วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ก.พ.ชงปรับฐานเงินเดือนข้าราชการปี 57

 ก.พ.ชงปรับฐานเงินเดือนข้าราชการปี 57 หวังแก้ ปัญหาค่าตอบแทนลักลั่นของหน่วยงานภาครัฐ เสนอขยับเพดานระดับผู้บริหารเปิดช่องระดับล่างขยับขึ้น เผยนายกฯเข้าข่ายได้รับการปรับด้วย
          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องเปรียบเทียบค่าตอบแทนทุกส่วนทั้งภาคราชการ เอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และองค์กรมหาชน แล้วเสนอกลับมาอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน
          นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการก.พ. ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหาร และบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ กล่าวว่า กรณีหลายองค์กรเสนอเรื่องขอปรับ ค่าตอบแทนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เกรงว่าจะเกิดความลักลั่น จึงตั้งกรรมการชุดนี้ ขึ้นซึ่งประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ก.พ.เสนอข้อมูลเบื้องต้นว่าข้าราชการประเภทต่างๆ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และองค์กรอิสระปัจจุบัน ได้รับการจ่ายค่าตอบแทนเท่าไร รวมถึงเงินประจำตำแหน่งในรูปค่าตอบแทนพิเศษ เงินเพิ่ม สวัสดิการ ซึ่งแต่ละหน่วยงาน มีกฎหมายกำหนดเองได้
          "แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอเรื่องเงินเดือน และเงินค่าตอบแทนรูปแบบต่างๆ มายังครม.ทำให้เกิดปัญหา แต่เดิมต้องผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) แต่ต่อมาได้แยกและเสนอ ขอแก้ไขกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ไม่มีหน่วยงานกลางดูแลจึงเกิดการลักลั่น ปัญหา ที่พบคือมีเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งเท่ากัน แต่บางกลุ่มมีเงินอื่นๆ เพิ่มเช่นค่าตอบแทนพิเศษ เบี้ยขยัน เป็นต้น"เลขาธิการ ก.พ.กล่าว
          เขากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรและหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความร่วมมือ แม้แต่ละองค์กรจะมีอำนาจพิจารณาแต่ก็ควรมีข้อเสนอไม่ควรให้เกิดความแตกต่างหรือมีความเหลื่อมล้ำ ส่วนของเงินเดือนข้าราชการในภาพรวม เนื่องจากไม่ได้ปรับมานานทำให้เพดานเงินเดือนปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ข้าราชการเริ่มที่ 15,000 บาท ปลัดกระทรวงสูงสุดอยู่ที่ 69,000 บาท ประกอบกับเมื่อมีการปรับฐานแรกเข้ารับราชการ 15,000 บาทไปแล้ว เพดานเงินเดือนด้านบนจะเหมือนถูกบีบให้แคบลงในการบริหารจัดการ จึงต้องขยับเพดานของระดับผู้บริหารที่อยู่ด้านบน เปิดกรอบเพดานเงินเดือนของข้าราชการระดับรองลงมาให้ขยับขึ้น แต่เนื่องจากต้องใช้งบจำนวนมาก จึงมีความเห็นหลายแนวทาง
          ที่ผ่านมา การพิจารณาระบบค่าตอบแทนจะพิจารณาจากตำแหน่งและเงินเดือนระนาบเดียว ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยฝ่ายบริหารสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ส่วนนิติบัญญัติคือประธานสภา และฝ่ายตุลาการคือประธานศาลฎีกา
          โดยคาดว่า การศึกษาโครงสร้างเงินเดือน ราชการจะแล้วเสร็จต้นปี 2557 และคาดว่าจะ กระทบหลายฝ่าย โดยเฉพาะบัญชีค่าตอบแทน ของฝ่ายการเมืองคือนายกรัฐมนตรีที่จะขยับ ขึ้นด้วย เพราะนายกฯอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ฝ่ายบริหารคือทั้งของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ดังนั้นถ้าไม่ขยับเงินเดือนของนายกฯ ตำแหน่งอื่นๆ ก็จะขยับไม่ได้แก้ปัญหา ค่าตอบแทน ลักลั่นของ หน่วยงานรัฐ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ราชภัฏขานรับจำกัดจำนวนบัณฑิตครู

          จากกรณี ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เตรียมขอความร่วมมือคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และสถาบันฝ่ายผลิตครู ในการควบคุมจำนวนรับนักศึกษาครูในปีการศึกษา 2557 นั้น ผศ.นันทกา ปรีดาศักดิ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อควบคุมจำนวนบัณฑิตครูให้เหมาะสมกับความต้องการ แต่คุรุสภาก็ควรมีจำนวนความต้องการที่ชัดเจน และแจ้งให้สถาบันทราบเพื่อให้สามารถวางแผนการรับนักศึกษาได้ หรืออย่างน้อยจะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ เพราะมหาวิทยาลัยจะต้องมีแผนการรับนักศึกษาล่วงหน้า ที่สำคัญการรับนักศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลมีกรอบที่ชัดเจนก็จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยได้
          "อย่างไรก็ตามอยากให้คุรุสภาคำนึงถึงสภาพพื้นที่และความต้องการของผู้เรียนด้วย เพราะนักศึกษาแถบอีสานหากไม่สามารถเข้าเรียนที่ส่วนกลางได้ก็มักเลือกเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ  ซึ่งในปีการศึกษา 2556 เรามีแผนรับนักศึกษา 19 สาขาวิชา จำนวน 1,000 คน แต่รับจริง 1,800 คน เนื่องจากความต้องการของเด็กในพื้นที่มีมาก" ผศ.นันทกา กล่าว
          ผศ.ประเสริฐ ลิ้มสุขวัฒน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า ตั้งแต่ตนรับตำแหน่งคณบดีฯ ในปี 2555 ได้หารืออธิการบดีเพื่อขอให้เริ่มจำกัดจำนวนรับนักศึกษาครู  ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวเพราะน่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาจำนวนครูล้นได้ แต่ตนก็คาดหวังว่าคุรุสภาจะใช้อำนาจอย่างมีขอบเขต ไม่มาล้วงลูกเรื่องหลักสูตรการสอนเหมือนที่เกิดปัญหากับสภาวิชาชีพอื่น
          ผศ.ละออง ภู่เงิน อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มรภ.บร.) กล่าวว่า ในความเป็นจริงอาจารย์ผู้สอนและคณะไม่ต้องการรับนักศึกษาเข้ามามาก เพราะการจำกัดจำนวนจะทำให้ควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนได้ดี แต่เนื่องจากจำนวนการรับนักศึกษาใหม่จะเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุรุสภา และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เอาจริงเอาจังและกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนลงมา น่าจะทำให้การจำกัดจำนวนครูให้เหมาะสมมีความเป็นไปได้มากขึ้น  อีกทั้งจากการสอบถามนักศึกษาครูที่เข้าใหม่ส่วนใหญ่ก็ต้องการให้มีการจำกัดการเข้าสู่วิชาชีพเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นวิชาชีพชั้นสูง และยังจะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถคัดเด็กที่มีคุณภาพและมีความตั้งใจเป็นครูอย่างแท้จริงได้
          "หากเรามีระบบการคัดเลือกเพื่อให้ได้คนที่อยากเป็นครูจริง ๆ เข้ามาเป็นครู ไม่ใช่ใครก็มาเป็นครูได้เหมือนปัจจุบันจะสามารถยกระดับวิชาชีพครูให้สูงขึ้นได้  เพราะคนที่สอบบรรจุเป็นครูได้อาจเป็นคนสอบเก่ง คือ ติวแล้วสอบ แต่เราก็มั่นใจเรื่องคุณภาพคุณธรรมไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราจำกัดจำนวนคนที่จะมาเรียนครูและจำนวนตำแหน่งครูที่จะบรรจุ เมื่อเด็กจบมาก็จะเป็นครูไม่ต้องออกจากวิชาชีพนี้เช่นเดียวกับคนที่เรียนแพทย์ได้จะเป็นการดี" ผศ.ละออง กล่าว.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 ก.ค. 2556 

โรงเรียนสุจริต สร้างเด็กเก่งแต่ไม่โกง

          ทั่วถิ่นไทยก้าวไกลการศึกษา
            วรางคณา อนันตะ นักประชาสัมพันธ์ สพม.39
          โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) ได้รับการคัดเลือกเป็น โรงเรียนนำร่องจาก 225 โรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมกับได้รับการคัดเลือกให้เป็น 12 โรงเรียนต้นแบบ ทดลองวิจัยป้องกันการทุจริต ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน
          คือ การมีทักษะกระบวนการคิด มีวินัย มีความซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และมีจิตสาธารณะ ให้โรงเรียนดำเนินการฝึกอบรมผู้บริหาร ครูและนักเรียน ให้เป็นโรงเรียนสุจริตนำร่อง ปลูกจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเป็นที่รู้จัก ภายใน 5 ปี พร้อมขยายผลสู่ชุมชน
          เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โรงเรียนได้นำครูและนักเรียนทั้งโรงเรียน ประกาศเป็นโรงเรียนสุจริต โดย ดร.สมเกียรติ บุญรอด ผู้อำนวยการ สพม. เขต 39 ได้เข้าเยี่ยมชมการจัดกิจกรรมพัฒนาครูและนักเรียนสู่โรงเรียนสุจริตในครั้งนี้ด้วย
          สำหรับปฏิญญาโรงเรียนสุจริต ประกอบด้วย 1.เราจะร่วมมือกันป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ 2.เราจะปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตระหว่างโรงเรียนและชุมชนให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน และ 3.เราจะสร้างเครือข่ายความซื่อสัตย์สุจริตระหว่างโรงเรียน และชุมชน ให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน
          เก็บของได้แล้วประกาศหาเจ้าของ เป็นประกาศหน้าเสาธงทุกเช้าของโรงเรียน หนึ่งในการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตของนักเรียนในโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา ที่ได้ของคืนทุกครั้งที่ของหาย
          การประกาศเป็น "โรงเรียนสุจริต" จึงส่งผลให้เด็กนักเรียน เป็น "เด็กดี เด็กเก่งแต่ไม่โกง"
         


ผุดห้องเรียนภาษาเข้มข้น

          นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. ได้หารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนางคอร์นีเลีย พีเพอร์ (H.E.Mrs.Cornelia Pieper) รมช.การต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะ ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตไทยประจำเยอรมัน และผอ.สถาบันเกอเธ่ ประจำประเทศไทย โดยการหารือมี 3 ส่วน สำคัญ คือ 1.ด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา 2.นำนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดอาชีวะและเทคนิคมามอบให้ไทย 3.ในส่วนของ สพฐ. เยอรมันให้ทุนการศึกษาแก่ครูสพฐ.ปีละ 10 ทุน รวม 4 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยประเทศไทยมีร.ร.เพียง 30 โรงเท่านั้น ที่เปิดสอนภาษาเยอรมัน มีนักเรียน 4,200 คน มีครูทั่วประเทศแค่ 34 คน ซึ่งในร.ร.ทั้งหมดนี้ จะมีศูนย์หลัก 5 แห่ง คือ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ร.ร.สตรีนนทบุรี ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ ร.ร.แก่นนครวิทยาลัย และร.ร.สตรีภูเก็ต
          นายกมลกล่าวต่อว่า ภายในปี 2561 จะมีครูเกษียณอีก 12 คน สพฐ.จึงเตรียมสร้างครูทดแทนอีก 40 คน ซึ่งเยอรมันสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ครูจะต้องอบรมที่สถาบันเกอเธ่ 1 เดือน ก่อนที่จะไปอบรมเกอเธ่ เยอรมันอีก 3 เดือน สพฐ.จะดูแลค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายส่วนตัว รมว.ศธ.ขอความร่วมมือให้ตั้ง Intensive Class หรือ ห้องเรียนแบบเข้มข้น ใน 30 ร.ร.ที่สอนภาษาเยอรมันในไทย อย่างน้อยร.ร.ละ 1 ห้อง มีสื่อการเรียนการสอนครบครัน

ไม่มีความคิดเห็น: