วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชงเกณฑ์คัดผู้แทนอ.ก.ค.ศ.เขตใหม่

 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา การกำหนด คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ.และอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2553 เพื่อใช้ในการสรรหาเลือกตั้งผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ประมาณ 160 เขต ที่จะครบวาระ 4 ปี ภายในสิ้นปี 2556 นี้ โดยหลักเกณฑ์ที่ปรับใหม่จะแตกต่างจากของเดิมในส่วนของวิธีการได้มาของผู้แทน ก.ค.ศ., ผู้แทนคุรุสภา และผู้ทรงคุณวุฒิ จะเป็นแนวทางใหม่หมด อย่างผู้แทน ก.ค.ศ.เดิมจะให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้เสนอรายชื่อมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.พิจารณา และนำเสนอให้ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจที่ที่ประชุม ก.ค.ศ.ตั้งมา เป็นผู้คัดเลือก แต่เกณฑ์ใหม่สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเป็นผู้เสนอรายชื่อเอง ด้วยการประกาศรับสมัครจากบุคคลทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารงานบุคคล เช่นเดียวกับผู้แทนคุรุสภา ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาประกาศรับสมัคร และพิจารณานำเสนอรายชื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาเห็นชอบ
          "การปรับหลักเกณฑ์วิธีการดังกล่าว จะทำให้รวดเร็วขึ้น และใครที่สนใจสามารถสมัครได้เลย โดยจะมีคณะกรรมการคัดเลือกเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะมี อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจ มากลั่นกรองก่อนเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบแต่งตั้ง" นางรัตนากล่าว
          นางรัตนากล่าวว่า ทั้งนี้ การปรับวิธีดังกล่าวจะทำให้ได้คนที่ตรงกับความต้องการ เพราะการจะเข้ามาเป็นผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ควรจะต้องมีความรู้ เช่น ผู้แทน ก.ค.ศ.ต้องมีความรู้ในการบริหารงานบุคคล ผู้แทนคุรุสภา ต้องทำหน้าที่ในส่วนของคุรุสภาได้ดี เป็นต้น โดยในส่วนของผู้แทนคุรุสภานั้น เป็นข้อเสนอเดิมของคุรุสภาที่เคยเสนอกันมา จึงไม่น่าจะมีปัญหา
          นางรัตนากล่าวต่อว่า ส่วนการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจะเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการที่คัดเลือกใหม่ จากเดิมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จะเปลี่ยนให้ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ เป็นประธานแทน เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีเวลามาประชุม ทำให้ต้องมอบตัวแทนมาเป็นประธานการประชุมอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ.ให้พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

จี้ครูไทยเปลี่ยนห้องสอนให้เป็นห้องเรียนรู้
          นักการศึกษาแนะครูไทยเปลี่ยนแนวคิดจัดสอน เปลี่ยนห้องสอนเป็นห้องเรียนรู้ เลิกวิธีบอกวิชาให้นักเรียน หันไปส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ย้ำการทำแบบเดิมๆ แม้เคยให้ผลดี แต่ถ้ายังทำแบบเดิมต่อไปถือว่าขาดทุน เพราะทุกสิ่งในโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
          วานนี้(4มิ.ย.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 17 ในหัวข้อ “ ชุมชนการเรียนรู้ครู : เปลี่ยนห้องสอนให้เป็นห้องเรียน(รู้)” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ว่า ในวงการธุรกิจจะมีหลักการที่รู้กันทั่วไปว่า การที่เคยทำสิ่งใดแล้วให้ผลดี แต่ถ้ายังทำแบบเดิมๆต่อไปก็จะกลายเป็นขาดทุน เพราะสิ่งต่างๆจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิดเป็นระยะๆ ซึ่งเรื่องของการศึกษาก็เช่นกัน การสอนแบบเดิมๆที่ครูเป็นผู้สอนบอกวิชาในห้องเรียนอาจจะเหมาะกับแค่ยุคสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงล่าอาณานิคม แต่ในโลกปัจจุบันคงไม่ใช่แล้ว เพราะการสอนในลักษณะดังกล่าวเป็นการจำกัดศักยภาพของคน เราจึงต้องเปลี่ยนจากห้องสอนมาเป็นห้องเรียนรู้ เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่การเรียนรู้ในทุกพื้นที่ของชีวิต
          “ การที่ใช้คำว่าสอนวิชา หรือให้ท่องจำจากหนังสือทำให้รู้สึกคับแคบมาก เหมือนอยู่แค่ในห้อง แต่หากบอกว่าเป็นการเรียนรู้จะรู้สึกเหมือนเป็นการได้เปิดออกไปสู่โลกกว้าง เพราะในโลกยังมีสิ่งที่ให้เรียนรู้ได้ไม่จำกัด ในแต่ละชุมชนก็มีแหล่งเรียนรู้จำนวนมาก ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ซึ่งในประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่มากมาย หากเราเปลี่ยนความคิดเรื่องการเรียนรู้ได้เชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศเป็นอย่างมาก” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
          ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นักวิชาการอาวุโส กล่าวว่า ครูในยุคนี้ต้องเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ เปลี่ยนจากครูสอนไปเป็นครูฝึก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากปฏิบัติ กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูจะต้องมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อช่วยกันพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นครูยุคใหม่จึงต้องเป็นผู้เรียนด้วย
          “ ในอดีตเป็นการเรียนเพื่อให้ได้วิชาจากครู แต่เป้าหมายการศึกษาในโลกยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว นอกจากได้วิชาให้รู้แล้วยังต้องรู้จักการนำวิชาไปใช้ให้เป็นด้วย เพื่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ที่ไม่เหมือนอดีต ดังนั้นการศึกษาจะต้องสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน ประกอบด้วย 1.แรงบันดาลใจต่างๆ เช่น การเป็นคนดี มีจิตอาสาทำประโยชน์ให้สังคม ฯลฯ 2.ทักษะการเรียนรู้ เพราะวิชาต่างๆมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีของใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา หากขาดทักษะเรียนรู้ก็จะเรียนของใหม่ไม่ได้ รู้แต่เรื่องเดิมๆ เก่าๆ 3. ทักษะการร่วมมือกับคนอื่น และ 4.ทักษะการรู้เท่าทัน มีวินัยในตนเอง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ที่มา: http://www.dailynews.co.th


สพฐ.เร่งส่งเสริมร.ร.'ห่างไกล-ขาดครู'เรียนผ่านทีวีพฐ.-ดาวเทียมไกลกังวล

          เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในปีการศึกษา 2556 ที่มีปัญหาในเรื่องของครูไม่ครบชั้น โดยที่ผ่านมา สพฐ.ได้พัฒนาสถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Channel) และได้สำรวจข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 10,000 โรง ที่ติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม และสามารถรับชมรายการต่างๆ จากทางช่อง OBEC Channel ซึ่งในการศึกษา 2556 ได้จัดทำผังรายการเรียบร้อย และมีการสอนในทุกกลุ่มสาระวิชาของระดับประถมศึกษา ฉะนั้น จะพยายามส่งเสริมให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่มีปัญหาการขาดแคลนครู ครูสอนไม่ครบกลุ่มสาระวิชา และสอนไม่ครบชั้นวิชา หันมาใช้ช่องทางนี้ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวลควบคู่กันด้วย เชื่อว่าจะมีโอกาสที่จะทำให้โรงเรียนได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น
          "มีตัวอย่างที่ดีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 ที่นำระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวลมาใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียน ผลปรากฏว่าคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานระดับชาติ (โอเน็ต) สูงขึ้นทุกชั้นปีที่มีการสอบวัดผล ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาด้วย ส่วนแนวทางการบริหารจัดการในด้านอื่นๆ ของโรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชน ซึ่งมีนางสิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้" นายชินภัทรกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

สพฐ.โชว์สุดยอดงานวิจัยระดับชาติ คัด 100 เรื่อง ช่วยครูประยุกต์สอนเด็กวิเคราะห์

          นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ.โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เตรียมจัดประชุมสัมมนาวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน
          งานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติประจำปี 2556 เพื่อให้ครูตลอดจนศึกษานิเทศก์ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพเหล่านี้ ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียน เพราะงานวิจัยคือตัวการที่สร้างเสริมให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น
          งานสัมมนายังปาฐกถาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา 3 เรื่อง 3 วัน คือ 1.พลิกโฉมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน : หลากหลายเส้นทางสู่การปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 2.ระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาแนวใหม่ เพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ 3.การพัฒนาทักษะอาชีพสู่โลกของงาน : ขับเคลื่อนการศึกษาเชิงรุกสู่เออีซี
          สำหรับผลงานวิจัยระดับชาติที่ผ่านการคัดเลือกประจำปี 2556 มีทั้งสิ้น 100 เรื่อง ซึ่ง สพฐ.ได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้อง GRAND A นำเสนองานวิจัยด้านบริหารการศึกษา การวัด/ประเมินผลทางการศึกษา การประกันคุณภาพทางการศึกษา และการนิเทศการศึกษา ห้อง GRAND B นำเสนองานวิจัยด้านพัฒนาการเรียนการสอน และวิจัยในชั้นเรียน ห้อง GRAND C นำเสนองานวิจัยโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัย
          ห้อง GEMINY นำเสนองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและบูรณาการงานอาชีพ และห้อง MARS นำเสนอการวิจัยด้านคุณภาพชีวิต กีฬา ประชาธิปไตยและอาเซียน นิทรรศการที่เกิดจากผลงานวิจัยทางการศึกษา 36 เรื่อง อาทิ กลุ่มนักธุรกิจน้อย มีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 13 เรื่อง คณิตคิดสนุก 1 เรื่อง เป็นต้น การอบรมเชิงปฏิบัติการ อาทิ การจัดการเรียนรู้ด้วยยูทูบ การสร้างและเลือกใช้แอพพลิเคชั่นในการสอนแท็บเล็ต เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: