วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สพฐ.ชงก.ค.ศ.สอบครูผู้ช่วยรอบ 2 หวังแก้ปัญหาขาดบัญชีเรียกบรรจุ เสนอคัด 47 ผอ.สพท.แทนเกษียณ

 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายพิธาน พื้นทอง รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (ผอ.สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยกรณีนายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 4 และนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ระบุว่า การสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ประจำปี 2556 ที่ผ่านมา ทำให้หลายเขตพื้นที่ฯ ประสบปัญหา และมีตำแหน่งว่างจำนวนมาก เนื่องจากมีผู้สอบขึ้นบัญชีได้น้อย ว่า จากการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ผ่านมา ได้สะท้อนปัญหาการขาด บัญชีที่จะเรียกมาบรรจุเป็นครูผู้ช่วย และเสนอให้จัดสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปเพิ่มเติม ขณะนี้ สพฐ.กำลังแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ เพื่อสอบถามอัตราที่ต้องการเปิดสอบบรรจุเพิ่ม จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาเปิดสอบเพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์การสอบบรรจุ และคัดเลือก ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม ก.ค.ศ.ว่าจะใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ให้เขตพื้นที่ฯ คัดเลือกเอง และให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบ และจัดสอบหรือไม่ หรือจะใช้หลักเกณฑ์ใหม่
          "การสอบรอบใหม่ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2/2556 เดิมกำหนดรับสมัคร และสอบคัดเลือกช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน แต่ปีนี้น่าจะไม่ทัน ถ้าจะใช้ปฏิทินเดิม เพราะล่าช้าใน การสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปในครั้งที่ 1/2556" นายพิธานกล่าว
          นายพิธานกล่าวต่อว่า ส่วนการสรรหา และคัดเลือก ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.แทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการนั้น สพฐ.ยังไม่ได้วางแผน เพราะยังมีผู้ที่สอบขึ้นบัญชีเป็นผู้บริหารสถานศึกษาอยู่ และยังขอใช้บัญชีเหล่านั้นมาบรรจุทดแทนได้ ทั้งนี้ สำหรับการสอบคัดเลือก ผู้อำนวยการ สพท.ที่จะมีตำแหน่งว่างประมาณ 47 ตำแหน่งจากการเกษียณฯ และตำแหน่งที่ว่างอยู่จากกรณีการฟ้องร้องศาลปกครองนั้น จะต้องเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณาเช่นกัน ซึ่งในส่วนของ สพฐ.อยากให้จัดสอบเลย เพราะการที่เขตพื้นที่ฯ ไม่มีผู้อำนวยการ สพท.ทำให้มีปัญหาในการบริหารมาก
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

"จาตุรนต์" สนใจวิธีต่ออายุราชการให้ครูแก้ขาดแคลนครู
          "จาตุรนต์" สนใจแนวคิดต่ออายุราชการให้ครูถึง 65ปี เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู แต่ย้ำแก้ปัญหาขาดครูต้องใช้หลายวิธี เล็งนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น
          วานนี้(15ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งภายใน 5 ปีจะมีการขาดแคลนถึง 103,743 อัตราว่า จากข้อมูลพบว่าในสาขาวิชาที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ จะมีการขาดแคลนครู รวม 51,462 อัตรา ซึ่งในปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการได้รับอัตรากำลังคืน 100% จำนวน 8,300 อัตรา ส่วนปี 2556 ยังไม่ได้พิจารณา แต่ทราบว่าจะได้รับคืนอัตราเกษียณทั้ง 100% เป็นปีสุดท้าย ทั้งนี้การคืนอัตราเกษียณ 100% คงเป็นเพียงวิธีการหนึ่งแต่ไม่ใช่คำตอบ เพราะหากขอคืนอัตราไปสักระยะอาจจะเจอปัญหาเพดานจำนวนข้าราชการที่ไม่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศ
          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนครูต้องดูทั้งระบบ ทั้งการขอคืนอัตราเกษียณฯ การเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่ครูเกินไปยังโรงเรียนที่ขาดครู การเกลี่ยให้ครูได้สอนตรงตามวิชาเอก รวมทั้งการหาครูใหม่มาทดแทน ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตครูไม่ตรงกับความต้องการ โดยจากข้อมูลของสภาคณบดีคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยพบว่าใน 5 ปีตั้งแต่ปี 2556-2560 จะมีผู้จบการศึกษาสายครูทั้งสิ้น 259,522 คน แม้มากกว่าจำนวนที่ขาด แต่คาดได้ว่าในสาขาขาดแคลนก็ยังจะเป็นปัญหาใหญ่อยู่ต่อไป
          " ผมคิดว่าการเพิ่มคนอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมีการนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนให้มากขึ้น และนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาช่วยในการเกลี่ยกำลังคน รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรอัตรากำลังคนที่เหมาะสม" นายจาตุรนต์ กล่าว
          ต่อข้อถามถึงข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะขอขยายเวลาการเกษียณอายุราชการของครูในสาขาขาดแคลนออกไปเป็น 65 ปี นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มของการที่สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตนมองว่าเป็นวิธีหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ แต่คงต้องพิจารณาในรายละเอียด รวมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าจะจ้างแบบไหน เพราะเป็นเรื่องที่จะกระทบในส่วนอื่น แต่ส่วนตัวเห็นว่าการขยายเวลาเพื่อให้เป็นครูผู้สอนต่อไปเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ.
ที่มา: http://www.dailynews.co.th


ดึงผลงานแก้ยาเสพติดให้ความชอบ ร.ร.

          ดึงผลงานแก้ยาเสพติดให้ความชอบ ร.ร. คาดโทษสถานศึกษาละเลยปัญหา แฉ นร.ยุ่งเกี่ยว 3%-ย้ำห้ามไล่เด็กออก...
          นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงนโยบายป้องกันปัญหายาเสพติดในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาว่า เป็นนโยบายหลักของศธ. ซึ่งได้มอบหมายให้สถานศึกษาทุกแห่งทำการเอกซเรย์นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศว่ามีผู้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวนมากน้อยแค่ไหน หากได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้วให้นำผู้ติดยาเสพติดไปบำบัดรักษา ขณะเดียวกัน จะมีการขยายผลไปหาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เสพรายอื่น และผู้ค้า ซึ่งจะต้องประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ตนได้เน้นย้ำสถานศึกษาทุกแห่ง เมื่อตรวจพบว่ามีนักเรียนนักศึกษาคนใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะต้องไม่ให้มีการไล่นักเรียนนักศึกษาออกอย่างเด็ดขาด โดยต้องถือว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นผู้เสพที่จะต้องได้รับการบำบัด หากเราผลักเด็กออกจากสถานศึกษาย่อมเป็นการผลักภาระ หรือผลัก ปัญหาไปให้สังคมโดยที่ไม่ได้มีการแก้ไข อย่างไร ก็ตาม ข้อมูลล่าสุดที่ ศธ.ได้รวบรวมพบว่า มีนักเรียนนักศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา รวมนักศึกษาอาชีวศึกษาด้วย ดังนั้น สถานศึกษาที่ตรวจพบแล้วว่ามีนักเรียน นัก ศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะต้องเร่งหากลยุทธ์ในการคลี่คลายและ ป้องกันปัญหาเพื่อไม่ให้คนอื่นๆ เข้าไปสู่วงจรยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม
          “สำหรับสถานศึกษาที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมมีแนวคิดที่จะให้นำผลงานมาใช้ประกอบการพิจารณาความดีความชอบให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาและคณาจารย์ในโรงเรียนนั้นๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ส่วนสถานศึกษาใดที่ปล่อยปละละเลย ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริง หากทราบก็จะถือว่าเป็นสถาบันยอดแย่ ซึ่งผู้บริหารและคณาจารย์ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ผมอยากให้ทุกสถานศึกษาดูแลเด็กเหมือนดูแลลูกของตัวเอง เพราะหากอนาคตของชาติเข้าไปสู่วังวนยาเสพติด อนาคตประเทศชาติก็คงฝากความหวังไว้ที่ใครไม่ได้” รมช.ศธ.กล่าว.
ที่มา: http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: