วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

'เสริมศักดิ์'ส่ง 47 ชื่อ ส่อโกงสอบ'ครูผู้ช่วย' ให้'ดีเอสไอ-ก.ค.ศ.'

 'เสริมศักดิ์'พร้อมจัดส่ง 47 รายชื่อส่อทุจริตครูผู้ช่วย ให้ดีเอสไอ-ก.ค.ศ. ลุยสั่งการให้ออกจากราชการเพิ่ม ประธาน อ.ก.ค.ศ.บุรีรัมย์ เขต 1 พร้อมอ้าแขนรับผู้ทุจริตสอบแต่ชิงลาออกก่อน
          เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีที่นายชอบ ลีชอ อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการหนังสือพิมพ์มติชนรายวันวิเคราะห์ข้อมูลการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 เมื่อเดือนมกราคม 2556 ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์คะแนนกลุ่มที่สอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมา ที่ได้คะแนนรวม 80-90% จำนวน 104 ราย ที่ทำข้อสอบในข้อ 34 ผิด โดยเลือกคำตอบข้อ ก เช่นเดียวกับกลุ่ม 344 คน พบว่ามีกลุ่มน่าสงสัยปานกลาง 30 กว่าคน และกลุ่มที่ระดับความน่าสงสัยเหมือนกับ 344 ราย จำนวน 47 คน ที่ค่อนข้างชัดเจนในการทุจริตว่า ได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้ว และกำลังดูข้อมูลว่าจะมีประโยชน์ในด้านคดีอย่างไรบ้าง โดยจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องไหนบ้าง ในส่วนของ 47 รายที่วิเคราะห์แล้วค่อนข้างชัดเจนว่าทุจริต จะต้องใช้กระบวนการเดียวกับ 344 ราย คือส่งข้อมูลให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และดีเอสไอ เพื่อแจ้งไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน 344 ราย
          นายเสริมศักดิ์กล่าวต่อว่า กรณีครูผู้ช่วยในกลุ่ม 344 ราย ได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว แต่ได้ชิงลาออกก่อนที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะมีมติสั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการให้ออก และมีบางหน่วยงานของ ศธ.จะรับคนกลุ่มนี้เข้าไปทำงานต่อนั้น ได้มอบให้ ก.ค.ศ.ไปศึกษาในข้อกฎหมายว่าการลาออกก่อนจะมีการดำเนินการสอบวินัยและคดีอาญา จะมีผลในเรื่องของการเสื่อมเสีย การทุจริต ด่างพร้อยในการรับราชการหรือไม่ จะได้แจ้งให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานของ ศธ.ได้รับทราบเป็นแนวปฏิบัติกันต่อไป
          "ส่วนการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ประจำปี 2556 ที่จะสอบระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายนนี้ นอกจากผมได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ประสานไปยังสถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง ส่งสายสืบหาข่าวว่ามีกระบวนการทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วยในพื้นที่ใดหรือไม่ รวมทั้งการขอสนับสนุนเครื่องตรวจวัสดุต้องห้ามในการสอบ พร้อมทั้งการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในสนามสอบแล้ว ยังได้ประสานเพื่อขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เปิดสอบ แจ้งไปยังปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยกันสอดส่องด้วยว่ามีข่าวการทุจริตหรือไม่ รวมถึงได้ให้นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. มอบผู้ตรวจราชการออกตรวจเยี่ยมเขตพื้นที่ฯ 79 เขต ที่เปิดสอบคราวนี้ด้วย" นายเสริมศักดิ์กล่าว
          นายพิสิษฐ์ ชดกิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 3 กล่าวถึงความคืบหน้าจัดสอบบรรจุครูผู้ช่วยทั่วไป ในวันที่ 22-24 มิถุนายน ว่า สพป.นครราชสีมา เขต 3 ได้เตรียมสนามสอบไว้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต, โรงเรียนปักธงชัยชุณหวัณวิทยาคาร และโรงเรียนบ้านเมืองปักสามัคคี มีผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 2,745 คน ใน 7 สาขาวิชาเอก ได้เตรียมมาตรการป้องกันการทุจริตสอบอย่างเข้มงวด ตั้งแต่เดินเข้ามาในสนามสอบ การตรวจเอกสาร การเฝ้าจับตาดูพฤติกรรม แปลกๆ รวมทั้งประสานรถดักจับสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มั่นใจว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นซ้ำอีกแน่นอน
          นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 กล่าวว่า กรณีที่ดีเอสไอส่งรายชื่อผู้ที่เข้าข่ายทุจริต 344 คน มาให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายนั้น ในส่วนของ สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ได้รับข้อมูลจากดีเอสไอว่ามีผู้ที่ทำคะแนนสูงผิดปกติ 4 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่ตอบข้อ 34 ผิด จำนวน 3 ราย แต่มีผู้ที่สอบบรรจุได้แค่ 2 รายเท่านั้น ดังนั้น จะนำทั้ง 2 ราย ที่ได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ บุรีรัมย์ เขต 1 เพื่อพิจารณาสัปดาห์หน้า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครชิงลาออก อย่างไรก็ตาม หากชิงลาออกก็มีสิทธิไปบรรจุเข้ารับราชการที่สังกัดอื่น
          ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ถือว่าคนเหล่านี้มีความด่างพร้อยทางศีลธรรมจริยธรรม สามารถรับราชการได้อีกหรือ นายประเสริฐกล่าวว่า แม้จะมีปัญหาด่างพร้อยทางศีลธรรมจริยธรรมก็จริง แต่เนื่องจากยังไม่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยใดๆ เพราะชิงลาออกก่อน จึงไม่มีประวัติ ดังนั้น จึงสามารถไปบรรจุรับราชการที่สังกัดอื่นได้
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีครูผู้ช่วยที่ส่อทุจริต และชิงลาออกมาสมัครเป็นครูที่ กศน.ทาง กศน.จะรับเข้าทำงานหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า รับสมัครได้ตามปกติ เพราะถือว่าไม่มีประวัติถูกสอบทางวินัย
          นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวถึงความคืบหน้าในการดูแลการจัดสอบครูผู้ช่วยทั่วไป จัดสอบระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน ว่า ก.ค.ศ.จะจัดส่งคณะทำงานจำนวน 80 คน ลงไปดูแลติดตามเกี่ยวกับการสอบครูผู้ช่วยทุกประเด็น ไม่ใช่เฉพาะประเด็นการทุจริตสอบเท่านั้น จะมีเครื่องมือให้ผู้แทนทั้ง 80 คน สำหรับจัดเก็บข้อมูล แต่ละคนจะลงไปดูแลคนละเขตพื้นที่ฯ หรือส่วนราชการที่จัดสอบ ซึ่งมีทั้งหมด 80 แห่ง จำแนกเป็น 78 เขตพื้นที่ฯ และ 2 ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) และวิทยาลัยชุมชน (วชช.) โดยคณะทำงานจะเริ่มเดินทางล่วงหน้าลงไปสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน และกลับขึ้นมาในวันที่ 25 มิถุนายน ก่อนจะรายงานผลต่อ ก.ค.ศ.
          นางรัตนากล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการสั่งให้ผู้เข้าข่ายทุจริตสอบครูผู้ช่วย ว12 ออกจากราชการตามหนังสือของดีเอสไอ และมติ ก.ค.ศ.จำนวน 344 ราย จาก 119 เขตพื้นที่ฯ นั้น จนถึงขณะนี้มีเขตพื้นที่ฯรายงานมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.น้อยมาก มีเพียงแค่ 5 เขต เท่านั้น โดยมีกรณีที่ลาออกก่อนที่หนังสือของสำนักงาน ก.ค.ศ.ไปถึงเขตพื้นที่ฯ 2 ราย จาก 2 เขตพื้นที่ฯ ตนได้ข่าวว่าเป็นการลาออกเพื่อไปบรรจุรับราชการในบัญชีสอบแข่งขัน เป็นคนละบัญชีกับบัญชีสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ว12 โดยสำนักงาน ก.ค.ศ.จะต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ หากจริงต้องไปดูว่าผู้ลาออก 2 รายดังกล่าวทุจริตการสอบครูผู้ช่วย ว12 ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าทุจริต โดยหลักการต้องถือว่าขาดคุณสมบัติ และต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการต่อไป
          "นอกจากนี้ มี 2 เขตพื้นที่ฯที่รายงานเข้ามาว่าได้สั่งการให้ผู้ที่มีรายชื่อตามหนังสือดีเอสไอ และ ก.ค.ศ.ออกจากราชการ และอีก 1 เขตพื้นที่ฯ รายงานว่าอยู่ในขั้นตอนเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการให้ครูที่เข้าข่ายทุจริตออกจากราชการ ทั้งนี้ หลังจากที่เขตพื้นที่ฯรายงานข้อมูลเข้ามามากแล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ.ถึงจะรวบรวมนำเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป" นางรัตนากล่าว
          ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 เปิดเผยกรณีดีเอสไอเรียกตัวผู้ที่สอบบรรจุครูผู้ช่วยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 51 ราย มาสอบปากคำระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ทราบว่ามีการนำข้อสอบชุดเดียวกันกับที่สอบในวันที่ 13 มกราคม 2556 สุ่มมาให้พยานทั้งหมดทดลองทำ 20 ข้อ แต่ละคนทำข้อสอบได้เพียง 8-9 ข้อเท่านั้น แม้ไม่สามารถวัดผลการทุจริตสอบได้ 100% ผู้ให้ปากคำอาจอ้างว่าอาจจะลืมไปแล้ว แต่เห็นว่าระยะเวลาในการเตรียมตัวสอบมานานหลายเดือน หากเป็นข้อสอบที่เคยผ่านตาเพียงไม่กี่เดือน ก็ไม่ควรทำข้อสอบเดิมได้คะแนนน้อยกว่าครึ่ง ต้องถามไปที่ดีเอสไอด้วยว่าข้อสอบที่นำมาให้ทำใหม่นั้น เป็นข้อสอบประเภทใด เช่น ประเภทใช้ความจำ ประเภทคิดวิเคราะห์ หรือประเภทวัดกระบวนการ หากเป็นประเภทความจำก็อาจลืมเลือนไปตามกาลเวลา แต่หากเป็นประเภทคิดวิเคราะห์ ต่อให้ทำใหม่กี่รอบก็จะสามารถคิดวิเคราะห์ได้เหมือนเดิมทุกครั้ง
          "เรื่องนี้จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจับผิดคนโกงสอบได้ ต่อจากนี้ไป เชื่อว่าทางดีเอสไอจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากจากพยานที่ให้ความร่วมมือ จะสาวไปถึงตัวการใหญ่ได้หรือไม่นั้นไม่ค่อยมั่นใจนัก เพราะได้ข่าวว่าจะมีการตัดตอนให้คนผิดมาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ที่พิมพ์ และผลิตข้อสอบ แล้วส่งมาให้ผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้กระจายเฉลยข้อสอบออกไป ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการพิมพ์หรือผลิตข้อสอบ ไม่ได้อยู่ที่ จ.นครราชสีมา มั่นใจได้ว่าข้อสอบต้องหลุดมาจากผู้ใหญ่ระดับกระทรวงแน่นอน" ผศ.ดร.อดิศรกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


คอลัมน์: สถานีกคศ. : การมอบหมายผู้แทน ก.ค.ศ. กำกับดูแล การดำเนินการสอบแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2556

          ตามที่ ก.ค.ศ.มีมติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย และกำหนดให้ดำเนินการสอบแข่งขัน ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2556 ในวันที่ 22-24 มิถุนายน 2556 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา) ประธาน ก.ค.ศ. ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง มอบหมายอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. และอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคล ปฏิบัติราชการ ประกาศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556
          สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดประชุมผู้แทน ก.ค.ศ. ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้งในส่วนราชการ ที่ดำเนินการสอบแข่งขันดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินการสอบ โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ ดำเนินการให้การสอบแข่งขันเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดถือระบบคุณธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มาสู่วิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง เหมือนในอดีตที่สังคมไทยให้ความเคารพและนับถือครูมาโดยตลอด ที่สำคัญอย่างยิ่งสังคมมุ่งหวังที่จะให้การสอบครั้งนี้บริสุทธิ์ ยุติธรรม
          จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน ก.ค.ศ. ได้เป็นวิทยากรมอบแนวทางการกำกับ ติดตาม ดูแล การดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอรายงานต่อ ก.ค.ศ. ซึ่งครั้งนี้หน่วยสอบใดที่จัดสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างที่ดี จะใช้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานในการเป็นต้นแบบการดำเนินการสอบสำหรับหน่วยสอบที่จะสอบในอนาคตซึ่งเข้าลักษณะการจัดการความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการสอบ
          ช่วงท้าย เลขาธิการ ก.ค.ศ. (ดร.รัตนา ศรีเหรัญ) ได้อธิบายหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน พร้อมร่วมตอบคำถามในประเด็นต่างๆ และสำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้มีหนังสือส่งผู้แทน ก.ค.ศ.ไปดูแลการสอบ ในระหว่างดำเนินการสอบ ณ หน่วยสอบต่อไป
          ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะให้การสอบแข่งขันเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว เพื่อได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม ให้กับเยาวชนไทย ต่อไป

          ศรีชัย พรประชาธรรม
            ผู้อำนวยการภารกิจนโยบายและระบบบริหารงานบุคคล

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


เสนอตั้งอนุก.ค.ศ.สพฐ.เคลียร์ปัญหาแต่งตั้ง-โยกย้ายผอ.ร.ร.พรีเมียม

          บอร์ด กพฐ.เสนอตั้ง อนุ ก.ค.ศ.สพฐ. ขึ้นเคลียร์ปัญหาตั้งผู้บริหารกลุ่ม ร.ร.พรีเมียม หวังแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนระยะสั้นเสนอโยน อนุ ก.ค.ศ.วิสามัญฯ พิจารณาหลักเกณฑ์โยกย้ายข้ามเขต และกำหนดจำนวนร.ร.ที่เหมาะสม เหตุบอร์ดมองว่าจำนวนมากเกินไป
          นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนในกลุ่มพรีเมียมสคูล จำนวน 111 โรง ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ 56 โรง และโรงเรียนคุณภาพพิเศษ 55 โรง ซึ่งหลังจากนี้จะเตรียมส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป นอกจากนี้ บอร์ด กพฐ.ได้ทบทวนเรื่องการพิจารณากลั่นกรองโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารกลุ่มดังกล่าวด้วย เนื่องจากอำนาจการแต่งตั้งผอ.โรงเรียน เป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แต่เพราะกรณีโรงเรียนกลุ่มพรีเมียม ก.ค.ศ.ได้กำหนดให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาการกลั่นกรองก่อนเพื่อให้ได้คนมีฝีมือและมีคุณภาพไปบริหารโรงเรียน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม แต่เพราะยังมีปัญหาในหลายขั้นตอน เพราะฉะนั้น บอร์ด กพฐ.จึงมีมติมอบหมายให้กรรมการท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมการในคณะ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับนโยบายและระบบบริหารงานบุคคล ไปหารือใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯชุดดังกล่าวว่า การดำเนินการโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารกลุ่มชพรีเมียมสูคลนั้นจะยังคงดำเนินการตามระบบวิธีการเดิม หรือจะเปลี่ยนแปลง
          ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.ได้นำเสนอผลการประมวลผลดีผลเสียกรณีมีการกลั่นกรองการคัดเลือก ผอ.โรงเรียน ในกลุ่มพรีเมียมสคูล จากส่วนกลางต่อที่บอร์ด กพฐ. ซึ่งได้มีมติให้ สพฐ.ดำเนินการแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นที่ต้องดำเนินการทันที คือให้ สพฐ.ส่งมอบผลการประมวลดังกล่าวให้ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ นำไปพิจารณาใน 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก ให้ทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายเพื่อให้เกิดการเลื่อนไหลหรือย้ายข้ามเขตได้เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีคุณภาพประสบการณ์เหมาะสมที่สุด และประเด็นที่สอง เพื่อให้พิจารณาว่าจำนวนรายชื่อโรงเรียนกลุ่มคุณภาพพิเศษ จำนวนที่เหมาะสมควรมีเท่าไร หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากระยะแรกที่ สพฐ.ดำเนินการนั้นมีเพียง 16 โรงแต่ปัจจุบันในปีที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 56 โรง ซึ่งที่ประชุมบางส่วนใหญ่มองว่าจำนวนมากเกินไป
          ส่วนระยะยาว ที่ประชุมเสนอให้มีการตั้งกำหนด อ.ก.ค.ศ.สพฐ. ขึ้นเพื่อที่หากเกิดกรณีที่การพิจารณาจาก สพฐ.ไม่สอดคล้องกับการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ก็ให้นำเสนอปัญหาเหล่านั้นมาสู่การพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.สพฐ. และให้ถือว่าการประชุมและมติของ อ.ก.ค.ศ. สพฐ.เป็นข้อยุติ แต่เนื่องจากเวลานี้ในระบบบริหารงานบุคคลนั้นไม่ได้มี อ.ก.ค.ศ. สพฐ. ทำให้เวลาเกิดปัญหาขัดแย้งจึงต้องเสนอปัญหาไปยังบอร์ด ก.ค.ศ.ชุดใหญ่เท่านั้น
 กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ASTVผู้จัดการออนไลน์

ระดับ'หัวหน้า'เขตพท.ทั่วปท.เตรียมเฮ! ก.ค.ศ.ชงขยับขึ้น'ชำนาญการพิเศษ'ได้ ลุ้นศาลชี้ขาดเกณฑ์หา'ผอ.สพม.' 27 มิ.ย.

          นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำกรอบอัตรากำลังของบุคลากรทางการศึกษาอื่น 38ค (2) ประมาณ 10,000 กว่าคน ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ว่า ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายละเอียด และความถูกต้องเหมาะสมของกรอบอัตรากำลังดังกล่าวใน สพป.และ สพม.ซึ่งจะต้องดูเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าใครอยู่ในระดับไหนก็ได้เท่าเดิม ฉะนั้น จะต้องดูในรายละเอียดทั้งหมด อย่างตำแหน่งหัวหน้าประชาสัมพันธ์ที่มีประมาณ 150 กว่าเขตพื้นที่ฯ ที่ยังไม่สามารถปรับเป็นชำนาญการพิเศษได้ เพราะปริมาณงานยังไม่เพียงพอกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น จะเสนอให้ได้ชำนาญการพิเศษทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้มีการเรียกร้องมาหลายปี นอกจากนี้ ในกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นระดับหัวหน้า แต่ยังไม่สามารถปรับเป็นชำนาญการพิเศษได้ ก็จะพิจารณาปรับให้ด้วยเช่นเดียวกันเพื่อความก้าวหน้า
          นางรัตนากล่าวต่อว่า ส่วนการรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลกในวันที่ 27 มิถุนายน จากกรณีที่กลุ่มรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลกในปี 2553 ให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สพม.เนื่องจากกลุ่มรองผู้อำนวยการ สพป.ไม่มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือก เนื่องจากในขณะนั้น ก.ค.ศ.ได้กำหนดคุณสมบัติว่าผู้สมัครสอบคัดเลือกที่มีประสบการณ์ใน สพป.ควรต้องสมัครใน สพป.จะสมัครคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการ สพม. ไม่ได้นั้น ทาง ก.ค.ศ.ยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอคำพิพากษาก่อน
          "ถ้าศาลมีคำพิพากษาเห็นตามกลุ่มที่ยื่นฟ้อง ทาง ก.ค.ศ.จะต้องมาแก้คุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งก่อน แต่หากมีคำพิพากษาว่าคุณสมบัติที่ ก.ค.ศ.กำหนดถูกต้องแล้ว ทาง ก.ค.ศ.จะใช้ตัวมาตรฐานเดิม แต่อาจจะต้องปรับวิธีการสรรหาว่าจะใช้วิธีการสอบอย่างเดียว หรือจะรับคนมีประสบการณ์โดยไม่ต้องสอบ และกำหนดสัดส่วนของ 2 กลุ่มนี้ รวมทั้ง จะต้องขึ้นบัญชีหรือไม่ โดยการสรรหาจะต้องแยกเป็นผู้อำนวยการ สพป.และผู้อำนวยการ สพม.เช่นเดิม" นางรัตนากล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: