วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ศธ.สั่งตั้งวอร์รูมยกระดับบทเรียนรับโครงการนานาชาติ

ศธ.ตั้งวอร์รูมยกระดับบทเรียนวัดผลสัมฤทธิ์ทางการประเมินนักเรียน ตามโครงการนานาชาติ          เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการประชุม ปฏิบัติการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการประเมินตามโครงการนานาชาติของนักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี (สสวท.) ผู้บริหารองค์กรหลัก นักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 50 คน เข้าร่วม
          นายจาตุรนต์กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ได้ไปหารือกับฝ่ายการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ด้วยตนเองแล้ว โดยพบว่าประเทศฟินแลนด์ไม่ได้สนใจคะแนนสอบ PISA ร่วมถึง ประเทศจีนด้วย ที่ไม่เคยเข้าสอบ PISA มาก่อน แต่พอสอบก็ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศไทยหากจะพัฒนาทั้งสามด้านให้ดีต้องตั้ง เป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดในประเด็นสำคัญๆ เพื่อให้ คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ซึ่งหากคุณภาพการศึกษาดีขึ้นก็จะส่งผลให้อันดับในการสอบ PISA ดีขึ้นด้วย
          ดังนั้นจึงต้องมีการถอดบทเรียนและประสบการณ์ เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ทั้งระบบ อาทิ ต้องรู้ว่าข้อสอบวัดอะไร และถ้าจะสอนให้เด็กสอบได้ต้องสอนอย่างไร โดย สสวท.เคยเสนอว่า ให้โรงเรียนนำข้อสอบ PISA ไปให้เด็กทดลองทำ และนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ว่า เด็กทำข้อสอบข้อใดไม่ได้ และทำไม่ได้เพราะอะไร ครูต้องสอนอย่างไร ทั้งนี้หวังว่า ข้อมูลที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้จะนำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป
          นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท. กล่าวว่า ระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จจะต้อง สามารถจัดให้นักเรียนมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน ไม่ว่านักเรียนจะมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจอย่างไร เช่น ประเทศที่ได้คะแนนสูงๆ อย่างประเทศ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลี เป็นต้น สำหรับประเทศไทยค่าดัชนีเฉลี่ยของสถานะทางสังคม ของโรงเรียนกลุ่มสูงและต่ำ มีความแตกต่างกัน ค่อนข้างมาก ขณะที่ระบบโรงเรียนที่ประสบความ สำเร็จส่วนใหญ่ให้อิสระแก่โรงเรียนในการกำหนด การเรียนการสอน และออกแบบการประเมินเอง
          "ขณะที่ผลการศึกษาการเรียนการสอนในระดับนานาชาติพบว่า ยิ่งเด็กใช้คอมพิวเตอร์มาก คะแนนยิ่งต่ำ ส่วนเด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ในระดับปานกลางคะแนนจะดีขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์ไม่สามารถมาแทนครูได้ ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป และหากจะใช้ก็ควรให้อยู่ในการดูแลของครู โดยสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ไม่ใช่การปรับหลักสูตร เพราะหลักสูตร ส่วนใหญ่ดีอยู่แล้ว แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ครูสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็น" นางสุนีย์กล่าว
          นายธงชัย ชิวปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ PISA อันดับแรกจะต้องพัฒนาสื่อในการอ่าน การเขียนและการคิดวิเคราะห์ขึ้นเป็นการเฉพาะ สำหรับใช้ในการเรียนการสอนของเด็กระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป และในระยะเร่งด่วน ปีการศึกษา 2556-2557 เสนอให้ ส่วนกลาง/เขตพื้นที่ จัดทำข้อสอบกลางตามแนว PISA สำหรับให้โรงเรียนนำไปใช้ในการสอบปลาย ภาคกับนักเรียน ในบางรายวิชาที่ตกลงกัน และจะ ต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อสอบที่โรงเรียนใช้ว่ามีความเหมาะสม มีความน่าเชื่อถือได้เพียงใดต้องมีการ พัฒนาอย่างไร โดยทั้งหมดนี้จะต้องกำหนดให้เกิด ความชัดเจนลงไปในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง รวมถึงวัฒนธรรม การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย
          นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีแผนปฏิบัติการ PISA โดยจะเริ่มจากระยะสั้น เตรียมการกับนักเรียน ม.2 ที่จะสอบในปี2558  แผนระยะกลาง ที่จะเตรียมสำหรับการสอบในปี 2561 และแผนระยะยาวเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน โดยจะต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการ PISA ขึ้นมาเป็น PISA วอร์รูม ที่มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ปรับเกณฑ์มาตรฐานครู

          นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคุรุสภา เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาคัดเลือกรองเลขาธิการคุรุสภา 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายก๊ก ดอนสำราญ รองผอ.สพป.เลย เขต 2 นายสนอง ทาหอม ผอ.ร.ร.บ้านตาอุด สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 นายสำเริง กุจิรพันธ์ ผอ.ร.ร.อนุบาลนครปฐม สพป.นครปฐม เขต 1 และนายสุรินทร์ อินทรักษา ผอ.ร.ร.บ้านป่าเหมือด สพป.เชียงใหม่ เขต 2 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี พร้อมกันนี้ยังหารือถึงข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2556 และข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2556 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. เห็นชอบ และอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นเมื่อมีมาตรฐานวิชาชีพฉบับใหม่ คุรุสภาจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ นำไปพัฒนาหลักสูตรทั้งปริญญาตรี โท และเอก
          "มาตรฐานวิชาชีพใหม่นี้จะเป็นแนวทางให้ครูและผู้บริหารทางการศึกษาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้ โดยคุรุสภาจะสรุปหัวใจหลักๆ เผยแพร่ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพได้รับทราบต่อไป โดยจุดเน้นหลักๆ จะมุ่งเน้นให้ครูรุ่นใหม่สอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์และพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ บริหารงานตรงไปตรงมา ศึกษานิเทศก์รุ่นใหม่ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม" นายไพฑูรย์กล่าว


อดีตครูผช.ส่อกลับราชการไม่ได้ นักกม.ชี้เหตุขาดคุณสมบัติมาตรา 49 เผยร้องทุกข์ 180 คน-ก.ค.ศ.รอข้อสรุป

          แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มอดีตครูผู้ช่วยตามรายชื่อของกรมสอบสวนคดีพิเศษ 344 รายที่ส่อว่า ทุจริตการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 จนถูกให้ออกจากราชการไปแล้วบางส่วน ได้ยื่นร้องทุกข์มายังสำนักงาน ก.ค.ศ. แล้วจำนวน 180 คน และอยู่ระหว่างที่ให้ทางโรงเรียนต้นสังกัดของกลุ่มอดีตครูผู้ช่วยส่งรายละเอียดที่จะชี้แจงทั้งหมดมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.โดยได้มีหลายโรงเรียนส่งข้อมูลกลับมาแล้ว จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรม การข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และร้องทุกข์กันต่อไป
          "ส่วนหลังจากที่ประชุม ก.ค.ศ. ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้มีมติให้กลุ่มอดีตครูผู้ช่วยที่ถูกให้ออกจากราชการ โดยที่ไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และเรียกให้มาชี้แจง ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งนั้น ถึงตอนนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. ยังไม่ได้จัดประชุมชี้แจงแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังต้องรอข้อสรุปทั้งหมดก่อน เนื่องจากมีความเห็นจากนักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่ากรณีของกลุ่มอดีตครูผู้ช่วยที่ถูกให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 49 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ก็ต้องให้ออกจากราชการโดยทันที โดยไม่ต้องมีการสอบสวนอะไร และ เมื่อขาดคุณสมบัติก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้ารับราชการ ดังนั้นกลุ่มอดีตครูผู้ช่วยที่ถูกให้ออกตามมาตรานี้ให้ถือว่าไม่เคยรับราชการ ฉะนั้น จะให้กลุ่มอดีตครูผู้ช่วยเข้ารับราชการได้อย่างไร แต่หากมีการ ตีความว่าทุจริต ก็ต้องดำเนินการสอบอดีต ครูผู้ช่วยเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นข้าราชการ จะต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของราชการ แต่ถ้า วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติทั่วไป ก็ไม่ต้องดำเนิน การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม หากดูตามหลักแล้ว กลุ่มอดีตครูผู้ช่วยเหล่านี้ไม่ได้ทุจริต แต่มาอยู่ในกระบวนการบกพร่องในศีลธรรมอันดีจนทำให้ ก.ค.ศ.วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติในส่วนนี้
          ด้านนางศิริพร กิจเกื้อกูล ว่าที่ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ รายละเอียดข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่หากเข้ามา รับตำแหน่งแล้วจะไปศึกษาเรื่องนี้และอาจจะต้องขอรับนโยบายจากนายจาตุ
รนต์
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: