วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รมว.ศธ.หารือกับสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ ดร.บรรจง พงศ์ศาสตร์ นายกสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และคณะ เพื่อรับฟังข้อเสนอและข้อคิดเห็นที่จำเป็นเร่งด่วนในการบริหารสถานศึกษา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุม MOC ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษา สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหาร โดยกำหนดให้มีโรงเรียนคุณภาพพิเศษ และรวบรวมอำนาจการโยกย้ายมาอยู่ที่ส่วนกลาง โดยให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ดำเนินการกลั่นกรอง ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการต่อไปไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนคุณภาพพิเศษและโรงเรียนทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเกิดปัญหาตามมามากมาย
- การขาดแคลนอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานต่อเนื่อง ประชากรวัยเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ขาดแคลนอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดอัตรากำลัง รวมทั้งการเกษียณอายุราชการ และโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ทำให้ไม่สามารถทดแทนครูได้ครบตามจำนวนที่ขาด และเกิดความล่าช้า
- ระบบดูแลรักษาพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมขวัญกำลังใจ มีครูจำนวนมากที่เกิดความท้อแท้หมดกำลังใจเพราะการเสนอผลงานไม่ผ่านการประเมิน ถ้าครูมุ่งแต่นำเสนอผลงานก็จะทำให้ละเลยการอบรมบ่มนิสัยเด็ก กระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนส่งเสริมให้ครูทำงานอย่างมีความสุข มีความมั่นคง มีความมั่นใจ แทนที่ครูจะใช้เวลาไปกับการทำผลงาน จะได้มีเวลาคิดเรื่องสื่อการสอนต่างๆ การจัดกิจกรรมเรียนรู้อยู่กับเด็กๆอย่างจริงจัง
- การจัดการศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือการจัดการศึกษาเข้าสู่มาตรฐานสากล ทางสมาคมฯ มีความเห็นว่ารัฐควรเร่งรัดและมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร การเตรียมอัตรากำลังคน การจัดสรรงบประมาณ การบริหารจัดการ และอื่นๆ ควรวางระบบให้เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
นอกจากนี้ได้ขอให้ ศธ.พัฒนาบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย ให้มีหน้าที่กำกับ ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารการศึกษาของโรงเรียน และให้กรรมการสถานศึกษาทุกคนได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบของกระทรวงการคลังในการประชุมตามกำหนดปีละ 3 ครั้ง รวมถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามที่กฎหมายกำหนด
รมว.ศธ. กล่าวว่า เรื่องของบุคลากร เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อน ฉะนั้นในระบบโรงเรียนหลายแห่งต้องมาพิจารณาว่าจะจัดระบบอย่างไรซึ่งจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา เชื่อว่าทุกกลไกมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จึงต้องพิจารณาถึงกลไกที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างลงตัว
สำหรับการกระจายอำนาจ เป็นเรื่องที่ ศธ.สนับสนุน และเมื่อกระจายอำนาจไปแล้ว กลไกแห่งใดมีปัญหาก็จะต้องมีวิธีการเข้าไปแก้ไขได้ เช่น กรณีการจัดสรรงบประมาณลงไปยังสถานศึกษา แต่เงินไม่ถึงเด็ก ซึ่งอาจเกิดปัญหาจากการกักเงินไว้เพื่อนำงบประมาณไปจัดทริปหรือท่องเที่ยว ทำให้เงินที่ควรจะถึงมือเด็ก ถูกนำไปใช้ในอีกทางหนึ่ง หรือกรณีปัญหาสถานศึกษาบางแห่งขอใช้บัญชีส่วนราชการอื่นมาบรรจุแต่งตั้งแทนการดึงคนมาบรรจุตามตำแหน่ง ทำให้คนที่ได้รับประโยชน์ เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีส่วนในการควบคุมกลไก ดังนั้นหากทุกระบบมีคนเข้าไปแทรกแซง ก็สามารถพลิกแพลงหาวิธีการอื่นได้ทั้งสิ้น แม้แต่การจัดสอบก็มีการทุจริตการสอบเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในวงการครูเท่านั้น ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีเช่นกัน ดังนั้นการกระจายอำนาจต้องมีกลไกในการตรวจสอบ พร้อมทั้งมีกลไกกลางที่สามารถเข้าไปควบคุมได้ทันที ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับส่วนใด ซึ่งยอมรับว่าปัญหาการกระจายอำนาจไม่ได้มีทุกเขตพื้นที่การศึกษา แต่มีเพียงบางเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้นที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามามาก ซึ่ง ศธ.ได้มีการตรวจสอบให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส
นอกจากนี้ ในเรื่องการย้าย แต่งตั้ง เลื่อนขั้นของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  หาก ศธ.สามารถจัดระบบต่างๆ ได้ดี มีการพิจารณาเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามลำดับ ก็สามารถแก้ไขปัญหาการร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือทุรกันดาร เมื่ออยู่ครบ 1 ปี ก็สามารถย้ายได้ แต่หากอยู่ในพื้นที่ไม่ห่างไกลก็ควรอยู่ให้ครบ 2 ปีก่อนจึงจะย้ายได้ ซึ่งในความเป็นจริงครูก็ไม่ได้ย้ายทุก 2 ปี ครูบางคนก็อยู่จนเกษียณ แต่ข้าราชการอื่นๆ อาจจะต้องมีการย้ายอยู่ตลอด แต่มีข้อยกเว้นว่าในบางโรงเรียนที่ขาดครู ก็ต้องให้ครูที่ตรงกับสาขาที่โรงเรียนต้องการไปก่อน
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ขอให้สมาคมฯ ได้ร่วมพิจารณาถึงระบบการดูแลขวัญกำลังใจครู โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่ทุกคนมักตั้งคำถามว่า เหตุใดรายนั้นได้ย้าย-รายนี้ไม่ได้ย้าย หากเราจัดระบบในส่วนนี้ได้ดี มีความยุติธรรม ก็จะสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

"สพฐ."หนุนสร้างคุณธรรมในสถานศึกษาฟื้นฟูจิตวิญญาณครู สู่โรงเรียนสุจริต

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา "ป้องกันการทุจริต" (ฟื้นฟูจิตวิญญาณครู สู่โรงเรียนสุจริต) เพื่อร่วมเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนในสถานศึกษาได้มีคุณธรรม จริยธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม
          ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา "ป้องกันการทุจริต" (ฟื้นฟูจิตวิญญาณครู สู่โรงเรียนสุจริต) ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมภูเขางามรีสอร์ท จ.นครนายก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูและนักเรียนได้รู้และเข้าใจถึงคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนซึมซับคุณค่าแห่งความดีสร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างเป็นวิถีชีวิต โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ๑.การประชุมเชิงปฏิบัติการกระตุ้นการสร้างเจตคติฟื้นฟูชีวิตทางจิต ๒.การแบ่งกลุ่มปฏิบัติการระดมความคิดยกระดับจรรยาบรรณวิชาชีพครู ๓.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้"โครงการโรงเรียนสุจริต"โดยแบ่งกลุ่มตามภูมิภาค ๔.ปฏิญญาโครงการโรงเรียนสุจริตสู่การขับเคลื่อนนโยบายสู่ห้องเรียนสุจริต ๕.แนวทางการทำงานวิจัยโครงการฟื้นฟูจิตวิญญาณครูสู่โรงเรียนสุจริต และ ๖.ระดมความคิดสร้างแนวทางร่วมกันระดับภาคในการพัฒนาโรงเรียนสุจริต และการนำเสนอนิทรรศการโรงเรียนสุจริต (Symposium)
          สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้แทนของโรงเรียนสุจริต จาก 225 เขตพื้นที่การศึกษาประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ตัวแทนครู 1 คน รวมทั้งสิ้น 450 คน ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีกิจกรรมหลากหลายและเน้นให้ผู้เข้าประชุมได้ปฏิบัติกิจกรรมจริงสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในห้องเรียนได้อย่างมีคุณภาพ สู่การเป็นโรงเรียนสุจริตซึ่งเป็นโครงการที่ สพฐ.ได้ทำการเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อสร้างแนวทางร่วมกันในการนำปฏิญญาโครงการโรงเรียนสุจริตขับเคลื่อนเป็นนโยบายสู่ห้องเรียนสุจริต และนำความรู้พร้อมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับไปพัฒนาโรงเรียนสุจริตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

'สพฐ.'ชู 3 จุดเน้น ปีงบ'57 เพิ่มคุณภาพ'ครู-นักเรียน'

          เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้จัดทำแผนประกอบการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งจะชี้แจงสัปดาห์หน้าต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2557 โดยนอกจากจะชี้แจงเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และพันธกิจต่างๆ ของ สพฐ.แล้ว ยังจะนำเสนอจุดเน้นการดำเนินงานในปี 2557 เพื่อให้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบด้วย 1.เน้นคุณภาพผู้เรียน ได้แก่ การพัฒนานักเรียนให้มีสมรรถนะและความสามารถทางวิชาการ และมุ่งเน้นนักเรียนกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษให้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ทั้งกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มพิการ และกลุ่มความสามารถพิเศษ
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า 2.เน้นคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ครูพัฒนาการสอน และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาระบบแรงจูงใจเพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจ และ 3.เน้นการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกแห่งจะต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามระดับมาตรฐานด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามประเมินผลการนำรูปแบบ English Bilingual Education เข้าไปสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก และกลาง โดยได้ดำเนินการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขตละ 2 โรงเรียน รวม 366 แห่ง และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 53 แห่ง รวมเป็น 434 แห่ง ซึ่งพบว่าแม้โรงเรียนขนาดเล็ก จะขาดแคลนหลายเรื่อง แต่เมื่อได้จัดสภาพแวดล้อมให้นักเรียนฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีความกล้า และมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านภาษาอังกฤษสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ สพฐ.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

คอลัมน์: รายงานพิเศษ: โรงเรียน(ไม่) ซ่อนอ้วนปลูกฝัง 3 อ. ช่วยเด็กลดพุง

          ความจริงของเด็กไทยในวันนี้ คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้กินอาหารเช้า แถมอาหารเช้ายังไม่มีคุณภาพ ไม่ครบ 5 หมู่ พอถึงเวลาอาหารกลางวัน อาหารก็มีคุณภาพต่ำอีก เพราะงบประมาณไม่พอเพียง ส่วนอาหารว่างก็ไร้คุณค่า ทั้งหวาน มัน เค็ม ที่สำคัญยังกินผักและผลไม้น้อยมาก เชื่อว่าอีกไม่เกิน 10 ปี เด็กไทย 1 ใน 5 จะเป็น "โรคอ้วน"สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมดำเนินงานด้านการจัดการเด็กอ้วนในโรงเรียน โดยในงาน "เวทีสานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศ ไทยให้น่าอยู่" สสส.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันทบทวนบทเรียน "ทราบแล้วเปลี่ยน...โรงเรียน(ไม่)ซ่อนอ้วน" โดย นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สสส. ไขความจริงว่า ปัจจุบันร.ร.ส่วนใหญ่จัดเมนูอาหารพลังงานสูง โดย 1 ใน 3 กินอาหารที่มีแป้ง ไขมัน โซเดียมในปริมาณสูงเป็นประจำ ทั้งนี้ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ร.ร.ที่มีการจัดผลไม้ให้กับเด็กใน 1 สัปดาห์ มีเด็กอ้วนน้อยกว่าร.ร.ที่ไม่จัดผลไม้ร้อยละ 30 ขณะที่ร.ร.ที่รับการสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มและขนมมีเด็กอ้วนเป็น 1.5 เท่าของร.ร.ที่ไม่มี
          "ร.ร.ไม่ควรมีนโยบายรับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำอัดลมเพื่อได้เต็นท์ น้ำดื่ม จัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะได้ตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่เป็นสัญญาที่ผูกมัดนาน นับ 10 ปี แต่แลกกับการทำลายสุขภาพเด็กโดยไม่รู้ตัว ขณะนี้พยายามเข้าไปแก้ปัญหา แต่ก็พบว่ามีหลายร.ร.ที่ติดสัญญาแบบนี้อยู่ ร.ร.ที่จัดกิจกรรมทางกายให้นักเรียนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะพบเด็กอ้วนน้อยกว่าร.ร.ที่ไม่ได้จัดถึง ร้อยละ 20 ฉะนั้น เมื่อทราบทั้งหมดนี้แล้วต้องเปลี่ยน!" นายสง่าย้ำนายสง่าบอกว่า สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ อย่านิ่งเฉย ปล่อยให้ลูกหลานอ้วน โดยเด็กเล็กที่อ้วนจะเสี่ยงเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 25-30 เด็กโตและวัยรุ่นที่อ้วน จะเสี่ยงเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 80 มาช่วยกันปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย และโภชนาการที่สมวัย โดยยึดหลัก 3 อ. ได้แก่ อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าลดได้จริง
          อารมณ์คือ การสร้างแรงจูงใจ ในการลดความอ้วน เช่น เพื่อสุขภาพ เพื่อคนที่เรารัก หรือจะเพื่อความสวยงาม อาหาร ให้ใช้วิธี 2 ให้ 3 ไม่ คือ 1.ให้กิน 3 มื้อ ครบ 5 หมู่ 2.ให้กินผัก ผลไม้ 3.ไม่กินข้าวหรือแป้งมากจนเกินไป 4.ไม่กินจุบจิบ 5.ไม่กินหวานหรือมันมากจนเกินไป และออกกำลังกาย อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง แต่หากความอ้วนมาเยือนแล้ว ควรออกกำลังกาย 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5-6 ครั้ง ได้ออกกำลังกายทุกวันยิ่งดีมีประโยชน์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น: