วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'จาตุรนต์' ย้ำเรียนจบแบบไม่มีคุณภาพไม่ได้

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะฟื้นการจัดทดสอบกลางทั่วประเทศรวมทั้งให้มีการตกซ้ำชั้นนั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ตนยังไม่ได้กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน เพียงแต่ตั้งประเด็นว่าการที่ไม่ให้เด็กตกซ้ำชั้นหรือซ้ำวิชาเป็นสาเหตุให้มีการปล่อยเด็กที่เรียนอ่อนมาก เช่น เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ผ่านขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมีจำนวนไม่น้อยที่เรียนจนจบมัธยมแล้วยังอ่านหนังสือไม่ได้เลยหรือไม่ ดังนั้นควรจะต้องมีการแก้ไข แต่เรื่องดังกล่าวถือว่ามีความซับซ้อน ยุ่งยาก เพราะการจะให้เด็กตกซ้ำชั้น ถ้าไม่มีมาตรการ ไม่มีระบบรองรับก็จะไม่เกิดผลอะไร เพราะครูกับโรงเรียนก็คงจะไม่ยอมให้เด็กสอบตกอยู่ดี เพราะเวลานี้ครูวัดผลกันเอง และอยู่ภายใต้ความกดดันของผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ปกครอง ที่ไม่อยากให้เด็กตกซ้ำชั้น ถึงแม้เด็กจะเรียนไม่ได้ หรือเรียนไม่รู้เรื่องเลยก็อยากให้ผ่านไป เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจึงโยงมากับเรื่องการทดสอบวัดผลกลางที่ได้มาตรฐาน โดยต้องไปคิดกันว่าควรจะต้องมีการสอบวัดผลกลางระดับชั้นใดบ้าง มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งในหลายประเทศก็ใช้การวัดผลกลางเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แต่ก็ต้องทำระบบวัดผลกลางให้ได้มาตรฐานด้วย
          "เวลานี้หลายคนเป็นห่วงว่าถ้าให้ตกซ้ำชั้นจะทำให้เด็กเสียอนาคต เสียเวลา และทำใจไม่ได้ แต่ปัญหาคือ คนที่เป็นห่วงเหล่านั้น ทำไมจึงทำใจได้ที่ปล่อยให้เด็กเรียนกันแบบไม่รู้เรื่อง จบม.6 แล้วยังอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ทำไมจึงยอมปล่อยให้เด็กเสียอนาคตแบบนี้ อีกทั้งการซ่อมเสริมที่ทำอย่างทุกวันนี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เห็นผลจริง เช่น ให้นักเรียนมาทำความสะอาดห้องแล้วก็ให้ผ่าน ทั้งที่เด็กก็ยังอ่านไม่ออกอยู่ดี ดังนั้นจึงต้องพูดทั้งระบบ โดยโจทย์ใหญ่คือจะปล่อยให้เด็กจบออกมาโดยไม่มีคุณภาพไม่ได้" นายจาตุรนต์ กล่าว
          รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการใช้ข้อสอบกลางระดับชาติ แต่ไม่น่าจะใช้ทุกระดับชั้น เช่น ชั้นป.3 ป.6 และม.6 ที่มีการสอบโอเน็ต และควรทำเป็นปีเว้นปีจะดีกว่า นอกจากนี้ยังควรปรับให้เป็นข้อสอบกลางของเขตพื้นที่การศึกษาแทน เพราะข้อสอบกลางระดับชาติจะมีข้อจำกัดที่สามารถวัดนักเรียนได้ตามหลักสูตรแกนกลางเท่านั้น แต่ปัจจุบันโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาด้วย ซึ่งแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น ดังนั้นข้อสอบกลางจึงอาจไม่สามารถวัดในส่วนนี้ได้
          "แนวคิดการใช้ข้อสอบกลางของ ศธ.น่าจะเป็นเพราะปัญหาโรงเรียนปล่อยเกรดจนมีผลต่อคุณภาพการศึกษา แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้อาจจะสุดโต่งและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและยังผิดหลักการ หากนำมาใช้ทุกระดับชั้น ซึ่งไม่คุ้มแน่นอน" รศ.ดร.พฤทธิ์ กล่าวและว่า ส่วนการตกซ้ำชั้นนั้น ตนไม่เห็นด้วย หากนักเรียนไม่ผ่านในรายวิชาใดก็อาจให้สอบซ่อมในวิชานั้น แต่หากเป็นกรณีที่แย่มาก ๆ ก็ควรให้เรียนใหม่เป็นรายวิชา
          นายอภิชาต จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การทดสอบวัดผลกลางและการตกซ้ำชั้น ขณะนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งในสัปดาห์หน้าตนจะประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไป.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ฟื้น'สอบตกซ้ำชั้น'ยกระดับ'น.ร.ไทย'?

          กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก หลังจาก "ครูใหญ่อ๋อย" นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวนโยบายที่จะให้ฟื้น "การทดสอบวัดผลกลาง" ตลอดจนการฟื้นระบบการตกซ้ำชั้น
          และล่าสุด นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมารับลูก โดยระบุว่า ในปีการศึกษา 2557 จะให้มีการใช้ข้อสอบวัดผลกลาง หรือการใช้ข้อสอบปลายภาคชุดเดียวกันทั่วประเทศ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, ประถมศึกษาปีที่ 4, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5, มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 แล้วค่อยขยายไประดับชั้นอื่นๆ และเมื่อมีการใช้ข้อสอบวัดผลกลางแล้ว จะเชื่อมโยงไปถึงการปรับปรุงร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้มีการฟื้นการตกซ้ำชั้นในระดับประถมศึกษาตามเดิม
          เฉพาะประเด็นเรื่องข้อสอบกลาง คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก แต่หากเป็นคนที่อายุเกือบ 60 ปีขึ้นไปจะทันกับการสอบด้วยข้อสอบกลางของ ศธ. ที่จะใช้ในการจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 และมัธยมศึกษาปีที่ 8 ซึ่งเป็นระบบระดับชั้นการศึกษาเดิมในยุคนั้น
          หากย้อนดูประวัติศาสตร์เรื่องราวของข้อสอบกลาง ที่เคยใช้กันมาในยุคอดีต  ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และคณะ ได้ศึกษาวิจัย "เรื่องพัฒนาการของการทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ทำให้ทราบว่า การสอบไล่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2427 เป็นการสอบประโยค 1 ตามแบบหลวง มีหนังสือแบบเรียน 6 เล่มจากมูลบทบรรพกิจจนถึงพิศาลการันต์ เมื่อวันจันทร์เดือนห้าขึ้นแปดค่ำ ปีระกา พ.ศ.2427-2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรางวัล (ประกาศนียบัตร) แก่ผู้สอบไล่ได้ประโยค 1 (เทียบเท่า ป.4) รุ่นแรกเมื่อวันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นสิบสองค่ำ ปีระกา พ.ศ.2427 และในปีเดียวกัน (พ.ศ.2427) มีการสอบไล่ครั้งที่สองสำหรับประโยค 2 ประกอบด้วยการสอบ 8 วิชา คือ 1.การเขียน ทั้งการเขียนหวัด และการเขียนตัวบรรจง 2.การเขียนเรียงความ 3.การ บรรณธิกรณ์หนังสือจากการเขียนหวัด 4.การคัดลอกเนื้อหาและการสรุปความ 5.การเขียนจดหมาย 6.การแต่งกลอนและการแก้ไข 7.คณิตศาสตร์ และ 8.การทำบัญชี มีการกำหนดให้มีการสอบประโยค 1 และการสอบประโยค 2 ปีละสองครั้ง คือ สอบในเดือนตุลาคมและมีนาคมของทุกปี
          ส่วนการสอบวัดผลกลางแบบในอดีตที่ ศธ.จะฟื้นมาใช้นั้น เกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ.2478 เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา มาตรา 18 ระบุว่า กำหนดให้มีการสอบรวมชั้นประโยคโดยข้อสอบอัตนัยของ ศธ. ผู้สอบได้ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ผู้ผ่านการสอบสามารถใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น สมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ถ้าสอบ ม.8 ได้ หรือ ม.6 ในปัจจุบัน และหลังจากนั้นระบบการสอบดังกล่าวได้มีการยกเลิกราวช่วงปี 2520 และต่อมาในปี 2521 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับใหม่ ให้การวัดและประเมินผลเป็นการดำเนินการของโรงเรียน
          ทั้งนี้ การที่ ศธ.ได้หยิบยกเรื่องการให้มีการสอบวัดผลกลางและการซ้ำชั้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยเหตุผลหลักในเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่แย่ลง ซึ่งนายจาตุรนต์ เคยเน้นย้ำในหลายครั้งว่า "การซ้ำชั้น จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเด็ก เพราะเมื่อเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็อ่านหนังสือไม่ออก จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา เพราะเวลาเด็กตก ครูก็ให้เด็กผ่านกันไม่ยาก เช่น ทำความสะอาดห้อง อีกทั้งระบบการสอนในปัจจุบันไม่มีการทดสอบกลางที่เป็นมาตรฐาน จึงทำให้ไม่รู้ปัญหา แต่กว่าจะมารู้ปัญหา ต้องรอการวัดผลระดับนานาชาติหรือการวัดผลเองในบางช่วงชั้นและเพียงบางวิชาเท่านั้น"
          ฉะนั้น การฟื้นนโยบายนี้ จึงมีความคาดหวังว่าจะช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะคิดว่า การทำให้เด็กตกซ้ำชั้น ทำให้เสียเวลาหรือเสียอนาคต แต่หากดูจากคนรุ่นเก่าที่ผ่านระบบการศึกษาในยุคนั้นมาแล้วเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษายุคปัจจุบัน จะเห็นว่าคนรุ่นเก่าจะมีปัญหาเรื่องของคุณภาพการศึกษาไม่มากนัก โดยเฉพาะเรื่องการอ่านออก เขียนได้ ที่จะมีน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนในปัจจุบัน ที่พบว่ามีประมาณกว่า 2 แสนคนที่ต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนา
          แต่ทั้งนี้หากจะเปรียบเทียบการศึกษาในยุคเก่ากับยุคปัจจุบัน อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่า การศึกษายุคเก่าดีกว่ายุคปัจจุบัน เพราะในอดีตจำนวนนักเรียนมีน้อยกว่าปัจจุบันมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านคน
          ฉะนั้น ศ.ดร.สมหวัง ซึ่งปัจจุบันสวมหมวกประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จึงแนะนำว่า การใช้ข้อสอบในชั้นต่างๆ ที่เป็นการสอบไล่ ควรเป็นข้อสอบมาตรฐาน ซึ่งต้องอาศัยส่วนกลางที่จะช่วยออกข้อสอบ ส่วนเรื่องระบบการซ้ำชั้น จะไปผูกโยงกับระบบหน่วยกิต จึงคิดว่าในระดับมัธยมศึกษา ควรเปลี่ยนมาใช้ระบบหน่วยกิตแบบมหาวิทยาลัย คือ นักเรียนไม่ผ่านรายวิชาใดก็ให้มาซ่อมหรือเรียนรายวิชานั้นใหม่โดยไม่ต้องซ้ำชั้น ส่วนระดับประถมศึกษาอาจจะใช้ระบบหน่วยกิตยากหน่อย แต่ก็ไม่อยากให้มีการซ้ำชั้น ดังนั้นควรเน้นใช้ระบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและให้มีการซ่อมเสริมแทน
          การฟื้นระบบซ้ำชั้น และการใช้ข้อสอบชุดเดียวกันจากส่วนกลาง อาจจะใช่ หรือไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของคุณภาพการศึกษาไทย
          แต่การหาคำตอบในรอบนี้ ต้องรอบคอบ และรอบด้าน
มติชน ฉบับวันที่ 12 ต.ค. 2556 

กระทุ้งครูไทยปรับวิธีสอน เสริมทักษะชีวิต-ปลูกฝังจิตสำนึกเด็ก ชี้หากสำเร็จไม่ต้องยกเครื่องหลักสูตร

          โพสต์ทูเดย์แนะครูเปลี่ยนวิธีสอน เน้นเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ การเรียนรู้ ปลูกฝังคุณธรรม ชี้ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปหลักสูตร
          นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในงาน Educa 2013 ว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เด็กไทยจำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้แก่1.ทักษะชีวิตและอาชีพ 2.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 3.ทักษะเทคโนโลยีและการสื่อสารครูจำเป็นต้องทบทวนเพื่อปรับแนวการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กทั้ง 3 ทักษะ
          "ปัญหาคือเด็กไทยของเราตอนนี้เก่งแต่ทักษะด้านเทคโนโลยี" นพ.สุริยเดวกล่าว
          เบื้องต้น ผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านที่เหลือเริ่มจากด้านการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา แต่แค่ต้องทำให้เกิดห้องเรียนกลับทาง ครูไม่ใช่ผู้สอน แต่ต้องเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้ให้บริการแก่เด็กจนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ขณะเดียวกันต้องปลูกฝังเรื่องคุณธรรมให้แก่เด็กจนกลายเป็นผู้มีจิตอาสา ไม่ใช่จิตบังคับ
          ขณะที่ทักษะชีวิตนั้น ครูต้องพยายามจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดการสะท้อนคิดด้วยตัวเอง (Self Reflection) และเกิดการสะท้อนคิดเป็นกลุ่ม (Group Reflection)เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ที่คิดและจัดการเรื่องต่างๆด้วยตัวเองได้
          นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า การพัฒนาเด็กยังควรเป็นไปตามแนวคิดสากล ได้แก่I am, I have, และ I can เด็กต้องมีพลังตัวตน พลังสิ่งแวดล้อม จากนั้นท้ายที่สุดเด็กจะทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
          ด้านนายอรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้เด็กไทยจะมีทักษะด้านเทคโนโลยี แต่เป็นแค่วิธีการใช้ ไม่ใช่ทักษะการรู้เท่าทัน (ICT Literacy) ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เทคโนโลยีกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการใช้ในการหลอกล่อให้มาซื้อสินค้า ครูจึงต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเตือนให้เด็กมีทักษะการรู้เท่าทันด้วย
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันครูในกลุ่มเจนเอกซ์ มักประสบปัญหาในการใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเด็กและครู ครูเองจึงต้องเรียนรู้มากขึ้น ขณะที่ครูเจนวาย แม้จะมีทักษะด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ก็ยังขาดความรู้เชิงลึกเรื่องต่างๆจึงต้องเสริมความรู้เพื่อพัฒนาเด็กให้รอบด้านเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น: