วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เขตอัด 'คุรุสภา-ก.ค.ศ.' เมินฟันครูผช. 'อภิชาติ-ศิริพร' ยังไม่รับลูกดีเอสไอ อ้างรอข้อมูลก่อนเช็กบิล 2 พันราย

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่าทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แจ้งให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ประมาณกว่า 2,000 รายที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องรอข้อมูลจากดีเอสไอก่อน รวมทั้งจะขอประชุมภายในสำนักงาน ก.ค.ศ.เพื่อขอทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับกรณีปัญหาการสอบครูผู้ช่วย
          นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 5  กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพป.ขอนแก่น เขต 5 ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกเป็นครูผู้ช่วย ก็พบว่ามีบางคนขาดคุณบัติ อย่างกรณีปฏิบัติหน้าที่สอนไม่ครบ 3 ปีตามที่กำหนด แต่ทาง ผู้บริหารโรงเรียน ก็ทำหนังสือรับรองมาให้ และยังมีกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ออกมาโดยคุรุสภาไม่ครบ 3 ปี แต่ทางโรงเรียนรับรองให้ว่าทำงานครบ 3 ปี ซึ่งแสดงว่าโรงเรียนรับบุคคลดังกล่าวเข้าไปเป็นครูอัตราจ้างโดยที่ไม่มีใบอนุญาตฯ โดยกรณีเหล่านี้ทางคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 ได้มีมติตัดสิทธิและให้ออกจากราชการไปแล้วเพราะขาดคุณสมบัติ อีกทั้งยังได้มอบให้เจ้าหน้าที่นิติกร ไปแจ้งความดำเนินการคดีอาญาแล้ว ฐานใช้เอกสารทางราชการเท็จ โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
          ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 5 กล่าวต่อว่า ในประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สอบครูผู้ช่วย เคยสอบถามสำนักงาน ก.ค.ศ.แล้ว แต่ก็ไม่มีความชัดเจน รวมทั้งกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทางคุรุสภาก็นิ่งเฉยที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบ พอทำเรื่องสอบถามไป ก็เงียบ ทั้งนี้ อยากให้ ก.ค.ศ.มีความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ เพื่อเขตพื้นที่การศึกษาจะได้ดำเนินการต่อไป ไม่เช่นนั้นเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่กล้าจะขยับอะไร
          "การให้กลุ่มอดีตครูผู้ช่วยกลับเข้ารับราชการนั้นยังสับสนว่าจะเอาระเบียบไหนมาบังคับใช้ เพราะครูผู้ช่วยยังไม่ได้เป็นข้าราชการครู เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนดในเรื่องการกลับเข้ารับราชการระบุไว้เฉพาะข้าราชการครูเท่านั้น และในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ระบุว่าหากใครขาดคุณสมบัติในการสอบคัดเลือกครู ให้สามารถออกได้โดยไม่ต้องสอบก็ได้ ดังนั้น วันนี้ ก.ค.ศ.ควรต้องวางแนวปฏิบัติให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสน" นายอรรถพลกล่าว
          นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จะเร่งแก้ปัญหาการบรรจุครูผู้ช่วยที่เป็นปัญหาค้างคาอยู่ ซึ่งในส่วนของการขาดคุณสมบัติตั้งแต่การสมัครสอบ เป็นประเด็นใหม่ที่ดีเอสไอพบ ยังต้องรอข้อมูลส่วนนี้ เพราะบางครั้งข้อมูลที่ดีเอสไอพบเมื่อมาดูตามแง่มุมของ ก.ค.ศ.แล้ว อาจจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงตามที่ดีเอสไอพบก็ได้
มติชน ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 2556 

ต้องรื้อระบบการผลิตครู
            เลาะเลียบคลองผดุงฯ
            ตุลย์ ณ ราชดำเนิน 
tulacom@gmail.com

          สังเกตว่างานปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ 2 ในยุคที่มี จาตุรนต์ ฉายแสง ถูกจับวางเป็นเสนาบดีการศึกษา ซึ่งมาพร้อมกับ ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้มาอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดี และมี เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รับบทช่วยว่าการฯ เริ่มพูดไปในทิศทางเดียวกัน
          เห็นได้จากทุกงานจะมีสูตรสำเร็จในการบรรยายหรือนโยบาย ที่เสนาบดีมอบหมายอธิบายความเพื่อให้หน่วยงาน 5 แท่ง ของ ศธ. ต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะคุณภาพมาตรฐานทางการศึกษาไทยวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ต้องทำอย่างทุ่มเทแบบไม่มีวันหยุด
          จังหวะที่จะเรียกพลังความร่วมมือเพื่อยกคุณภาพการศึกษาไทยได้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่า จี้ไปที่ตัวเลขการจัดอันดับการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ และการประเมินผลที่หน่วยงานในประเทศ ออกมาตีแผ่ผสมโรง
          แค่นี้ก็ยากที่จะสรรหาคำแก้ต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่กำลังตกเป็นจำเลยใหญ่น่าจะพุ่งเป้าไปที่สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ในการผลิตครู ตามด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องถูกผ่าตัด
          จับหางเสียงจากผู้ช่วยเสนาบดีการศึกษา ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ขึ้นบรรยายในงาน 121 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทย หัวข้อ อนาคตของการผลิตครูเพื่อเป็นพลังแห่งการพัฒนาชาติ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สดๆ ร้อนๆ 29 กันยายน นี้เอง
          ปัจจุบันเรามีตัวเลขครูที่จะเกษียณอายุใน 15 ปีข้างหน้า ประมาณ 2.8 แสนคน และมีตัวเลขผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ประกอบวิชาชีพครู 6 แสนคน          ขณะที่ในแต่ละปีฝ่ายผลิตจะมีผลผลิตครูออกมาเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5 หมื่นกว่าคน ซึ่งมีความต้องการใช้ครูแทนอัตราเกษียณเต็มที่ ไม่เกินปีละ 2 หมื่นคน แต่ปรากฏว่าบางสถาบันรับนักศึกษาครู 5,600 คน ถามว่าจะเอาคุณภาพมาจากไหน ถึงกับกราบขอร้องให้เลิกรับในลักษณะนี้ เมื่อขอแล้วไม่ฟังเหตุผล สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ จะต้องรื้อระบบการผลิตครูใหม่ทั้งหมดและจะมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้สังคมได้รับรู้ถึงคุณภาพความน่าเชื่อถือ          เพราะในชีวิตเกิดมาไม่เคยเห็นผู้บริหารการศึกษาคนใด ในโลก รับคนเข้ามาเรียนเพื่อตกงาน
ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod

ลดโปรเจกต์รร.ขนาดเล็ก 'อภิชาติ' ให้เวลาครูสอนดี / 'สุทธศรี' พร้อมลุยปฏิรูปการศึกษา
          ที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 56 นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. วันแรก ถึงนโนบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือการกำหนดวันปิด-เปิดภาคเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา และการจัดการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีมติขยับวันเปิดภาคเรียนไปในเดือน ก.ย.โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต้องมีการขยับตาม แต่รมว.ศึกษาธิการ ได้แสดงความห่วงใยเรื่องการสอบปลายภาคของนักเรียนที่จะไปตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบ จึงมอบหมายให้ สพฐ. หารือถึงข้อสรุปและเสนออีกครั้ง
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนนโยบายในการทำงานเท่าที่หารือกับรองเลขาธิการ กพฐ. ทั้ง 3 คนแล้ว เห็นว่างานในความรับผิดชอบของ สพฐ. มีมากประกอบกับมีงานนโยบายทั้งจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่เมื่อสั่งการลงไปแล้วจะต้องกระเพื่อมไปถึงโรงเรียนจึงหารือกันว่าจะทำอย่างไรที่จะลดงานธุรการของครูผู้สอนให้มากที่สุด ดังนั้นสพฐ. จะต้องกลับมาทบทวนนโยบาย หรือกิจกรรมที่ปัจจุบันมีมากถึง 162 แผนงาน/โครงการ ที่ส่งไปถึงเขตพื้นที่ และโรงเรียน
          "ในส่วนของโรงเรียนนั้นมีหลายขนาด ตั้งแต่เล็กจิ๋วไปจนถึงใหญ่พิเศษ บางแห่งมีครูเพียง 1-2 คน แต่ก็ต้องทำกิจกรรมแผนงานโครงการเหมือนกับโรงเรียนใหญ่ซึ่งไม่เป็นธรรม โดยจะต้องมาคลี่ดูโครงการเพื่อทำให้ชัดว่าโครงการใดไม่จำเป็นสำหรับโรงเรียนบางประเภทก็ต้องตัดออกไป ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนทั้ง 30,000 กว่าแห่ง จะต้องทำแผนงาน/โครงการเหมือนกันทั้งหมด อาจจะเหมือนกันแค่ 10 แผนงาน/โครงการ ส่วนโครงการอื่นๆ ก็มาดูตามกำลังความจำเป็น โครงการแบบปูพรมที่เคยทำก็น่าจะรวบพรมได้แล้วเพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมากขึ้น ให้เด็กได้เรียนรู้ อ่านออกเขียนได้มากขึ้น เพราะการอ่านออกเขียนได้จะเป็นเครื่อง หมายในการเรียนการสอนที่สูงขึ้น" นายอภิชาติ กล่าว
          ขณะที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างการมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัด ศธ. ซึ่งเป็นการเข้าทำงานในตำแหน่ง ปลัด ศธ. เป็นวันแรกว่า ตนไม่คาดคิดว่าจะได้รับตำแหน่ง ปลัด ศธ.เพราะเป็นงานที่ไกลเกินเอื้อม แต่เมื่อได้รับโอกาสนี้ก็จะมุ่งมั่นที่จะทำงาน โดยจะยึดคำสั่งสอนของนายสิปปนนท์ เกตุทัตอดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่เคยสั่งสอนตนตั้งแต่เข้ารับราชการใหม่ๆ ว่า ให้ทำงานเพื่องานอย่าคาดหวังอะไร และสิ่งนั้นจะตามมาเอง อย่างไรก็ตาม งานในตำแหน่งดังกล่าวคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในเชิงบริหารมากขึ้น ซึ่งตนจะพยายามขับเคลื่อนงานต่างๆ และประสานองค์กรหลัก ศธ. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และ รมว.ศึกษาธิการให้สำเร็จลุล่วงต่อไป อาทิ การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้มีความเชื่อมโยงกันการพัฒนาครูและการผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศเป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: