วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

10 คุณสมบัติครูแนะแนวสู่อาเซียน

สอท.ฝากนักเรียน ติดตามข่าวสารใกล้ชิด ปฏิทินแอดมิสชั่นส์-รับตรงปี 2557          จากการสัมมนาทางวิชาการครู และอาจารย์แนะแนวทั่วประเทศ ประจำปี 2557 เรื่อง "ข้ามอนาคตระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในบริบทประชาคมอาเซียน" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มก. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะที่เพื่อนบ้านเราเตรียมพร้อมเช่นกัน ดังนั้นโรงเรียนต่างๆ ต้องเตรียมตัวให้กับนักเรียนก่อนที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะจากประสบการณ์นิสิต ที่มีความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี จะมีโอกาสสูงที่จะเลือกไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในต่างประเทศไหนที่ต้องการก็ ได้ อีกทั้งต้องมีความสามารถทางด้านศิลปะวัฒนธรรม และกล้าแสดงออกจะดีมาก
          นางศศิธร อหิงสโก ผู้จัดการสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้เตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหลายเรื่อง เช่น การปรับปฏิทินเปิด-ปิดภาคการศึกษา ปรับปฎิทินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยระบบกลาง การรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ และการจัดสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ดังนั้นฝากนักเรียนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปีการศึกษา 2557 ขอให้ติดตามข่าวสารจาก สอท.(
www.cuas.or.th)อย่างใกล้ชิด
          ด้านนายภาคินัย สุนทรวิภาต ประธานเครือข่ายสหวิชาชีพ สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ครูแนะแนวในยุคประชาคมอาเซียน จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
          1.มีวิสัยทัศน์ เป้าหมายในการทำงานและมีแผนงานที่ดี
          2.มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และรอบรู้ในหลายด้าน ทั้งต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา
          3.ต้องทำให้เด็กรู้จักคิดว่าตัวเองเป็นอย่างไร คิดเป็น และไม่เฟ้อฝัน
          4.ครูต้องเข้าใจ อ่านใจเด็กได้ว่าถนัดและสามารถอะไร เพื่อชี้แนะเด็กได้ถูกทาง
          5.ครูต้องมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริตและเห็นประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าส่วนตัว
          6.ครูต้องไวและทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการปรับแผนการจัดกิจกรรมให้เด็ก หาข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน อาชีพที่เป็นที่ต้องการและเงินเดือนแต่ละอาชีพ เพื่อบอกเด็กเตรียมตัว
          7.ครูต้องแนะนำสิ่งที่เด็กชอบ และชอบในสิ่งที่ทำ เพื่อค้นพบศักยภาพของตัวเอง
          8.มองทุกอย่างเป็นระบบ
          9.ให้ลูกศิษย์ช่วงชิงโอกาสทองของชีวิต
          และ 10.ต้องรู้จักประยุกต์ทฤษฎีให้สอดคล้องกับการปฏิบัติที่เป็นจริง

ที่มา: http://www.siamrath.co.th


คอลัมน์ : สถานี ก.ค.ศ. : เกณฑ์เชิงประจักษ์ฉบับใหม่(จบ)
          จรุงรัตน์ เคารพรัตน์
            ผอ.ภารกิจระบบตำแหน่งและวิทยฐานะที่ 1
          สัปดาห์ที่แล้วนำเสนอสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มี วิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ทุกตำแหน่ง ซึ่ง ก.ค.ศ.กำหนดใหม่ไปแล้ว 4 ข้อ วันนี้จะขอนำเสนอสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการ ศึกษาควรรู้ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ดังนี้
          5.มีข้อเสนอในการพัฒนางานที่ต่อยอดจากผลงานดีเด่นที่สอดคล้องกับสาขา/สาขา วิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขอรับการประเมิน จำนวน 1 เรื่อง โดยข้อเสนอในการพัฒนางานต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ประเด็นในการพัฒนา เป้าหมายในการพัฒนา วิธีการพัฒนา แนวทางการตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนา
          6.ผลงานดีเด่นที่ใช้ในการขอมีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและ วิทยฐานะเชี่ยวชาญที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ไม่สามารถนำมาเสนอเพื่อขอรับการประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้อีก
          7.ต้องผ่านการประเมิน 3 ด้าน คือด้านที่ 1 ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านที่ 2 ด้านความรู้ความสามารถ และด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ส่วนที่ 2 ผลงาน ดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และส่วนที่ 3 ผลงานทางวิชาการ การพัฒนางานตามข้อตกลง
          8.ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินจากคณะกรรมการประเมิน 3 คน ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด
          9.หากผู้ขอรับการประเมินรายใดเปลี่ยนตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่ ใช่หน้าที่ตามตำแหน่งเดิมก่อนการประเมิน ให้ยุติการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้
          10.ให้มีการกลั่นกรองและคัดเลือกผู้ขอรับการประเมิน แล้วประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกทางเว็บไซต์และเปิดโอกาสให้มีการคัด ค้านได้ภายในระยะเวลา 15 วัน เมื่อ ก.ค.ศ.พิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบและวินิจฉัยคุณสมบัติแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นเพียงผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดเท่านั้น หลังจากนั้น ก.ค.ศ.จะแต่งตั้งคณะกรรมการไปประเมิน ณ สถานที่ปฏิบัติงานต่อไป
          11.การใดที่ได้ดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ ว5/2554 ก่อนที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้มีผลใช้บังคับให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตาม หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ สำหรับขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไปให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้
          ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ไปยังส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบและถือปฏิบัติแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ ว13 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556
          เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่น ที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการ พิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ทุกตำแหน่ง ซึ่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่
www.otepc.go.th
 มติชน ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 2556 


ศธ.เร่งวางแผนทำไอทีเพื่อการศึกษา
          ศธ.เตรียมทำแผนระยะยาวปรับปรุงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  พร้อมผลักดันจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นองค์กรกลางในการ กำหนดทิศทางนโยบายการใช้สื่อเทคโนโลยีพื่อการเรียนการสอน
          วานนี้(26ส.ค.)นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.กำลังเตรียมทำแผนระยะยาวเพื่อปรับปรุงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการ สื่อสารเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระแสทั้งโลก ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากกระแสนี้ และจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ศธ. ได้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณากันต่อไป คือ เรื่องของสื่อที่จะนำมาใช้กับแท็บเล็ต โดยปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีสื่อที่ผลิตแล้ว 2 รูปแบบ คือแบบออฟไลน์ 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่1-ป.3 จำนวน 2,310 บทเรียน ส่วนมัธยมศึกษาปีที่1 และม.3 มี 1,020 บทเรียน และยังมีแอพพลิเคชั่นสำหรับแท็บเล็ต ชั้น ป.2 วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ 400 เรื่อง และที่กำลังพัฒนาของชั้น ป.2 ป.3 ใน 5 วิชาหลัก อีก 1,100 เรื่อง
          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า สพฐ. ได้ทำวิจัยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ใช้แท็บเล็ตในปี 2554-2555 พบว่า นักเรียน ป.1 ในวิชาภาษาไทย มีคะแนนเพิ่มขึ้น 56.82 % คณิตศาสตร์ 55.45 % วิทยาศาสตร์ 56.14 % สังคม 52.95% วิชาศิลปะ 53.64 % การอาชีพ 54.55% สุขศึกษา 57.27% ส่วนภาษาอังกฤษ 62.05 และยังพบว่า การใช้แท็บเล็ตมีข้อดี คือ เด็กสนุกสนาน มีแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้เด็กที่เรียนรู้ช้า หรือเด็กพิเศษมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ เนื้อหาในแท็บแล็ตส่วนใหญ่ยังเหมือนในหนังสือเรียน มีปัญหาทางเทคนิค เช่น แบตเตอรี่หมดเร็ว เครื่องร้อน เป็นต้น และหลายพื้นที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น ภาคใต้ และปัญหาที่ครูบางส่วนยังไม่มีแท็บแล็ต และไม่มีทักษะด้านไอซีทีทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้
          “ขณะนี้ทราบว่า มีการผลิตครูเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้แล้วจำนวนมาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องอัตราบรรจุ และที่สำคัญติดเรื่องใบประกอบวิชาชีพ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนว่าต่อไปจะต้องมีครู เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โรงเรียนละ 1 คน ดังนั้นต่อไปจะต้องมีครูเทคโนโลยีฯ เพิ่มกว่าหมื่นคน“ นายจาตุรนต์กล่าว
          ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าการพัฒนาครูมีส่วนสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาขาดครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งหากมีการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมแล้ว แนวคิดการใช้ครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ก็อาจปรับเปลี่ยนไป โดยอาจใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งสามารถใช้ครู 1 คนต่อนักเรียน 1,000 คนได้ โดยศธ.จะต้องกำกับดูแลการเรียนการสอนทางไกลให้บรรลุผลอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อเป็น องค์กรกลางในการกำหนดทิศทางนโยบายการใช้สื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะการจัดตั้งสถาบันดังกล่าวจะเป็นการรวมหน่วยงานหลายแห่งเข้าด้วยกันเป็น องค์การมหาชนดังนั้นภารกิจหลักของศธ.จะต้องเร่งผลักดันจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้น มาให้ได้ เพื่อให้การพัฒนาสื่ออิเลคทรอนิกส์เดินหน้าต่อไปได้

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: