วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สอบครูผช.ขาดสัมภาษณ์อื้อ บ่นอุบคำถามยาก-เวลาน้อย

เลขาฯก.ค.ศ.ชี้ตัดสิทธิสอบบรรจุครูผู้ช่วย 2 ราย นำโทร.มือถือเข้าห้องสอบที่ ร.ร.สันติราษฎร์ฯ เหตุฝ่าฝืนข้อห้าม ทั้งรอผลสอบสวนตำรวจระบุเอี่ยวทุจริตด้วยหรือไม่ ศธ.เตรียมเคาะจัดสอบบรรจุทดแทนรอบใหม่อีกกว่าพันอัตรา
          เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครู ในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป ประจำปี 2556 ในวันสอบวันสุดท้าย ซึ่งจัดสอบพร้อมกันใน 79 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายนว่า การสอบในแต่ละเขตพื้นที่ฯยังเป็นไปอย่างคึกคัก แต่มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการสอบ เนื่องจากเป็นการสอบสัมภาษณ์ โดยที่สนามสอบโรงเรียนพานพิทยาคม อ.พาน จ.เชียงราย มีกรรมการสอบ 3 คน ส่วนใหญ่จะเน้นสัมภาษณ์ผู้เข้าสอบเกี่ยวกับทักษะการใช้ความรู้ไปพัฒนาการศึกษา และความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก
          นายวิญญู ชนะชัยขันธ์ ประธานกรรมการกลางสนามสอบโรงเรียนพานพิทยาคม กล่าวว่า ที่สนามสอบแห่งนี้มีผู้เข้าสอบรวม 987 คน โดยมีผู้ขาดสอบประมาณ 60 ราย ซึ่งตลอด 3 วันของการสอบยังไม่พบการทุจริตสอบ มีเพียงปัญหาติดขัดบ้างในเรื่อง ผู้เข้าสอบลืมบัตรประจำตัวประชาชน หรือมาสาย เป็นปัญหาเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
          ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอด 3 วันของการจัดสอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 31 นครราชสีมา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 3 ไม่พบมีเหตุการณ์ผิดปกติ หรือพฤติกรรมทุจริตการสอบเกิดขึ้นแต่อย่างใด
          นายชูเกียรติ วิเศษเสนา ผู้อำนวยการ สพม. เขต 31 นครราชสีมา กล่าวว่า การสอบวันสุดท้ายนี้มีผู้ขาดสอบจำนวน 123 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 1,383 คน อาจเป็นเพราะทำข้อสอบสอบทั้งหมด 1,383 คน อาจเป็นเพราะทำข้อสอบไม่ได้ใน 2 วันแรก จึงตัดสินใจไม่มาสอบสัมภาษณ์ ส่วนการเฝ้าระวังการทุจริตสอบช่วง 3 วันที่ผ่านมา ยังไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติแต่อย่างใด ทุกอย่างเรียบร้อยด้วยดี หลังจากนี้จะรวบรวมข้อสอบทั้งหมดไปเก็บไว้ในห้องมั่นคงภายในสำนักงาน สพม.เขต 31 ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคณะกรรมการของ สพม. เขต 31 จำนวน 8 คน เฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนจะนำส่งให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราช สีมา ตรวจข้อสอบในวันที่ 25 มิถุนายนและคาดว่าจะสามารถประกาศผลสอบได้ภายในวันที่ 8 กรกฎาคม
          นายพิสิษฐ์ ชดกิ่ง ผู้อำนวยการ สพป.นครราชสีมา เขต 3 กล่าวว่า การสอบสัมภาษณ์ในวันนี้มีผู้ขาดสอบกว่า 200 ราย จากผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 2,749 ราย ซึ่งอาจเป็นเพราะทำข้อสอบไม่ได้ จึงไม่มาสอบสัมภาษณ์ ทั้งนี้ มีผู้เข้าสอบหลายคนบ่นว่าข้อสอบบางรายวิชายากมาก และมีจำนวนข้อสอบมากถึง 120 ข้อ ขณะที่ให้เวลาทำข้อสอบเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น
          ที่สนามสอบโรงเรียนขามแก่นนคร ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ของ สพม.เขต 25 ขอนแก่น คณะกรรมการควบคุมการสอบได้จัดห้องสอบสัมภาษณ์จำนวน 2 ห้อง มีกรรมการสัมภาษณ์ ห้องละ 3 คน โดยเรียกผู้สมัครเข้าไปสอบสัมภาษณ์ครั้งละ 1 คน
          นายรังสรรค์ เถื่อนนาดี ผู้อำนวยการ สพม.เขต 25 ขอนแก่น กล่าวว่า การสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้มีการเฝ้าระวังอย่างมาก เชื่อว่าจะไม่มีการทำทุจริตสอบ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปจะเก็บรักษาข้อสอบและกระดาษคำตอบ โดยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดเก็บรักษาอย่างเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีช่องว่างทำทุจริตได้
          ที่ จ.สกลนคร นายเทวรัฐ โตไทยะ ผู้อำนวยการ สพป.สกลนคร เขต 1 ตรวจเยี่ยมสนามสอบที่โรงเรียนเชิงชุมราษฎร์นุกูล อ.เมืองสกลนคร ซึ่งในการจัดสอบครั้งนี้ได้ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้เครื่อง Hand Scan ตรวจค้นวัตถุต้องสงสัย และใช้เครื่องตรวจจับสัญญาณสื่อสารต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริต
          ด้านนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับรายงานจากผู้แทน ก.ค.ศ.ที่ส่งไปสังเกตการณ์การสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ใน 79 เขตพื้นที่ฯว่า ไม่พบการทุจริต ยกเว้นการทำผิดระเบียบเล็กๆ น้อยๆ เช่น กรณีมีผู้เข้าสอบ 2 ราย นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบที่สนามการทำผิดระเบียบเล็กๆ น้อยๆ เช่น กรณีมีผู้เข้าสอบ 2 ราย นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบที่สนามสอบโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กทม. ในการสอบวันแรก ซึ่งต้องถูกตัดสิทธิ เพราะตามระเบียบห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ
          เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า สำหรับการยื่นอุทธรณ์ร้องทุกข์ของครูผู้ช่วยที่ถูกปลดออกจากราชการ เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อทุจริตการสอบเมื่อครั้งที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีผู้อุทธรณ์เพิ่มจากจำนวนเดิม 43 คน แต่คาดว่าน่าจะทยอยส่งเรื่องเข้ามา ซึ่งในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ จะสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการปลดครูผู้ช่วยในกลุ่มรายชื่อมีพฤติการณ์ส่อทุจริตการสอบ จำนวน 344 ราย เสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.รับทราบว่า มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯใดบ้างจาก 119 เขต ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และเขตใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นชอบการจัดสอบบรรจุครูผู้ช่วย เพื่อทดแทนอัตราว่างจากการสอบกรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งทดแทนกลุ่ม 344 รายด้วย ซึ่งจะแบ่งเป็น 1.การคัดเลือกทั่วไปที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปและครูอัตราจ้างมาสอบคัดเลือก ขณะนี้มีอัตราว่างประมาณ 1,000 อัตรา และ 2.การคัดเลือกและสอบคัดเลือกเฉพาะกลุ่มครูอัตราจ้าง กลุ่มนักเรียนทุนต่างๆ โดยทั้งหมดนี้จะให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯดำเนินการจัดสอบเองทั้งหมด โดยใช้หลักเกณฑ์คล้ายกับการสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้
          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กรณีมีผู้เข้าสอบที่สนามสอบโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย 2 ราย นำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบนั้น ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีการโทร.เข้าโทร.ออกเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารหรือไม่ และต้องดูเจตนาว่าตั้งใจหรือหลงลืม ยังไม่อยากให้ฟันธงว่าผู้เข้าสอบทั้ง 2 รายต้องถูกตัดสิทธิสอบ ส่วนการเพิกถอนการบรรจุครูผู้ช่วย จำนวน 344 คนดังกล่าวนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่คนเหล่านี้ถ้าได้รับการบรรจุแล้ว ก็ต้องให้ออกจากราชการแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

คุรุสภาชง'ก.ค.ศ.'ขอคัด'225 ผู้แทน' ในอ.ก.ค.ศ.-อ้างเขตคัดคนไม่เข้าใจงาน

          เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มีนายไพฑูรย์ สินลารัตน์ เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีมติมอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไปพิจารณาการเสนอปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกสรรหาผู้แทนคุรุสภาในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้ได้คนที่เป็นผู้แทนของคุรุสภาจริงๆ ที่มาทำงานในส่วนนี้และคุรุสภาควรจะต้องเป็นผู้เลือกเอง โดยได้มีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคคล ของคุรุสภาแล้ว และได้เสนอแนวทางในการปรับเกณฑ์ใหม่ โดยให้คุรุสภาเป็นผู้สรรหาคัดเลือกผู้แทนเองทั้งหมด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาละ 1 คน รวม 225 คน เป็นผู้แทน ในอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 คน และอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 42 คน ซึ่งจะแตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษาเสนอชื่อมา 2 คนและคุรุสภา เสนออีก 2 คน รวมเป็น 4 คน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คัดเลือกเพียง 1 คน
          เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า คุรุสภาจะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้พิจารณาเพื่อปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ได้คนที่จะมาเป็นผู้แทนของคุรุสภาจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้คุรุสภาจะมีโอกาสเสนอชื่อคนที่จะเป็นผู้แทนได้ 2 คน แต่ก็มีส่วนน้อยที่ได้รับคัดเลือกจาก ก.ค.ศ.ให้เป็นผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเพราะคนที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นผู้แทนที่มาจากการเสนอของเขตพื้นที่การศึกษา จึงอาจมีความเข้าใจในงานของคุรุสภาน้อย ซึ่งงานของคุรุสภาค่อนข้างมีความสำคัญเพราะต้องดูเรื่องจรรยาบรรณ มาตรฐานวิชาชีพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีการสรรหาหากที่ประชุม ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ คุรุสภาอาจจะใช้วิธีการที่ทำกันอยู่ อย่างการรับสมัครสรรหาคัดเลือกจากทั่วประเทศ แล้วให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณากันต่อไป
          ด้านนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ในการประชุม ก.ค.ศ. วันที่ 27 มิถุนายนนี้ จะเสนอการปรับหลักเกณฑ์การสรรหา และได้มาของผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในส่วนของผู้แทนคุรุสภา จะเสนอให้ปรับเกณฑ์ใหม่โดยจะให้คุรุสภาเป็นผู้เสนอชื่อมา 2 รายเพื่อให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.เป็นผู้พิจารณาและแต่งตั้งเพียง 1 ราย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็เหมือนกับผู้แทน ก.ค.ศ.ที่จะเสนอปรับในคราวนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบ จะมีการใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ในการคัดเลือกผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา 7 เขตที่จะครบวาระในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา อีก 160 กว่าเขตจะครบวาระในปี 2557 และจะต้องใช้เกณฑ์ ดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน
          "คงไม่มีการปรับเกณฑ์ตามที่คุรุสภาเสนอให้เสนอชื่อผู้แทนคุรุสภา 1 รายให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง เพราะหากเสนอมาแค่รายเดียวก็คงไม่มีสิทธิที่จะเลือกหรือพิจารณาอะไร" เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ยุบ-ไม่ยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก เด็กก็ต้องมีคุณภาพ

          กลิ่น สระทองเนียม
          นโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาดูเหมือนจะผ่อนไปตามกระแสวิจารณ์ของผู้รู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้างไปแล้วทั้งที่ความเป็นจริงทุกฝ่ายต่างก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากน้อยแค่ไหน หากยังปล่อยให้เป็นอยู่เช่นนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือเด็กในพื้นที่ไม่ใช่ลูกหลานของผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นแน่ การจะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนที่ว่านี้จึงต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาเสียงของผู้ปกครองในท้องถิ่นดูเหมือนจะดังไม่พอหรือขาดการใส่ใจที่จะนำไปปฏิบัติตาม
          ในฐานะที่ผู้เขียนเคยได้ไปพบเห็นการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก จึงอยากจะสะท้อนภาพความเป็นจริงอีกแง่มุมหนึ่งให้ทราบกัน กล่าวคือ ทุกฝ่ายต่างทราบกันดีว่าเด็กในชนบทส่วนใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำถึงต่ำมากด้วยความยากจน การมุ่งหาเลี้ยงชีพของผู้ปกครอง ทำให้ไม่มีเวลาใส่ใจกับการเรียนรู้ของบุตรหลาน บางรายต้องปล่อยให้เด็กอยู่กับคนแก่ ส่วนเด็กเองก็ขาดความที่จะพัฒนาทั้งด้าน ไอคิว ปัญหาสุขภาพ การใช้ภาษาถิ่น ทำให้การพัฒนาเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อต้องเข้าไปเรียนกับโรงเรียนที่ขาดแคลนทั้งครู สื่อ อุปกรณ์ งบประมาณ และปัจจัย อื่น ๆ ด้วยแล้วก็คงพอเดาออกว่าคุณภาพ ของเด็กจะเป็นเช่นไรจะอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร เพราะแค่การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นเช่นอดีต คงไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กระดับรากหญ้าได้ก้าวพ้นจากวงจร โง่ จน เจ็บ ไปได้ ดังนั้นการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้องมุ่งไปที่คุณภาพเด็กเป็นหลัก ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 กรณี ตามบริบทของพื้นที่ที่เป็นอยู่
          กรณีแรก คือ การยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่การคมนาคมสะดวกเพื่อเด็กจะได้ไปเรียนโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า การที่จะมัวรอให้โรงเรียนขนาดเล็กเข้มแข็งด้วยตนเองจากการช่วยเหลือของประชาชนในพื้นที่คงเป็นได้แค่ทฤษฎี เพราะชุมชนเองก็อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่ในตัว สิ่งที่พอจะช่วยได้ก็แค่แรงใจและแรงกายเท่านั้น ส่วนการที่คิดกันว่าวิธีการอื่น ๆ จะช่วยพัฒนาได้ไม่ว่าจะเป็นการนำเด็กไปเรียนร่วมบางชั้น บางวิชา บางวัน ซึ่งก็ล้วนแต่เคยทำมาแล้วผลสำเร็จก็อย่างที่เห็นกันอยู่ด้วยขาดความต่อเนื่องของการดำเนินการหรือจะนำวิธีสอนแบบคละชั้นตามจำนวนครูที่มีอยู่คุณภาพก็คงเกิดได้ไม่เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคนด้วยแต่ละระดับชั้นจะมีเนื้อหา สาระมาตรฐานการเรียนรู้ต่างกัน หากใช้วิธีนี้อาจฉุดรั้งเด็กระดับชั้นที่สูงกว่าไปด้วย
          โดยเฉพาะทักษะที่ต้องฝึกหรือเล่นเป็นทีมหรือหมู่คณะ เช่น ดนตรี  กีฬา ลูกเสือ ยุวกาชาด ชมรม ชุมนุม เมื่อเด็กไม่พอทำกิจกรรม รวมถึงการขาดครูและอุปกรณ์เฉพาะทาง การพัฒนาจะให้สำเร็จจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามบริบทดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะดำเนินการให้เกิดผล อย่างจริงจังภาครัฐคงจะต้องสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นกับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ให้ได้ก่อน
          กลุ่มแรก คือ ผู้ปกครอง ที่ยังมีลูกหลานเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นถึงคุณภาพเด็กที่จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในภายภาคหน้า เพราะความเป็นจริงแล้วคงไม่มีพ่อแม่คนใดที่ไม่อยากเห็นลูกหลาน ได้ดีหรือได้เรียนโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า แต่ด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายและความไม่มั่นใจกับความปลอดภัยในการเดินทางจึงคิดว่าโรงเรียนใกล้บ้านน่าจะสะดวกที่สุดแถมทำให้มีเวลาดูแลคนแก่อีกด้วย ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนคลายความกังวลจากสิ่งเหล่านี้ภาครัฐจะต้องดำเนินการสิ่งต่อไปนี้ให้เป็นรูปธรรม เช่น  ประกันชีวิตให้กับเด็ก มีผู้ดูแลระหว่างเดินทาง จัดค่าพาหนะสอดคล้องกับระยะทางและบริบทของพื้นที่เป็นต้น กลุ่มที่สอง คือ ครูและผู้บริหารโรงเรียน ที่ส่วนใหญ่เกรงว่าตำแหน่งจะถูกลดหรือถูกย้ายไปอยู่ที่ไกลส่วนนี้ก็ต้องมีความชัดเจนให้กับผู้ปฏิบัติเช่นกัน กลุ่มที่สาม ได้แก่ ผู้นำชุมชน ที่ยังอยากเห็นชุมชนมีบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) เช่นอดีตที่ผ่านมา ทั้งที่อาจจะไม่มีลูกหลานเรียนอยู่ในท้องถิ่นหรือส่งไปเรียนที่อื่นนานแล้ว  ส่วนนี้ก็ต้องชี้แจงให้เห็นความสำคัญลูกหลานคนอื่นด้วยเช่นกัน
          กรณีที่ 2  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ตามป่า เขา เกาะแก่ง ตะเข็บชายแดน ส่วนนี้คงไปยุบไม่ได้ เพราะยุบแล้วอาจทำให้เด็กเสียโอกาสหรือออกกลางคันได้ ด้วยปัญหาการเดินทางและความไม่ปลอดภัย เมื่อยุบไม่ได้จะไปปล่อยให้โรงเรียนจัดการศึกษาตามความ พร้อมที่มีอยู่ไม่ได้ จำเป็นจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพให้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะความพร้อมด้านบุคลากร ให้เพียงพอกับการ ที่พัฒนาการไปยึดติดอยู่กับกรอบ ADB ที่กำหนดครูต่อเด็ก 1 : 25 อย่างที่ผ่านมาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้วคงใช้ไม่ได้ เพราะมีเด็กน้อยอยู่แล้ว เฉพาะโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน ก็จะเป็นหมื่นแห่งอยู่แล้วหากกำหนดเช่นนั้นโรงเรียนเหล่านี้ก็จะมีครูได้แค่ 2-3 คน แต่ต้องสอน 6 ชั้น เมื่อรวมถึงสารพัดงานที่ต้องทำเหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ด้วยแล้วครูก็หมดแรงไปแล้วคุณภาพเด็กจึงเกิดได้ยาก นอกจากการเพิ่มจำนวนครูให้พอแล้วยังจำเป็นต้องเฟ้นหาครู ผู้บริหารมืออาชีพไปให้อีกด้วย เพราะการที่จะพัฒนาเด็กที่ขาดความพร้อมสารพัดปัจจัยให้ไปสู่เป้าหมายได้ต้องใช้มืออาชีพดำเนินการ ซึ่งการที่จะดึงมืออาชีพไปอยู่โรงเรียนขนาดเล็กได้ก็จะต้องมีสิ่งจูงใจในด้านเงินเดือนค่าตอบแทน และความก้าวหน้าด้านวิทยฐานะ เป็นสิทธิพิเศษ ให้ด้วย
          ด้านงบประมาณ จะต้องจัดสรรเงินเป็นก้อนให้พอกับการพัฒนาทักษะแต่ละด้าน โดยเฉพาะการนำไปใช้แก้ปัญหาสุขภาพและทุพโภชนาการของเด็ก เพราะหากยังจัดให้ตามรายหัวทุกเรื่อง โรงเรียนก็จะมีเงินใช้แก้ปัญหาและพัฒนาปีละไม่กี่บาท ส่วนที่จะไปหวังการช่วยเหลือจากภายนอกก็เป็นไปได้ยากหรือมีจำนวนน้อยมาก รัฐจึงต้องเป็นผู้จัดหาให้เอง
          ด้านหลักสูตร คงจะต้องปรับให้สอด คล้องกับคุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กในบริบทดังกล่าวทั้งด้านสุขภาพอนามัย สุขนิสัยในการดำเนินชีวิต ทักษะอาชีพรวมถึงการอ่านออก เขียนได้  คิดเลขเป็น เพราะหากยังใช้หลักสูตรเดียวกับเด็กในเมืองที่ต้องเรียนมากมายหลายกลุ่มวิชาคงเกาไม่ถูกที่คันเพราะเป้าหมายและศักยภาพต่างกัน สิ่งที่ควรเน้นหนักจะต้องเป็นทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ที่จะทำให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหามากกว่าที่จะให้เก่งวิชาการ แต่งานในวิถีชีวิตประจำวันทำไม่เป็นสักเรื่องอย่างที่เด็กไทยส่วนใหญ่เป็นกันอยู่คงไม่ได้
          ด้านบริหารจัดการ จะต้องลดหรือเลิกโครงการ กิจกรรม งานเอกสาร งานฝาก รวมถึงการสอบโอเน็ต และการประเมินของ สมศ.เพราะงานเหล่านี้เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้รับประโยชน์น้อยมาก ด้วยไม่ตรงกับคุณภาพชีวิตที่ต้องการให้เกิดและที่สำคัญไปเบียดบังเวลาการสอนของครูให้เป็นงานรอง แต่งานทั้งหลายที่ว่ามากลับกลายเป็นงานหลักของครูไป
          ดังนั้นการยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป้าหมายจะต้องอยู่ที่คุณภาพของเด็ก เป็นหลัก โดยในส่วนที่การเดินทางสะดวกก็น่าจะยุบเพื่อเด็กจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และเหลือทรัพยากรไปให้กับโรงเรียนที่ยุบ ไม่ได้ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบไม่ได้ภาค รัฐก็ต้องหาวิธีการ รวมถึงเพิ่มปัจจัยที่จะส่ง ผลต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กให้พร้อมทุกด้าน ซึ่งการลงทุนเพื่อคุณภาพเด็กจะมัวช้าหรือ มัวคิดแบบธุรกิจกลัวลงทุนแล้วไม่คุ้มค่าคง ไม่ได้เพราะบุคลากรของชาติแม้แต่คนเดียว ก็มีความสำคัญต่อประเทศชาติเพราะเด็ก เก่งคนเดียวอาจนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ในทางกลับกันเด็กไม่ดีแค่ คนเดียวในอนาคตอาจสร้างความวุ่นวายเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้เช่นกัน หากไม่อยากเห็นอนาคตของเด็กและของชาติต้องอ่อนด้อยลงไปมากกว่านี้ก็ต้องช่วยกันสร้างเด็กทุกคนให้มีคุณภาพสูงสุดตามศักยภาพที่มีอยู่ให้ได้นั่นเอง.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: