วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ข้อสอบมาตรฐานกลาง ตกซ้ำชั้นของสพฐ. :นโยบายการศึกษาที่น่าคิดของสังคมไทย

 ดร.นพดล กรรณิกา กรรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา  กระทรวงวัฒนธรรม และนักศึกษาด้านการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี          ผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นมักจะมีความหวังว่า การทดสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยปรับปรุง "คุณภาพของระบบการศึกษา" (Quality of Education System) เพราะอาจจะเห็นคล้อยตามไปกับผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาจากความคิดเห็นของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในรายงานของ World Economic Forum (WEF) ที่ระบุคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยรั้งท้ายในอาเซียน แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจเล็งเห็นผลเสียต่อ "การเรียนรู้" (Learning) และวัฒนธรรมท้องถิ่นของเด็กไทยได้
          อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจมีเหตุผลอื่นๆประกอบอีกหลายประการ เช่น
          ประการแรก การออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะทำให้คณะผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และกลุ่มผู้ปกครองเกิดความตื่นตัวรับผิดชอบมากขึ้นต่อการเรียนของนักเรียนและการสอนของคณะครู
          ประการที่สอง ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นน่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นเป็นปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิรูปการศึกษาได้
          ประการที่สาม ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะทำให้คณะผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และนักเรียนมีผลการทดสอบมาช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนภายในโรงเรียน
          ประการที่สี่ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะทำให้เกิดความมุมานะมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในโรงเรียนในการหาแนวทางทำให้เด็กนักเรียนผ่านการทดสอบด้วยข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน
          อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนแนวคิดการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจมีเหตุผลคัดค้านในหลายประการด้วยเช่นกัน
          ประการแรก ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดทอนบทบาทของคณะครูในการตัดสินใจว่า ควรจะสอนอะไรและควรจะสอนอย่างไรให้กับเด็กๆ ในวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันของสังคมไทย โดยใช้ค่าคะแนนที่ได้จากข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นมาเป็นตัวประเมินความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คณะครู และคณะผู้บริหารของโรงเรียน
          ประการที่สอง ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจตีคุณค่าของเด็กๆ อยู่ที่ค่าคะแนนที่ได้รับจากผลสอบ ซึ่งอาจเป็นการตีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กที่แคบเกินไป เพราะเด็กๆ มีศักยภาพและอัจฉริยภาพแห่งการเรียนรู้(Learning) ที่มากกว่า ผลคะแนนที่ได้รับจากใครก็ไม่รู้ (Unknown Unknown)ที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยเลย
          ประการที่สาม ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจลดทอนกำลังใจและแรงบันดาลใจเชิงสร้างสรรค์ของคณะผู้บริหารโรงเรียน คณะครู กลุ่มผู้ปกครองกลุ่มผู้นำชุมชน และนักเรียน ในการเรียนรู้เพื่อสร้างชุมชนท้องถิ่นของพวกตนผ่านการแบ่งปันวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนในชุมชน ประสบการณ์ของผู้สูงวัย และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่มีอยู่ในหลักสูตรและข้อสอบมาตรฐานกลางของสพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
          ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยของกลุ่มนายทุนธุรกิจสถาบันกวดวิชาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่เป็นปัญหากับกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนที่มีฐานะทางการเงินดี แต่น่าจะส่งผลเสียอันเลวร้ายต่อเด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนมีรายได้น้อยอันเป็นการซ้ำเติมค่าครองชีพของผู้ปกครองมากขึ้นไปอีก เพราะไม่สามารถจะหาเงินมาจ่ายให้กับการสอนพิเศษของสถาบันกวดวิชาต่างๆ ได้ ดังนั้นผลการสอบสะท้อนอะไรให้กับคุณภาพของระบบการศึกษาไทย
          ยิ่งไปกว่านั้นคือ กรณีดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อปัญหาทุจริตข้อสอบที่มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ เพราะแม้แต่การสอบครูผู้ช่วยยังรั่วได้เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันสร้างความวางใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้มากกว่าคำพูดโฆษณาชวนเชื่อเพียงอย่างเดียว
          กล่าวโดยสรุป การศึกษา(Education) เกิดขึ้นมาในสังคมมนุษย์เพื่อช่วยลดทอนปัญหาสังคมแต่หากตัดสินใจในเชิงนโยบายการศึกษาที่ผิดพลาด "การศึกษา" อาจกลายเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเองอย่างไรก็ตาม เจตนาดีของผู้ใหญ่ในสังคมที่หาแนวทางต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพระบบการศึกษาให้ดีขึ้นเป็นเรื่องดีน่าสนับสนุน แต่การตัดสินใจออกนโยบายข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจจำเป็นต้องช่วยกันพิจารณาผลกระทบที่ไปลดทอนมิติอื่นๆ ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ให้ออกมาเป็นเพียงค่าคะแนน ลดทอนศักยภาพการใฝ่เรียนรู้ให้เหลือเพียงการเตรียมตัวสอบจากกลุ่มติวเตอร์โดยการสอนพิเศษและสถาบันกวดวิชาที่อาจไม่ใส่ใจต่อความลึกซึ้งในวัฒนธรรมท้องถิ่นของประชาชนแต่ละพื้นที่ของประเทศได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

'จาตุรนต์'แจงนโยบายใน 4 ภาค เพื่อผนึกพลัง'ยกระดับคุณภาพการศึกษา'

          2556 ปีแห่ง "การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา" คำประกาศก้อง ณ วังจันทร์เกษม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง พร้อมประกาศนโยบายการศึกษา 8 เรื่องหลัก เพื่อให้การศึกษาไทยมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล สอดคล้องกับสังคมโลกยุคใหม่ และเชื่อมโยงไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ Logististics ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาคนให้เป็นกำลังสำคัญของการจัดการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย
          การพัฒนาประเทศจึงต้องเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาทุกด้านให้สอดคล้องกับสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติด้านดิจิตอล (Digital Revolution) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ มีทักษะ ความถนัด ความชำนาญ พร้อมจะขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น
          การจัดการศึกษาที่ต่างมุ่งหวังผลลัพธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดี คนเก่ง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและโลกใบนี้ได้ จึงน่าจะเป็นความหวังและเป้าหมายเดียวกันของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งตรงกับเป้าหมายคุณภาพของ รมว.ศธ.ดังที่ประกาศไว้ว่า....
          "จะนำนโยบายการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ในการพัฒนาการเรียนการสอนและเพิ่มอันดับ PISA ของประเทศให้มีระดับที่ดีขึ้น"
          "จะปฏิรูประบบการผลิตครูและพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถ สร้างขวัญและกำลังใจในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะให้มีความเหมาะสม"
          "จะปฏิรูปการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีข้อมูลที่ทันสมัย สามารถนำมาวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน และพัฒนากระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนเหมาะสม" และ
          "จะเพิ่มโอกาสและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกเพศวัยอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมอย่างมีคุณภาพ"
          จะเกิดแน่หรือไม่ อยู่ที่การเอาจริงเอาจังของเบอร์ 1 เจ้ากระทรวงเสมา ที่ขอยืนยันด้วยการเป็นผู้นำลงปฏิบัติจริง โดยการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมเสวนารับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อมาเป็นข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการไปสู่การปฏิบัติในทุกภาคส่วน
          "กระทรวงศึกษาธิการต้องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา เพื่อศึกษาผลกระทบและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศไทยโดยรวมที่ผ่านมา และหาแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาการศึกษา โดยการนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ในการพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนปฏิรูประบบการผลิตครูและพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถ สร้างขวัญและกำลังใจในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะให้มีความเหมาะสม รวมทั้งปฏิรูปการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีข้อมูลที่ทันสมัย สามารถนำมาวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน และพัฒนากระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนเหมาะสม ขณะเดียวกันยังเน้นการเพิ่มโอกาสและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกเพศวัยอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอีกด้วย" นายจาตุรนต์กล่าว
          การดำเนินงานการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ปฏิบัติทุกระดับมีความเข้าใจ และสร้างเป้าหมายการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาให้ตรงกัน รวมถึงต้องสามารถที่จะสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรมีส่วนร่วม และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน
          ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจัดประชุมเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา นำมาเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งสามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลตามเป้าหมาย โดยร่วมรวมพลังกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่การศึกษา จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ "รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา" ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ใน 4 ภูมิภาค เริ่มสตาร์ทที่แรกภาคตะวันออกเฉียงวันที่ 2-3 พ.ย. โรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภาคกลางวันที่ 13-14 พ.ย. โรงแรมริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ต่อด้วยภาคใต้วันที่ 17-18 พ.ย. โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สุดท้ายที่ภาคเหนือวันที่ 1-2 ธ.ค. โรงแรมอัมรินทร์ ลากูน อ.เมือง จ.พิษณุโลก
          การประชุมเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน มีกิจกรรมที่น่าสนใจนอกจากหัวใจหลักในส่วนของประเด็นเนื้อหาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ยังมีนิทรรศการเชิงแนวคิด เช่น ICT ก้าวไกลเด็กไทยก้าวทันนวัตกรรม ห้องเรียนภาษาพาเพลิน ลายแทงแห่งคุณภาพสานฝันโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานลงพื้นที่ร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วยตนเองทุกพื้นที่ ผู้สนใจสามารถติดต่อประสานเข้าร่วมงานได้ที่จังหวัดที่จัดงานในแต่ละภูมิภาค
          ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมเสนอแนวคิดการจัดการศึกษา เพื่อ "รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา" ให้เป็นมรรคเป็นผล สู่เป้าหมายคุณภาพของประชากรและประเทศชาติ.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

คุรุสภาอบรม 9 มาตรฐานวิชาชีพครู

          คณะกรรมการคุรุสภาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพครูที่ได้รับหนังสืออนุญาตจากคุรุสภาให้ประกอบวิชาชีพครูโดยยังไม่มีใบอนุญาต และได้ขอรับรองความรู้วิชาชีพครูจากคุรุสภาแล้ว แต่ยังผ่านการรับรองไม่ครบ 9 มาตรฐาน ให้สามารถใช้ช่องทาง "การฝึกอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู" เพื่อให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูครบ 9 มาตรฐาน โดยผู้ที่จะสมัครเข้ารับการอบรมต้องประกอบวิชาชีพครูในสถานศึกษาและได้รับหนังสืออนุญาตจากคุรุสภาให้ประกอบวิชาชีพครูโดยยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีผลการผ่านการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู โดยวิธีการเทียบโอน ทดสอบ หรือฝึกอบรม วิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกันแต่ยังผ่านไม่ครบ 9 มาตรฐาน (กรณีใช้ผลการเทียบโอนความรู้ จะต้องเป็นผู้ยื่นคำขอเทียบโอนความรู้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และได้ประกาศผลว่าผ่านการเทียบโอนแล้วเท่านั้น
          ทั้งนี้ผู้ประสงค์จะเข้ารับการอบรมต้องสมัครผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์คุรุสภาเท่านั้น โดยจะเปิดรับสมัครในเดือนมีนาคม 2557 ค่าธรรมเนียมการเทียบโอนความรู้ มาตรฐานละ 300 บาท มาตรฐานวิชาชีพครู ชำระได้ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หรือที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จากเว็บไซต์คุรุสภา มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ชำระได้ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ดูรายละเอียดการจัดส่งวุฒิบัตร เงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้ที่ 
www.ksp.or.th สอบถามโทร.0-2280-6168 คอลเซ็นเตอร์ 0-2304-9899 กด 222
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: