วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สพฐ.เร่งผลักดันให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้

สพฐ.เร่งผลักดันให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้ จ่อเสนอ 2 โครงการให้"จาตุรนต์"พิจารณา
          สพฐ. ผุด 2 โครงการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบตามนโยบาย “จาตุรนต์” พุ่งเป้าแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และการส่งเสริมเด็กไทยคิดวิคราะห์ ประยุกต์ความรู้ไปใช้ในชีวิต
          วันที่ (20 ส.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบเมื่อวันที่ 18 ส.ค. มาพิจารณาเพื่อวางแผนขับเคลื่อนการปฎิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบและได้ข้อสรุปว่า สพฐ.จะดำเนินการ 2 เรื่องเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนและเพื่อช่วยให้ประเทศไทยไต่อันดับการประเมินพิซ่า (PISA) ตามนโยบายของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
          โดยประเด็นแรกที่ สพฐ.จะดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมใน คือ การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาภาษาไทยและการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้เมื่อเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2556 สพฐ.จะให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง สแกนนักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) เพื่อหาเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่สามารถ อ่านออกเขียนได้ และนำตัวเด็กกลุ่มนี้มาสอนเสริมให้เพื่อให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ จากนั้น เมื่อใกล้สิ้นสุดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2556 ซึ่งนักเรียน ป.3 ทุกคนจะต้องเข้ารับการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ซึ่ง สพฐ.จัดขึ้นนั้น สพฐ.ตั้งเป้าจำนวนนักเรียนที่คะแนนผ่านเกณฑ์ สามารถอ่านออกเขียนได้จะต้องใกล้เคียง 100 % ทั้งนี้ สพฐ.จะมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาไปจัดทำแนวทางสแกนวัดระดับทักษะภาษาไทยของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 พร้อมทำคู่มือให้เสร็จภายในช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2556 นี้
          “นอกจากนี้ สพฐ.จะมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของการปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งนี้ด้วย โดยจะมีการพัฒนาการเรียนการสอนที่ฝึกให้เด็กประยุกต์ข้อมูลความรู้ด้านภาษา การคำนวน และวิทยาศาสตร์ มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมถึงการจัดทำคู่มือฝึกอบรมครู ในการส่งเสริมกระบวนการคิดตามกลุ่มสาระการเรียนรู้”เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า สพฐ.จะเร่งดำเนินการทั้งสองเรื่องดังกล่าว และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อ นายจาตุรนต์ พิจารณาเห็นชอบต่อไปคาดว่าจะเสนอได้ภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้
 ASTV ผู้จัดการออนไลน์

โผซี 11ศึกษาฯ ผ่านครม.ไม่พลิกล็อค
          โผซี 11 ผ่านครม.แบบไม่พลิกล็อค "จาตุรนต์"แจงพิจารณาเป็นทีมไม่ได้พิจารณาเป็นรายตัว
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแต่งตั้งและโยกย้ายผู้บริหารระดับ 11 แทนผู้เกษียณอายุราชการ ดังนี้ นายอภิชาติ จีระวุฒิ จากเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แทนนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการกพฐ.,นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการสภาการศึกษา(สกศ.) มาเป็นปลัดศธ. แทนนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดศธ. และรับโอนนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ( ก.พ.ร.) เป็น เลขาธิการกกอ. แทนนายอภิชาติ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งวันที่ 1 ตุลาคม 2556
          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุผลในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ตั้งต้นจากตำแหน่งเลขาธิการ กกอ.ซึ่งรัฐบาลโดยโดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบก.พ.ร. เสนอให้ ศธ.รับโอนนายทศพรมาอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการกกอ. เนื่องจากเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานด้านอุดมศึกษา เพราะเคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เคยเป็นรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งทำหน้าที่จัดการศึกษาในสถาบันระดับสูง เมื่อเสนอมาตนก็เห็นว่านายทศพร ที่เป็นเลขาธิการก.พ.ร.มานาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดระบบ เกี่ยวกับการบริหารราชการ รวมทั้งการบริหารงานบุคลคลด้วย จึงได้พิจารณารับโอนมาเป็นเลขาธิการกกอ. เพราะเห็นว่าน่าจะช่วยงานในหลายเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยรวมถึงระบบที่สกอ.กำลังสร้างขึ้นเพื่อดูแลอุดมศึกษาในภาพรวม เมื่อรับโอนย้ายนายทศพรมาเป็นเลขาธิการกกอ. แล้ว จึงต้องขยับนายอภิชาติออกมา
          การแต่งตั้งโยกย้ายซี 11 ครั้งนี้ ตนพิจารณาเป็นทีม ไม่ได้พิจารณาเป็นรายตำแหน่ง หากแต่ดูว่า จะจัดทีม ซี 11 อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับการทำงานในภาพรวมของ ศธ. เพราะฉะนั้น จึงตัดสินใจให้นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อยู่ในตำแหน่งเดิมเพื่อสานงานต่อ แล้วโยกนายอภิชาติ มาเป็นเลขาธิการ กพฐ. ซึ่งนายอภิชาตินั้น ก็มีอาวุโสสูง มีประสบการณ์ในการทำงานมานาน ส่วนนางสุทธศรีนั้น มีความเชี่ยวชาญในการทำนโยบาย และยังมีอาวุโสที่เหมาสม ทั้งนี้ เพราะในทีม ซี 11 ของ ศธ.นั้น มีผู้ที่เหลืออายุราชการนานถึง 7 ปี อยู่ 2 คนแล้ว คือ นายชัยพฤกษ์ และนายทศพร ถ้าเลือกคนอายุน้อยมาเป็นซี 11 ผู้บริหารที่เหลืออายุราชการน้อยกว่า ก็จะหมดโอกาสเติบโต
          "ที่ผ่านมาศธ. มีปัญหามาตลอดว่าจะต้องรับอินพอตร์ผู้บริหารจากหน่วยงานอื่นตลอด ทำให้คนในศธ.เองหมดโอกาสที่จะเติบโต เพราะฉะนั้นผมจึงคุยกับนายกรัฐมนตรีว่า ในอนาคตขอให้ดูแลข้าราชการจากศธ.บ้าง อาจส่งออกไปเติมโตที่หน่วยงานภายนอก ซึ่งนายกฯก็รับปากว่าจะดูแลให้"นายจาตุรนต์กล่าวและว่า ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับ10 แทนอัตราเกษียณที่ว่างลงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

“จาตุรนต์” เผยผลสอบทุจริตครูผู้ช่วยเบื้องต้นชี้กระบวนการตรวจสอบยังไม่เสร็จ
          “จาตุรนต์” เผยเบื้องต้นผลสืบข้อเท็จจริงครูผู้ช่วย ชุด “พนิตา” พบมีข้าราชการถูกระบุเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงและไม่มีความผิด ชี้กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้นเปิดเผยไม่ได้ พร้อมสั่งให้ ปลัด ศธ.ไปศึกษา กม.แนวทางที่ รมว.ศึกษาจะต้องดำเนินการในความผิดลักษณะนี้มาเสนอ ด้าน “ชินภัทร” ไม่ได้ไปรับ สว.3 ด้วยตนเอง แจงติดราชการต่างจังหวัดรอรับทางไปรษณีย์
          วานนี้ (20 ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นเหตุพิเศษ ว 12 ได้ส่งสรุปผลสอบ นายอนันต์ ระงับทุกข์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายสุเทพ ชิตยวงศ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.อดีตผู้ช่วยเลขานุการ กพฐ. นายไกร เกษทัน ผอ.สำนักติดตามและประเมินผล สพฐ.อดีต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. และข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ตนพิจารณา โดยในจำนวนนี้มีคนเข้าที่ข่ายกระทำผิดวินัยอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงมอบให้ นางพนิตา ในฐานะปลัด ศธ.ไปศึกษาข้อกฎหมายว่าในกรณีความผิดเช่นนี้ รมว.ศึกษาธิการ ควรจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไรและให้สรุปเสนอมายังตน คาดว่าภายใน 2-3 วัน ปลัด ศธ.จะเสนอมาและเมื่อถึงเวลานั้นจะถือว่าขั้นตอนการสอบสวนเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการสืบสวนฯรวมทั้งตนจะสามารถให้ข่าวในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการได้ แต่ ณ เวลานี้กระบวนการสอบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตนจึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับผลสอบได้
          “ผมจำไม่ได้แน่นอนว่ามีข้าราชการที่ถูกระบุว่าทำผิดวินัยร้ายแรงกี่คน อาจจะ 4-6 คน ซึ่งจำนวนที่ขยายเพิ่มขึ้นจาก 3 คน คือ นายอนันต์ นายสุเทพ และนายไกร เพราะมีระดับเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และจำนวนนี้มีคนที่ถูกสรุปว่าไม่ผิดด้วย” นายจาตุรนต์ กล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามว่า จะพิจารณาขยายเวลาตามที่ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้เสนอขอขยายเวลาการส่งเอกสารหลักฐาน กรณีเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษา โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (SP2) : ไทยเข้มแข็ง 2555 สูญหายและส่อว่าจะเกิดความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตนก็จะรอฟังข้อเสนอจาก คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ที่มีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)เป็นประธาน ซึ่งทราบว่ากำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรจึงจะส่งให้ตนพิจารณาต่อไป
          ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า วานนี้ (19 ส.ค.) ตนไม่ได้เดินทางเข้าพบคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ที่มีนายอภิชาติ เป็นประธาน เพื่อรับบันทึกการแจ้งการรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแบบ สว.3 ตามที่คณะกรรมการฯ เชิญมาเพราะติดราชการต่างจังหวัด แต่จะรอรับทางไปรษณีย์ ส่วนคณะกรรมการสอบสวนฯจะสรุปข้อกล่าวหาอย่างไรนั้น ไม่กังวล เพราะที่ตนทำงานด้วยความมุ่งมั่นเต็มที่ โดยที่ผ่านมาการทำงานทุกอย่างก็เป็นไปตามระบบ และได้มีการรวบรวมเอกสารข้อมูลไว้ตลอด เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงได้ทุกข้อกล่าวหา
ASTV ผู้จัดการออนไลน์

"จาตุรนต์" เล็งส่งออกผู้บริหารศธ.มีโอกาสเติบโตข้ามห้วย
          "จาตุรนต์" แจงรับโอน "ทศพร" จากก.พ.ร.ข้ามห้วยมานั่งสกอ.เพราะรัฐบาลขอมา แต่มั่นใจฝีมือจะบริหารงานอุดมศึกษาได้เป็นอย่างดี พร้อมยอมรับศธ.รับผู้บริหารจากหน่วยงานอื่นหลายครั้งทำให้ข้าราชการของศธ.เสียโอกาสเติบโต เผยคุยนายกฯ แล้วให้ช่วยดูแลส่งออกผู้บริหารศธ.ไปโตที่หน่วยงานอื่นได้บ้าง
          วานนี้(20ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวถึงการโยกย้ายผู้บริหารของศธ.ว่า เหตุผลในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ในส่วนของนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ( ก.พ.ร.) ที่รับโอนมาเป็น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) นั้น รัฐบาลโดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบ ก.พ.ร. เป็นผู้เสนอชื่อมาให้ศธ.รับโอน เพราะเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานด้านอุดมศึกษา เนื่องจากเคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามาก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะทำหน้าที่จัดการศึกษาในสถาบันระดับสูงได้ ซึ่งตนก็เห็นว่านายทศพร เป็นเลขาธิการก.พ.ร.มานาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดระบบเกี่ยวกับการบริหารราชการ รวมทั้งการบริหารงานบุคคลด้วย จึงได้พิจารณารับโอนมาเป็นเลขาธิการกกอ. เพราะเห็นว่าน่าจะช่วยงานในหลายเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบที่สกอ.กำลังสร้างขึ้นเพื่อดูแลอุดมศึกษาในภาพรวม ทั้งนี้เมื่อรับโอนย้ายนายทศพรมาแล้ว จึงต้องขยับนายอภิชาติออกมา ส่วนตำแหน่งของนายอภิชาติ จีระวุฒิ ที่ย้ายไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) และนางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ที่ย้ายไปเป็นปลัด ศธ.นั้น ตนได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลรวมในเรื่องการทำงานเป็นทีมที่จะเกิดประโยชน์กับการทำงานของศธ. ขณะเดียวกันนางสุทธศรี ยังมีความอาวุโสที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญในการทำนโยบายด้วย
          “ที่ผ่านมาศธ. มีปัญหาว่าจะต้องรับผู้บริหารจากหน่วยงานอื่นมาตลอด ทำให้คนในศธ.เองหมดโอกาสที่จะเติบโต เพราะฉะนั้นผมจึงคุยกับนายกรัฐมนตรีว่า ในอนาคตขอให้ดูแลข้าราชการของศธ.บ้าง โดยอาจส่งออกไปเติบโตที่หน่วยงานภายนอก ซึ่งนายกฯก็รับปากว่าจะดูแลให้ ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับ10 แทนอัตราเกษียณที่ว่างลงนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ" รมว.ศธ.กล่าว
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: