วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

คอลัมน์: เขียนจริงๆ...ให้อ่านเล่นๆ: มาตรฐานการศึกษาไทย

โดย ดร.ชัยฤทธิ์ ทองรอด
            กรรมการบริหารสมาคมนักวิจัย

          จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างวันที่ 9-20 กันยายน ที่ผ่านมาจากโรงเรียน ทั่วประเทศ โดยใช้แบบทดสอบคัดกรองนักเรียนที่อ่านไม่ออกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และประถมศึกษาปี6 ผลสแกนเด็กนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ได้ พบว่าเด็ก ป.3 มีนักเรียนจำนวน 64,000 คน คิดเป็นร้อยละ 8  แยกเป็นนักเรียนที่อ่านไม่ได้เลยจำนวน27,000 คน หรือร้อยละ 6.27  ที่อ่านได้แต่อยู่ในระดับปรับปรุง ประมาณ 23,700 คน หรือร้อยละ5.32 อ่านได้แต่ไม่เข้าใจ ประมาณ 14,600 คนหรือร้อยละ 3.2 อ่านได้ เข้าใจบ้าง ประมาณ62,000 คน หรือร้อยละ 14 และนักเรียนชั้น ป.6 ประมาณ 32,000 คน เป็นร้อยละ60 จากนักเรียนทั้งหมด 800,000 คน เป็นนักเรียนที่อ่านไม่ได้เลยจำนวน 7,880 คน หรือร้อยละ 1.77 ที่อ่านได้แต่อยู่ในระดับปรับปรุง ประมาณ 6,750 คน หรือร้อยละ อ่านได้แต่ไม่เข้าใจ ประมาณ7,080 คน หรือร้อยละ 1.59 และอ่านได้ เข้าใจบ้าง ประมาณ 51,580 คน หรือร้อยละ 11.6
          ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสำหรับนักเรียนทั้งสองระดับ ที่อ่านหนังสือไม่ได้ต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้น อาจใช้วิธีการสอนเพิ่มเติมในช่วงเย็น ขึ้นอยู่กับสถานศึกษานั้นๆ โดยนักเรียนจะต้องได้รับการดูแล  และพัฒนาเพื่อให้อ่านหนังสือได้ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ที่ได้มอบภารกิจและนโยบาย ให้นักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หมดไป ซึ่งสพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้โรงเรียนและครูผู้สอนได้มีแผน ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ ให้อ่านหนังสือได้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งสพฐ.จะติดตามความคืบหน้าทุกเดือน เพื่อปรับลดจำนวนนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ได้ให้เหลือน้อยที่สุด
          จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงมาตรฐานการศึกษาของไทย จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) - The Global Cometitiveness Repor t 2012-2013 เป็นการประชุม "เวทีเศรษฐกิจโลก" ที่ได้รับการยอมรับ ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในอันดับสุดท้ายคือ อันดับ 8 ที่มีคะแนนต่ำสุดโดย กัมพูชาเป็นอันดับ 6  และเวียดนามที่เป็นอันดับที่ 7 หากมาเทียบกับ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ที่เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ เราต้องมาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาในบ้านเราควรให้ความสำคัญ กับหลักสูตรการเรียนในระดับประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษา มากกว่านี้ ส่วนใหญ่เราจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่จะเข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่า
          ในขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึงชั้นมัธยมต้น ควรจะเน้น การเขียนไทย อ่านไทย เหมือนหลักสูตรในสมัยก่อน อย่างน้องก็ปูพื้นฐานใน การเขียน การอ่าน และนำไปเป็นวิชาหนึ่งในการสอบเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างน้อยนักเรียนก็ยังต้องเอาใจใส่ในวิชานี้เพราะมีผลในการเรียนต่อ ส่วนในชั้น มัธยมศึกษาตอนปลายอาจจะลดวิชานี้ลงไปได้ เพราะอย่างไรเด็กจะสนใจวิชาที่จะต้องไปสอบแข่งขันเรียนต่อเท่านั้น ส่วนวิชาที่ไม่ได้มีผลในการสอบเข้าเรียนจะสนใจ แค่สอบผ่าน ในการเรียนในระดับอุดมศึกษาจะให้ความสำคัญในการ เขียนเป็นเป็นอย่างมากในการทำรายงาน ไปถึงการเขียนวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ต้องอาศัยทักษะ การอ่านให้เข้าใจ และเขียนให้ชัดเจน  ถ่ายทอดแนวคิดออกมาเป็นตัวหนังสือให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งการศึกษาในประเทศไทยยังขาดพื้นฐานตั้งแต่การสอนในชั้นประถมเป็นต้นมา อย่าเอาแต่เรื่องเปลือกนอกมาทำเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่นการแต่งกาย การไว้ทรงผม ดูจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ส่วนนักเรียนที่จบมา จะอ่านออก เขียนได้ ดูเป็นเรื่องรอง มารับความจริงและช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้มาตรฐานการศึกษาของไทยดีกว่านี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ศธ.เล็งทำแผนสื่อการเรียนใหม่

          วังจันทร์เกษม : "จาตุรนต์" ย้ำแทบเล็ตมีประโยชน์ เด็กเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เล็งจัดทำแผนแม่บทสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมดันแบบวัดผลภาษาไทยมาตรฐานทั้งประเทศ
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการจัดซื้อแทบเล็ตล่าช้าเพราะวิธีการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด สเปกให้มีความโปร่งใสใช้เวลาเกินกว่าปีงบประมาณ โดยลืมไปว่าความล่าช้านั้นทำให้นักเรียนและครูเสียโอกาสอันประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้น ศธ. จึงจะมีการประมวลการจัดซื้อ 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา เพื่อมาปรับปรุงและจัดทำระบบการจัดซื้อให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันให้มีความสุจริตโปร่งใสด้วย
          อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ามีงานวิจัยข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณจาก 500 กว่าโรงเรียนถึงการศึกษาเรียนรู้จากแทบเล็ต พบว่ามีนักเรียนและครูเห็นว่าแทบเล็ตมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มมากที่สุด ทั้งนี้ ศธ. เห็นว่าระบบการผลิตเนื้อหาที่จะใช้กับแทบเล็ตต้องมีระบบคัดกรองและกำหนดมาตรฐานสำหรับเนื้อหา โดยนายกรัฐมนตรีและ ศธ. มีความสนใจในการทำแผนแม่บทที่ครอบคลุมการใช้สื่อในอุปกรณ์เทคโนโลยีทุกชนิด ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ค มือถือ และแทบเล็ต ให้ครอบคลุมทุกชั้นเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ ศธ. ต้องเร่งดำเนินการ
          โดยขณะนี้เด็กตั้งแต่ชั้น ป.1-ป.3 ต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระวิชา ทำให้มีเวลาเรียนน้อยมาก และการสอนของครูที่เน้นให้อ่านและจำเป็นคำๆ ดังนั้น ในปีการศึกษานี้ควรมีการแยกเด็กมาติวเข้ม สอนพิเศษ หรือแยกออกมาเป็นห้องต่างหาก ที่ผ่านมามีการทำมาแล้วเพียงบางจุด แต่ต่อไปนี้จะต้องทำ ทั้งระบบเหมือนกัน การจัดทำการวัดผลภาษาไทยจะอยู่ในส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะหารือกับนายกรัฐมนตรีถึงแผนการปฏิรูปการศึกษาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

นักวิชาการจี้ศธ.ปรับแผนลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง
          นักวิชาการจี้ศธ. ปรับแผนลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง หลังสำรวจทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ทั่งครูและเด็กเกิดความเครียด งบฯกระจุกแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและเล็กใกล้ตาย ช่องว่างทางการศึกษามีเพิ่มมากขึ้น
          นายประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะศึกษาศาสตร์ มมส. ได้สำรวจการจัดการศึกษาในโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 300 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พบว่านโยบายการเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง และการให้โรงเรียนขยายห้องเรียนเพิ่มได้ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพการศึกษา ทำให้ครูและนักเรียนเกิดความเครียด ซึ่งจากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนพบว่า จำนวนนักเรียนที่มากเกินไปทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่นอกเหนือจากการบรรยายเนื้อหาหน้าห้องเรียนได้ โดยครูผู้สอนมีข้อเสนอว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 35 คนต่อห้อง จึงจะสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ โดยปัจจุบันโรงเรียนขนาดใหญ่จะมีนักเรียนประมาณ 50 คนต่อห้อง
          “เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาลึกลงไป พบอีกว่าการที่ศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนเพิ่มนักเรียนต่อห้องได้ ทำให้ปัญหาการฝากเด็กเพิ่มมากขึ้นด้วย และมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจากการสำรวจพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่บางโรงเรียนมีนักเรียนมากถึง 6,000 คน ซึ่งถือว่ามากเกินไป ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง โดยปัจจุบันพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่จะมีนักเรียนเฉลี่ยประมาณ 3,000 คนขึ้นไป ขณะที่โรงเรียนขนาดกลาง และเล็ก แทบไม่มีเด็กเข้าเรียน เพราะทุกคนมุ่งแต่จะเข้าไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ขณะ เดียวกันศธ. ใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว เมื่อโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีเด็กเข้าเรียน งบประมาณก็ไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงเรียนขนาดใหญ่ เกิดปัญหาโรงเรียนแย่งกันรับเด็ก ขณะที่ภาครัฐก็มุ่งแต่จะพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทำให้ช่องว่างทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น” นายประวิต กล่าวและว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ศธ. ต้องกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ไม่ให้มากเกินไป โดยจำนวนที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 35 คนต่อห้องเรียน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ไม่สามารถรับนักเรียนได้มากเกินไป เพื่อกระจายเด็กไปสู่โรงเรียนขนาดกลาง และเล็ก ลดปัญหาฝากเด็ก ทำให้ครูดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง เกิดการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: