วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ผลการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 10/2556

ศึกษาธิการ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 10/2556  เมื่อวันที่ พฤศจิกายน  2556 เวลา 15.30-18.30 น. ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นำเสนอวาระการประชุม โดยมีประเด็นสำคัญต่างๆ สรุปดังนี้

1. เห็นชอบบัญชีรายชื่อการย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ
  • ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 49 ราย
    ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 117 ราย
    2. เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการกรณีครูผู้ช่วยที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการ และมีการร้องทุกข์ กรณีทุจริตการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว 12)
    ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้มีการปฏิบัติตามมติ ก.ค.ศ.มาโดยลำดับ แต่มีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เข้าสอบคัดเลือกตำแหน่งครูผู้ช่วยที่เกี่ยวข้องกับการส่อไปในทางไม่สุจริตจำนวน 344 รายนั้น มีการดำเนินการในกรณีต่างๆ ไปแล้ว จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนี้
    กรณีที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไปแล้ว จำนวน 262 ราย
    - กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการแล้ว และได้ร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. จำนวน 187 ราย  กรณีนี้ให้มีการพิจารณาคำร้องทุกข์ตามกระบวนการขั้นตอน ตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาร้องทุกข์ พ.ศ.2551 ให้เสร็จสิ้น ส่วนอีก 1 ราย ที่ไม่ได้ร้องทุกข์ ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ
    อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 62 ราย  ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  กล่าวคือ ให้มีการตั้งกรรมการสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา และดำเนินการสอบสวน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ
    มีการขอลาออกจากราชการ จำนวน 4 ราย  ไม่ต้องดำเนินการใดๆ
    กรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังไม่ดำเนินการใดๆ จำนวน 8 ราย ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  กล่าวคือ ให้มีการตั้งกรรมการสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา และดำเนินการสอบสวน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ
    กรณีที่ยังไม่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จำนวน 51 ราย  ยังไม่ต้องดำเนินการใดๆ
    กรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังไม่รายงานผลการดำเนินการ จำนวน 8 เขตพื้นที่การศึกษา รวม 31 ราย  ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  กล่าวคือ ให้มีการตั้งกรรมการสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา และดำเนินการสอบสวน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งนี้จะได้จัดให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง โดยอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญกฎหมายฯ อีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้

    3. การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย 2,161 ราย
    จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จำนวน 2,161 ราย พบว่าผู้สมัครสอบมีการยื่นเอกสารหลักฐานการสมัครสอบไม่ถูกต้อง หรือขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบและมีการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครสอบไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีหนังสือแจ้ง ก.ค.ศ.ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบบุคคลดังกล่าว
     ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
    1. ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ
    2. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งจำนวน 2,161 ราย ตามที่ DSI แจ้ง
    3. ให้ประสานกับสำนักเลขาธิการคุรุสภาให้ความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน
    4. แนวทางการตรวจสอบ ให้มีการตรวจสอบในวันสมัครคัดเลือก ว่าผู้สมัครได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่การสอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งรวมกันไม่น้อยกว่า ปีหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบหลักฐานในวันสมัครคัดเลือก ตรวจสอบคำสั่งหรือสัญญาว่าจ้าง ตรวจสอบหนังสือรับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร ตรวจสอบข้อความในหนังสือรับรองคุณสมบัติ ตรวจสอบลายมือชื่อผู้รับรองเอกสาร และอื่นๆ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่
    5. เอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบ ได้แก่ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตามหนังสือ ว12 ลงวันที่ 19 เมษายน 2556 รวมทั้งมาตรฐานตำแหน่ง ตาม ว28 และแนวปฏิบัติทุกฉบับ ประกาศรับสมัคร หนังสือ DSI รวมทั้งเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    6. หากตรวจสอบแล้วพบว่า ขาดคุณสมบัติในการสมัครคัดเลือก ให้พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ประกอบกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และหากมีการกระทำความผิดหรือกระทำการทุจริตในการคัดเลือกไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ให้ดำเนินการทางวินัยและทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิดหรือกระทำการทุจริตการคัดเลือก ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
     นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.จัดประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติการตรวจสอบดังกล่าว ให้กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

    ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

    ก.ค.ศ.ไฟเขียวขึ้นบัญชีรอง-ผอ.ร.ร.เพิ่ม หากพบตำแหน่งว่างมากกว่าประกาศ

              นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ทราบถึงกรณีการฟ้องร้องศาลปกครองกรณีการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 19 ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องในศาลปกครองว่าขณะนี้ผู้ฟ้องร้องได้มีการถอนฟ้องแล้ว ฉะนั้นจากนี้ไป สพฐ.จะไปดำเนินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อดำรงตำแหน่งที่ว่าง โดยจะนำเรื่องนี้หารือในคณะอนุกรรมการระบบที่ทำหน้าที่แทน ก.ค.ศ.เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ที่มีปลัด ศธ.เป็นประธาน เพื่อดำเนินการสรรหาโดยเร็วเนื่องจากหลายพื้นที่ว่างมานาน
              รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าววต่อว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีการประกาศผลการขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านเกณฑ์การสรรหาร้อยละ 60 เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ในการสอบคัดเลือกครั้งที่ผ่านมาปี 2555 ว่า ให้ใช้เกณฑ์ตัดสินร้อยละ 60 และให้ขึ้นบัญชีผู้ที่สอบผ่านร้อยละ 60 เท่ากับจำนวนตำแหน่งว่างในปัจจุบันและตำแหน่งที่คาดว่าจะว่างจากการเกษียณอายุราชการในสองปีงบประมาณ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 บางส่วนไม่ได้รับการขึ้นบัญชี โดยเชื่อว่าการคำนวณตำแหน่งว่างมีความคลาดเคลื่อน จึงเรียกร้องขอให้มีการสำรวจข้อเท็จจริง เพื่อหาอัตราว่างที่ตรงกับความเป็นจริง โดยที่ประชุมได้มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสำรวจข้อมูลดังกล่าวให้ตรงกับความเป็นจริงที่สุดโดยเร็ว ทั้งนี้ หากได้ข้อมูลอัตราว่างมากกว่าที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะให้ประกาศขึ้นบัญชีเพิ่มเติมโดยพิจารณาเพิ่มจากผู้ที่สอบได้ร้อยละ 60 ขึ้นไปเพิ่มเติมโดยให้นับเวลาการขึ้นบัญชีสองปีนับตั้งแต่ที่ได้มีการประกาศขึ้นบัญชีไว้ในครั้งที่ผ่านมา

              กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: