วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การศึกษาเพื่ออนาคตประเทศไทย

โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศ ประจำปี 2556 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เรื่อง "การศึกษาเพื่ออนาคตประเทศไทย" เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2556 ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราฯ
รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า "การศึกษา" เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของอนาคตในแต่ละประเทศ หากประเทศใดไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาประเทศนั้นก็จะไม่มีอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันซึ่งเป็นโลกยุคแห่งการเรียนรู้ ประเทศไทยได้มีการลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับผลผลิตมวลรวมของประชาชาติ และเมื่อเทียบกับงบประมาณของแผ่นดินแต่ละปีแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ลงทุนทางการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก แต่ถามว่าเราพอใจกับผลทางการศึกษาที่เราได้รับหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังไม่เพียงพอ
ดังนั้น จึงต้องเร่งการปฏิรูปการพัฒนาการศึกษาของไทย เพื่อที่จะทำให้คนไทยเป็นคนที่มีความพร้อมทุกด้าน ในการที่จะนำพาประเทศไทยยืนหยัดอยู่ในโลกปัจจุบันและอนาคต ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพทางการศึกษา
ขณะนี้ ศธ.กำลังปฏิรูปหลักสูตรในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การที่ สกศ.ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง การศึกษาเพื่ออนาคตประเทศไทยในครั้งนี้ จึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบการศึกษาของไทย เพื่อย้อนกลับมาดูว่าในขณะนี้การศึกษาของไทยเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร และจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร และผลการวิจัยต่างๆ ที่นักวิจัยหรือนักวิชาการได้นำเสนอในครั้งนี้ ล้วนเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างมาก
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนได้ยากที่สุด แต่การขับเคลื่อนทางการศึกษานั้น ต้องอาศัยความเข้าใจ การยอมรับ การมีส่วนร่วมจึงต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ ยอมรับ และร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปได้ในทางที่ดี พร้อมกับนำแนวทางที่ผู้อื่นปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จ มาประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทย นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งคือแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในทางการศึกษา หรือสถิติข้อมูลต่างๆ นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการนำมาประเมินการจัดการศึกษาของไทยเองทั้งสิ้น
สำหรับเรื่องการวิจัยนั้น รมว.ศธ.กล่าวย้ำว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ สิ่งที่รัฐบาลพยายามกระตุ้น คือ การวิจัย ซึ่งรัฐบาลต้องการให้มีการวิจัยทางด้านสายสาขาวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และเป็นการวิจัยที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี


คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การกำกับติดตาม การสอบบรรจุครูผู้ช่วย ปี พ.ศ.2556

          รัตนา ศรีเหรัญ
            เลขาธิการ ก.ค.ศ.
          ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2556 ซึ่งกำหนดให้มีการสอบแข่งขันในวันที่ 22-24 มิถุนายน 2556 นั้น
          เพื่อให้การดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เรียกศรัทธาจากสังคมกลับคืนมายังกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช สำนักงาน ก.ค.ศ. ในฐานะเจ้าหน้าที่ดำเนินงานของ ก.ค.ศ. ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษา และผู้แทนส่วนราชการ ในวันที่ 25 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันก่อนการเปิดรับสมัครสอบแข่งขัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เดินทางมาเป็นประธานและมอบนโยบายการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ตั้งศูนย์อำนวยการประสานงานการสอบแข่งขันในสำนักงาน ก.ค.ศ. โดยจัดเจ้าหน้าที่ไว้อำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานการสอบแข่งขัน และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมชี้แจงการกำกับ ติดตามการสอบแข่งขันให้กับผู้แทน ก.ค.ศ.ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งประธาน ก.ค.ศ. ได้มอบหมายให้ไปดำเนินการในการกำกับ ติดตามการสอบแข่งขันให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          จากการเตรียมการต่างๆ ที่จะสนับสนุน ให้การสอบแข่งขันในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ขอเรียนว่าจากวันรับสมัครสอบแข่งขันจนถึงวันสอบแข่งขัน ยังไม่พบปัญหาการร้องเรียนแต่อย่างใด มีเพียงข้อหารือ 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1)คุณวุฒิของผู้สมัครสอบแข่งขัน เนื่องจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นคุณวุฒิที่ตรงตามประกาศรับสมัครหรือไม่ 2)กรณีผู้สมัครสอบ สมัครเกิน 1 แห่ง ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจพิจารณาได้ว่าจะสามารถให้ถอนใบสมัครได้หรือไม่ และจะประกาศรายชื่อเป็น ผู้มีสิทธิสอบได้หรือไม่ และ 3)การประมวลผลการสอบ เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องส่งคะแนนภาค ค ให้สถาบันอุดมศึกษานำไปประมวลผลคะแนนการสอบหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตอบข้อหารือ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว 
          นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการสอบแข่งขันเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นผลดีแก่ทางราชการ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันตามหลักเกณฑ์และวิธีการและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย เพื่อยืนยันว่าการสอบแข่งขันครั้งนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมในทุกขั้นตอน

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไฟเขียวอ.ก.ค.ศ.เขตฯตั้งผอ.พรีเมียม สั่งยุบกก.กลั่นกรองเหตุย้ายข้ามเขตได้เอง เตรียมชงก.ค.ศ.เห็นชอบเกณฑ์แต่งตั้งใหม่

          เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธาน ได้พิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนกลุ่มพรีเมียม ที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการกลั่นกรองของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก เพื่อนำเสนอให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาแต่งตั้ง ว่าควรจะต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ หลังจากที่มีผู้ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ และที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ได้ให้นายอภิชาติในฐานะกรรมการ กพฐ.พิจารณาเรื่องนี้ โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับเปลี่ยนในเรื่องนี้แล้ว คือให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองผู้บริหารโรงเรียนพรีเมียม โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองของ สพฐ.เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เสนอว่าหลักเกณฑ์การโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษาปกติ สามารถให้ผู้บริหารสถานศึกษาจากเขตพื้นที่ฯ หนึ่งไปยังอีกเขตพื้นที่ฯ หนึ่งได้อยู่แล้วตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดึงเรื่องนี้มาไว้ที่ส่วนกลางด้วยการให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองของ สพฐ.
          แหล่งข่าวระดับสูง สพฐ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์การนับการดำรงตำแหน่งครบตามที่กำหนดหรือไม่ จากเดิมให้นับถึงช่วงที่เปิดให้ยื่นความจำนงโยกย้ายประจำปีถึงวันที่ 15 สิงหาคม โดยได้เปลี่ยนให้นับอายุการดำรงตำแหน่งตามปีงบประมาณถึงวันที่ 30 กันยายน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.จะต้องนำเสนอหลักเกณฑ์การโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนกลุ่มพรีเมียมเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ.ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบต่อไป
          "เมื่อมีการปรับหลักเกณฑ์การโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนกลุ่มพรีเมียม โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้พิจารณาเองแล้ว จึงเท่ากับว่ากลุ่มโรงเรียนพรีเมียมที่ สพฐ.ตั้งขึ้นมาจะไม่มีแล้ว เพราะหลักๆ ที่ สพฐ.ตั้งโรงเรียนกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลเชิงการบริหารงานบุคคลในส่วนของการโยกย้ายผู้บริหารเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนอื่นๆ " แหล่งข่าวระดับสูง สพฐ.กล่าว
          ด้านนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะไม่ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามที่มีการเสนอกันมา เพราะเห็นว่าปกติแล้วหลักเกณฑ์การโยกย้าย ได้เปิดให้ย้ายต่างเขตพื้นที่ฯ ได้อยู่แล้ว
          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: