วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สพฐ.เวิร์กช็อปการศึกษาพื้นฐาน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ.เตรียมจัดประชุม เวิร์กช็อป ใหญ่ 3 เรื่องตลอดเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ สพฐ.รับผิดชอบอยู่ เริ่มจากเวิร์กช็อปแรกจะจัดขึ้น 18 สิงหาคมนี้เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยเฉพาะ เชิญผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาให้ความเห็นใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นแรก การระดมความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียนแต่ละช่วงชั้นควรจะเป็นเช่นไร เน้นแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การเพิ่มผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทย เพิ่มทักษะการ คิดคำนวณความสามารถในการใช้เหตุผล ประเด็นที่สอง การระดมความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ การจัดการเรียนการสอนจริงในชั้นเรียน การสร้างความเข้าใจให้กับครู และประเด็นที่สาม การวัดและประเมินผล
          ส่วนเวิร์กช็อปเรื่องที่ 2 จะจัดในวันที่ 24 สิงหาคม เป็นเรื่องการใช้ไอซีทีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยจะนำเสนอข้อมูลสภาพการใช้ไอซีทีเพื่อกระบวนการจัดการเรียนการสอน การพัฒนามาตรฐานของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประสิทธิภาพในการใช้สื่อไอซีทีเพื่อการเรียนการสอนที่สำคัญจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมในการวิจัยและพัฒนาการใช้ ไอซีทีในการสอน และเวิร์กช็อปสุดท้าย จะจัดในวันที่ 30 สิงหาคม เรื่องการพัฒนาครูและระบบประเมินวิทยฐานะ เป็นการระดมความคิดเกี่ยวกับแนวคิดการประเมินวิทยฐานะครู ที่สอดคล้องกับสมรรถนะจริงของครูและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั้ง 3เรื่องนายจาตุรนต์ จะเข้าร่วมประชุมด้วยเพราะเวิร์ก ช็อปที่สพฐ.จัดขึ้นเป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรี เมื่อจัดครบทั้ง 3 ครั้ง สพฐ.จะนำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์ในช่วงเดือน กันยายน
คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 ส.ค. 2556


เพิ่มรายหัว นร.แบบ Top up สกศ.เร่ง 4 หน่วยงานสรุปวงเงินเน้น รร.ทุรกันดาร
          กศน.- สช.มึนสะเทือนเงินเดือนครู 15,000 บาท          เมื่อวันที่ 14 ส.ค.56 น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สกศ.พิจารณาแนวทางการปรับหลักสูตรการคำนวณการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีเด็กที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวขั้นพื้นฐานทุกระบบการศึกษาทั้งประเทศ จำนวนประมาณ 11 ล้านคน
          โดยรัฐจะจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กทุกคนใน 5 รายการคือ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ดังนั้น หากจะมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวใหม่ สกศ.จึงได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาร่วมหารือ
          เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้นทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ถ้าเปลี่ยนการจัดสรรรายหัวใหม่ เป็นการจัดสรรแบบ Fixed cost ในส่วนค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็นแก่โรงเรียน ยกเว้นค่าเครื่องแบบ กับค่าอุปกรณ์การเรียน ที่ยังจัดสรรให้เด็กโดยตรง เมื่อคำนวณแล้วไม่แตกต่างจากการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 5 รายการ ที่ทำอยู่มากนัก
          ที่ประชุมจึงเสนอว่าให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบเดิม แต่ให้มีการจัดสรรเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่าย Top up ให้เฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีปัญหาจริงๆ โดยให้ทุกหน่วยงานไปสรุปข้อมูลทั้งหมดว่าควรจะจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาใดบ้าง วงเงินเท่าไหร่มาเสนอ สกศ.ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.นี้ เพื่อจะได้รวบรวมเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ในวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.56 ต่อไป
          "เบื้องต้นจากการรับฟังข้อมูลพบว่า การใช้สูตรค่าใช้จ่ายรายหัวปัจจุบันในส่วนของ สพฐ.จะมีโรงเรียนขนาดกลางและเล็กได้รับผลกระทบ เพราะมีจำนวนนักเรียนน้อยเมื่อได้ค่าใช้จ่ายรายหัวมาจะต้องนำไปใช้จัดการเรียนการสอนด้วยซึ่งไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ 14,000 โรง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วน สอศ.จะมีประมาณ 180 กว่าวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นวิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยสารพัดช่าง สำหรับ กศน.ระบุว่าการจัดสรรวิธีนี้ กศน.ไม่ได้รับค่าจ้างครู จึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กไปจ้างครู เมื่อค่าใช้จ่ายรายหัวน้อยก็ส่งผลให้ครูได้เงินเดือนน้อยตามไปด้วย โดยเด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารตามเกาะตามดอย ขณะที่ สช.ได้รับผลกระทบเฉพาะเงินเดือนครู ซึ่งอยู่ระหว่างขอปรับเงินเดือนเป็น 15,000 บาท" น.ส.ศศิธารา กล่าว
ที่มา: http://www.siamrath.co.th


สภาการศึกษาจับมือ UNESCO และ OECD 
ยกระดับการศึกษาไทย สู่สากล

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้มีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมแต่เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์โลกและประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติต่างๆ พบว่าขีดความสามารถของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง
          ด้วยเหตุนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงได้จัดทำ โครงการข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยร่วมมือกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือUNESCO) และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากลเกิดการเรียนรู้อย่างเท่าทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน และอนาคตโดยมีความสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและแนวนโยบายแห่งรัฐได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ประเทศ ในการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการหารือกับ UNESCO และ OECDมาเป็นระยะโดยกำหนดขอบเขตข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาสำคัญของประเทศไทยไว้ 5 ประเด็น คือ
          1. การประเมินระบบการศึกษาโดยรวม เน้น เรื่องคุณภาพ ความเสมอภาค และการปฏิรูป นโยบายกฎระเบียบ โครงสร้าง นโยบายพิเศษ และแนวทางปฏิบัติเพื่อปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนประชาสังคมวัฒนธรรมอาเซียน
          2. นโยบายด้านครู และการเสริมสร้างความสามารถของครูและผู้บริหารโรงเรียน การเลื่อนวิทยฐานะ โดยการวิเคราะห์ทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งการประเมินโอกาสเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ (การเสริมสร้างความสามารถครู การเลื่อนวิทยฐานะ การยกระดับให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง การเป็นผู้นำในโรงเรียน การมีส่วนร่วมในสังคมการเรียนการสอนในพหุวัฒนธรรม ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน)
          3. การพัฒนาหลักสูตร เน้นความสามารถด้านภาษาความเป็นพลเมืองโลก ความมีขันติธรรม ความเสมอภาคและพลเมืองศึกษา
          4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่เป็นสากลได้แก่ การประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติหรือ PISA การทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET และตัวชี้วัดอื่นที่เกี่ยวข้อง
          5. การเรียนโดยใช้สื่อเคลื่อนที่ (Mobile Learning) เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาและฝึกอบรมครู
          ในการนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศ ประจำปี 2556 เรื่อง "การศึกษาเพื่ออนาคตประเทศไทย" ระหว่างวันที่23 - 25 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมการประชุมสัมมนา กว่า 1,000 คน โดยในการประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศสมาชิกUNESCO และ OECD จากภูมิภาคอื่นมาเทียบเคียงกับผลการศึกษาของประเทศไทย รวมถึงมีผู้แทนจาก UNESCO และ OECD มาให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำในการจัดทำ "ข้อเสนอนโยบาย ด้านการศึกษาของประเทศไทย"
          และหลังจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร UNESCO ครั้งที่ 192 ในเดือนกันยายน 2556 และการประชุมสมัยสามัญของ UNESCO ในเดือนตุลาคม 2556 นี้อาจมีการนำเสนองานด้านการศึกษาที่ประเทศไทยทำร่วมกับUNESCO และ OECD ด้วย เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากที่ประชุมและนำมาปรับปรุงร่างข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของระบบการศึกษาไทย และพัฒนาความสามารถของบุคลากรทางการศึกษาของประเทศเพื่อให้การศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
          ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เลขที่ 99/20 ถนนสุโขทัยแขวงดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร.0-2241-8284 ต่อ 2411และเว็บไซต์
www.onec.go.th

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: