วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ครม.แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง

ศึกษาธิการ - นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ราย และศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหาร และบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งหมด

  • แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง
    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 3 ราย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้
    1. นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
    2. นายพิษณุ ตุลสุข  ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
    3. นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ
    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
    • แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหาร และบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งหมด
     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 107/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งหมด โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
     องค์ประกอบ รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล นายภัทรศักดิ์  อุตตมะโยธิน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ นายวิษณุ เครืองาม นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
     อำนาจหน้าที่
     1. ศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวม เพื่อให้อัตราค่าตอบแทนมีความเสมอภาค เป็นธรรมและเหมาะสม ไม่เหลื่อมล้ำ เทียบเท่ามาตรฐานการครองชีพ และให้สอดคล้องกับระบบการบริหารงานภาครัฐสมัยใหม่
     2. จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนขั้นสูงและขั้นต่ำของผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมที่เป็นมาตรฐานกลางหรือบัญชีกลางต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานประกอบการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปจัดทำเป็นบัญชีค่าตอบแทนของตนเอง
     3. ศึกษาวิเคราะห์อัตราค่าตอบแทนของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งระบบในเชิงเปรียบเทียบกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภาคเอกชน รวมทั้งรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิ้นปีงบประมาณหรือระยะเวลาอื่นตามที่เห็นสมควร
     4. อำนาจหน้าที่ตามข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 ให้ครอบคลุมส่วนราชการในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดฝ่ายบริหาร หน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดฝ่ายนิติบัญญัติ หน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดฝ่ายตุลาการ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
     5. เชิญบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนมาชี้แจงแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลหรือส่งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา
     6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
     7. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี
     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป


    'สภาครุ'ห่วงปรับหลักสูตรมั่ว เชิญ'ภาวิช-คณะยกร่าง'แจง 3 ก.ค.

              นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะกรรมการสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยกรณีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ตั้งนาย ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการตั้งคณะทำงานร่างหลักสูตรขึ้น 6 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ 1.กลุ่มภาษาและวรรณกรรม 2.วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี 3.เทคโนโลยีสารสนเทศ 4.สังคมและความเป็นมนุษย์ 5.โลก ภูมิภาคและอาเซียน และ 6.ชีวิตกับโลกของงาน นั้นว่า ส.ค.ศ.ท.มีความเป็นห่วง เพราะยังไม่ทราบว่าการปรับหลักสูตรครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ และที่สำคัญ ผู้เป็นประธานยกร่างหลักสูตรทั้ง 6 กลุ่มสาระ มีความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรหรือไม่
              "เรื่องนี้ส่งผลกระทบทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต้องเตรียมความพร้อมครูเพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตครู ก็ต้องปรับการเรียนการสอนจากเดิมที่ผลิตครูตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งเป็นรายวิชา แต่ต่อไปหลักสูตรใหม่จะแบ่งเป็น 6 กลุ่มสาระวิชา และควบรวมรายวิชาเข้าด้วยกัน ซึ่งจะไม่ตรงตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ หรือทีคิวเอฟ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด ขณะเดียวกันทีคิวเอฟ ก็ล้อมาจาก 9 มาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วยที่จะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่คุรุสภากำหนด" นางประพันธ์ศิริกล่าว
              นางประพันธ์ศิริกล่าวต่อว่า การพัฒนาหลักสูตรจะต้องเริ่มจากการประเมินหลักสูตรเก่าว่ามีปัญหาอย่างไร แล้วจึงกำหนดประเด็นปัญหาในการร่างหลักสูตรและต้องเปิด โอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น ในวันที่ 3 กรกฎาคม จะจัดเสวนาเรื่องหลักสูตรใหม่ : วิกฤตหรือโอกาส โดยจะเชิญนายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน รวมถึงเชิญประธานร่างหลักสูตรทั้ง 6 กลุ่มสาระ มาให้ข้อมูลและกระบวนการจัดทำหลักสูตรด้วย

              ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


    หลักสูตรใหม่ได้เด็กมีคุณภาพเสริมกิจกรรมเพิ่มทักษะ-ไม่เน้นท่องจำ

              กรุงเทพฯ : "วันชัย" ย้ำหลักสูตรใหม่ แม้เวลาเรียนในห้องน้อยแต่กิจกรรมเพิ่มทักษะเยอะ สร้างเด็กมีคุณภาพไม่ใช่เก่งแต่ท่องจำ สรุปเสนอรัฐมนตรี 3 ก.ค.
              รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปฯในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ จะได้ทราบกรอบใหญ่ที่ประชุมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้และหลักสูตรได้สรุปมาจนตกผลึก โดยทักษะเน้นไปที่ผู้เรียน เป็นกรอบกลุ่มความรู้ 6 ด้านที่มีความชัดเจน และมีเป้าหมายไปตามความรู้ ก่อนสรุปรายงานต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
              "เราต้องการความมั่นใจจากคณะกรรมการเหล่านี้ว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับประเทศ แต่การปรับหลักสูตรต้องทำให้ต่อเนื่อง จึงเตรียมเสนอให้เป็นคณะกรรมการแห่งชาติ โดยมี อ.ภาวิช ทองโรจน์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งจะนำร่องในโรงเรียนจำนวนหนึ่งก่อน เพื่อให้หลักสูตรใหม่นี้ใช้แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีความสมบูรณ์และรายละเอียดมากกว่าเดิม และให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนสามารถใช้แนวปฏิบัติหรือไปประยุกต์ต่อยอดได้อีก ซึ่งหลักสูตรนี้ครูระดับหนึ่งสามารถสอนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้"
              รศ.ดร.วันชัยกล่าวอีกว่า หลักสูตรใหม่แม้จะมีเวลาเรียนอยู่ในห้องเรียนน้อยลง แต่กิจกรรมช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมเสริมด้านอื่นๆ ทำให้เกิดทักษะอื่นๆมาเสริมความรู้ทั่วไปเพื่อสร้างเด็กคู่ขนาน ต่อไปมหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนการวัดผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการปรับรื้อหลักสูตร เพราะหากการวัดผลไม่สอดคล้องกันถือว่าล้มเหลว มหาวิทยาลัยน่าจะพึงพอใจ เพราะไม่ได้เด็กเก่งแค่ท่องจำไปสอบ แต่จะได้เด็กที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้เป็น
              ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

    สพฐ.ไม่ปิดกั้นเด็กไร้สัญชาติชี้ยุบรวม'ร.ร.เล็ก'ผลดีเกินคาด

              นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายประแสง มงคลศิริ เลขานุการรมว.ศึกษาธิการ ระบุว่าการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งล้มเหลว เพราะท้องถิ่นตั้งโรงเรียนแข่งขัน เกิดการแย่งชิงเด็กจนทำให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องดึงเด็กไร้สัญชาติเข้ามาเรียนแทนว่า เรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบคงไม่ใช่เรื่องการแย่งเด็ก จึงอยากให้มองเรื่องนี้เป็นการส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันมากกว่า เพราะในหลักการและนโยบายแล้ว เด็กไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยจะต้อง
              ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเด็กเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบการจัดการศึกษาที่ดีก็อาจเป็นภาระทางสังคมและประเทศชาติได้สพฐ. จึงจำเป็นต้องดูแลเด็กเหล่านี้ให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อไม่มีตัวป้อนให้กับโรงเรียน สพฐ.จะต้องไปดึงเด็กไร้สัญชาติเหล่านี้มาเข้าเรียนแทน แต่การให้การศึกษากับเด็กไร้สัญชาตินั้นเป็นไปตามหน้าที่และนโยบายการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง
              "ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก องค์กรปกครองส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.)ก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก เช่น เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการภาคีเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชนด้วยทั้งนี้ จากการวิเคราะห์โมเดลที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของพื้นที่ต่างๆ ก็พบว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี และเห็นผลที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนครูเพราะเมื่อนำเด็กจากโรงเรียนต่างๆ มารวมกันแล้ว ทำให้ปัญหาขาดแคลนครูลดน้อยลงและหมดไป นอกจากนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างชัดเจน"
              นายชินภัทร กล่าวและว่า การที่มองว่าการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กล้มเหลวคงต้องขอข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ว่าไม่ประสบความสำเร็จในจุดใด เพื่อที่ สพฐ.จะได้นำกลับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป
              ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: