขามี ความรักหวงแหนโรงเรียนคู่บ้านคู่เมือง เขาได้เรียนมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ก็ไม่อยากให้หายไป" แม้จะรอดพ้นจากการถูกยุบในครั้งนั้นมาได้ แต่สถานการณ์ของโรงเรียนก็ยังย่ำแย่ ผอ.จุรีรัตน์ เล่าว่า วันแรกที่มาทำงาน มีครู แค่สองคน คนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกคนเป็นครูอัตราจ้างชั่วคราว สภาพที่เห็นคือเด็ก หกสิบกว่าคนเรียนกับทีวีทางไกล
          "มาวันแรกใจเหี่ยวมากเลย เนื่องจากเคยอยู่โรงเรียนที่มีครูสามสี่สิบคน พอมาเจอสภาพโรงเรียนที่มีครูสองคน อะไรๆ ก็ไม่มี คอมพิวเตอร์ไม่มีแม้แต่เครื่องเดียว มาในสภาพขาดแคลน อะไรก็ไม่มี อาคารเรียนก็ชำรุดทรุดโทรมต้องซ่อมหมด แต่ด้วยความ มุ่งมั่นและได้กำลังใจจากชุมชน ก็ตั้งใจว่า ต้องทำตรงนี้ให้ฟื้นให้ได้ ผู้ปกครองไม่ส่งลูกมาเรียน เราบังคับเขาไม่ได้ แต่ต้องทำตัวเองให้ดี ต้องพัฒนาคุณภาพ" วิธีการหนึ่งที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียนการสอนตามหลักสูตรทั่วไป คือการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้เสนอโครงงานวิจัยของตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว รู้จักวิเคราะห์ ตั้งคำถาม เก็บข้อมูล สรุปและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับ ผลก็คือนักเรียนรู้จักทำงานเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความรู้และทักษะด้านการคิดมากขึ้น
          "ตอนแรกก็ย้ายลูกออกไปเพราะตอนนั้นครูก็ไม่มี อุปกรณ์อะไรก็ไม่มี แต่พอ ผอ. คนนี้ ย้ายมา เรามีความมั่นใจก็เลยพาลูกกลับมาเรียน แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงมาก ลูกเขารู้จักคิดรู้จักพูดมากขึ้น" ลดามาศ สังข์แก้วผู้ปกครองนักเรียน ยืนยัน
          กระบวนการดังกล่าว นอกจากจะเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ยังทำให้โรงเรียนกับชุมชนมีความสนิทสนมกันมากขึ้น เพราะด้วยกระบวนการวิจัย เด็กๆ จะต้องกลับไปหาข้อมูลความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน แล้วมาวิเคราะห์ต่อยอดตามโจทย์วิจัยของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจที่จะส่งลูกมาเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันโรงเรียนวัดหน้าเมืองมีเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 108 คน และแม้จะไม่ถึง 120 คน ตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาฯ แต่ถ้าถามถึงคุณภาพของนักเรียน บอกได้เลยว่า "ไม่เป็นรองใคร"
          "ค่อนข้างมั่นใจว่าปีหน้าเด็กจะเพิ่มขึ้น ครูห้าคน พอเด็กเพิ่มเป็นร้อยกว่า เท่าที่สอบถามทางเขตพื้นที่น่าจะได้เพิ่มอัตรามาอีกหนึ่งคน บางทีก็แอบน้อยใจลึกๆ ว่าอยู่ใกล้ๆ เขตพื้นที่ตรงนี้ แต่เชื่อไหมเราไม่เคยได้รับสนับสนุนเลย โชคดีที่ผู้ปกครองค่อนข้างมั่นใจว่าโรงเรียนเล็กถึงจะไม่พร้อมเต็มร้อย แต่เราก็ตั้งใจเต็มที่"
          ในมุมมองของ สมพงค์ รัตตพันธ์ เรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐน่าจะเป็นต้นทางที่สำคัญมากกว่าการวัดตัวเลขนักเรียนตรงปลายทาง เพราะหากมีการสนับสนุนอย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งครู ชุมชน และตัวนักเรียนเอง ต่างก็พร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
          "ครูไม่พอก็เอาครูมาให้เขา เป็นการ แก้ปัญหา ไม่ใช่มาต่อรองกันว่าให้เด็กนักเรียนเยอะก่อนถึงจะเอาครูมา มันไม่ถูก อย่างน้อยๆ มีห้องเรียนอยู่หกห้องต้องมีครูหกคนก่อน ตั้งไว้ก่อน ที่เหลือจากนั้นค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง พ่อแม่เด็กถ้าเห็นโรงเรียนพร้อมเขาก็พร้อม แล้วผมสังเกตดูเด็กนักเรียนที่นี่จะสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้หมด"
          "คือผมอยากจะถามกลับไปว่าจะยุบด้วยเหตุผลใด ยุบเพราะรัฐไม่ได้ส่งงบมาให้โรงเรียนหรือว่าจ้างครูเงินเดือนสูง ผมถามว่าจ้างครู กับซื้อรถตู้ รถตู้ซื้อมาต้องซ่อม ต้องจ้างคนขับอะไรต่อมิอะไร เราจ้างครูไม่ดีกว่าหรือ เหมือนกับที่ไปตั้งงบเกี่ยวกับการต้านยาเสพติดเนี่ย ไม่รู้กี่พันล้าน ถ้าเอางบตรงนี้มาพัฒนาเด็กพัฒนาโรงเรียนให้เด็กดีตั้งแต่ต้น รับรองได้ตรงนั้นเราไม่ต้องใช้"
          เช่นเดียวกับผู้ปกครองอย่าง ลดามาศ ที่ขอฝากความเห็นไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง- ศึกษาฯ ว่า "อยากจะถามว่าเอาส่วนไหนคิด ที่จะยุบโรงเรียนเล็กๆ คุณไม่คิดถึงคนที่ไม่มีเงินไม่มีอะไรจะเอาลูกไปเรียนในเมืองเหรอ คุณไม่สงสารเขาบ้างเหรอ คุณจะยุบโรงเรียนที่เขาสร้างมามันหมายความว่าอะไร ทำไมคุณไม่เอาส่วนที่จะไปซื้อรถตู้มาพัฒนาโรงเรียน จ้างครูมาเพิ่มดีกว่ามั้ย กับที่คุณเอาเด็กขึ้นรถแล้วไปเสี่ยงอันตราย คุณคิดได้ยังไง"
          ท้ายที่สุดแม้สองโรงเรียนเล็กในจังหวัดสตูลจะประกาศกร้าวว่า "เราไม่ยอมถูกยุบ อย่างแน่นอน" แต่นั่นก็เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ในจำนวนโรงเรียนอีกนับพันแห่งที่อยู่ในแผนการระดับชาติ ซึ่งการถอยหนึ่งก้าว ณ วันนี้ ไม่ใช่เพื่อทบทวน แต่เพื่อ รอวันรุกคืบในจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดย ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบชัดเจน ได้ว่า ประโยชน์สูงสุดของการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น...เพื่ออะไร และเพื่อใคร
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: