วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศธ.ยันไม่รับวุฒิมหาลัยเถื่อน

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปราบปรามวุฒิการศึกษาเถื่อนว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินการกับการแอบอ้างจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มาเปิดสอนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และการปลอมแปลงวุฒิเถื่อน จึงได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามวุฒิเถื่อน ซึ่งได้ดำเนินการรับเรื่องไว้ตรวจสอบประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว โดยมีผู้ส่งข้อมูลเข้ามาจำนวนมาก
          นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า สกอ.จัดกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและไม่รับรองวุฒิไว้ 2 กลุ่ม คือ 1.มหาวิทยาลัยที่อ้างว่าจัดการศึกษาร่วมกับต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยอดัมสัน สหรัฐอมริกา, International Academy of Management and Economics (IAME) ฟิลิปปินส์, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ยูอิน สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย สมาพันธรัฐสวิส โดยจะแจ้งให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับทราบว่า มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งนี้ จัดการศึกษาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
          "2.มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถสืบค้นต้นสังกัด ไม่มีตัวตน อาทิ มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก, มหาวิทยาลัยโรชวิลล์, มหาวิทยาลัยลาครอส, สหรัฐอเมริกา วิทยาลัยสไปเซอร์ เมโมเรียล สาธารณรัฐอินเดีย, Islamic University of South Africa สาธารณรัฐแอฟริกาใต้, Intercultural Open University ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, Dhammakaya Open University (DOU) สหรัฐอเมริกา, Darul Uloom Nadwatul Ulama สาธารณรัฐอินเดีย, Institut Francais de la Mode สาธารณรัฐฝรั่งเศส พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากหน่วยงานที่รับรองของประเทศต่างๆ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทั้ง 2 กลุ่มนี้สกอ.จะไม่รับรองวุฒิการศึกษา" นายเสริมศักดิ์กล่าว
          รมช.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า จะนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเว็บเพจ 'ศูนย์ปราบปรามวุฒิเถื่อน' เพื่อประกาศบนเว็บไซต์ของ สกอ. 
www.mua.go.th เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบแจ้งเบาะแส สกอ. ยังได้แจ้งว่ามีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งแอบอ้างว่าจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งสั่งการให้ สกอ.หาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลหลักฐาน และพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ประกอบการดังกล่าวต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ศธ.ตั้งคณะทำงานเพิ่มอันดับ'PISA'

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าจาก นโยบายที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ไต่อันดับสูงขึ้นในโครงการประเมินผล นักเรียนนานาชาติ ของประเทศสมาชิก องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ PISA เพราะผลประเมินครั้งล่าสุด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จากประเทศ ที่เข้าร่วมประเมิน 60 ประเทศนั้น ส่วนตัว เห็นว่าถ้าจะขับเคลื่อนให้สำเร็จจะต้อง ประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนและขับเคลื่อน พร้อมกันทั่วประเทศในทิศทางเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานต่างคนต่างทำ จึงไม่เห็นผลเท่าที่ควร ฉะนั้นจึงจำเป็น ต้องมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นแม่งาน
          "คณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย 5 หน่วยงานหลัก คือ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา ด้านการสอน นักการศึกษา ร่วมเป็นคณะทำงาน" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว และว่า เรื่องนี้ต้องรณรงค์ในวงกว้างเพราะการสอบ PISA ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงอาจไม่ได้รับความร่วมมือ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

อนุกมธ.ตัดงบรถตู้เหลือ 400 ล. สพฐ.ซื้อแจกร.ร.ดีศรีตำบล 300 คัน

          เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ทบทวนการจัดซื้อรถตู้ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอขอจัดตั้งงบประมาณปี 2557 เพื่อจัดซื้อรถตู้ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 1,000 กว่าคัน ว่า คณะอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ปรับลดงบ จัดซื้อรถตู้เหลือประมาณ 300 คัน จาก 1,000 กว่าคัน ใช้งบคันละกว่า 1.2 ล้านบาท รวมประมาณ 400 กว่าล้านบาท ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอจัดสรรให้กับโรงเรียนดีศรีตำบลจำนวน 300 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนกลุ่มนี้เป็นศูนย์กลางของโรงเรียนที่มีคุณภาพในพื้นที่ และให้การช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนดีศรีตำบลด้วย ส่วนทางโรงเรียนจะนำรถตู้ไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน หรือรับส่งนักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ใกล้เคียง  เป็นเรื่องที่บริหารจัดการกันเองได้  อย่างไร ก็ตาม ในวันที่ 26 กรกฎาคม คณะอนุกรรมาธิการ ด้านการศึกษาฯ จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
          "เดิมคณะอนุกรรมาธิการด้านการศึกษาฯ จะขอตัดงบจัดซื้อรถตู้ทั้งหมด 1,000 กว่าคัน แต่ สพฐ.เสนอว่าจริงๆ แล้วประโยชน์ของรถตู้ยังมีอยู่ในการช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนดีศรีตำบลที่ สพฐ.ได้ลงทุนจัดงบสนับสนุนโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการ ด้านการศึกษาฯ ก็รับฟังเหตุผลส่วนนี้" นายชินภัทรกล่าว
          นายชินภัทรกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องการจัดซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และครูในโซน 3 ภาคกลาง และภาคใต้ ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ชะลอการลงนามสัญญาจัดซื้อ เพื่อให้พิจารณาดูข้อคิดเห็นของบางหน่วยงาน หลังจากได้จัดประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีออคชั่นไปแล้ว ซึ่งในส่วนของข้อสังเกตที่แจ้งมา แสดงความเห็นว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามระเบียบที่กำหนดหรือไม่ เมื่อมีข้อสังเกต และทักท้วงมา สพฐ.จะต้องดำเนินการ เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการในขั้นต่อไป โดยขณะนี้ สพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และระหว่างนี้ สพฐ.จะตอบข้อสังเกตไปยังหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นมา รวมทั้ง รายงานว่า สพฐ.ได้ดำเนินการอะไรบ้าง ก่อนที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: