วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

องค์กรครูถอนฟ้องคัดผอ.สพท.แลกให้สิทธิรองผอ.สพป.นั่งสพม.ได้ก.ค.ศ.ลุยทำเกณฑ์เฟ้น 19 บิ๊กเขตพท.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ทราบถึงกรณีการฟ้องร้องศาลปกครองกรณีการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 19 ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องในศาลปกครองว่าขณะนี้ผู้ฟ้องร้องได้ถอนฟ้องแล้ว ฉะนั้นจากนี้ สพฐ.จะไปดำเนินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการ สพท.เพื่อดำรงตำแหน่งที่ว่าง โดยจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการระบบที่ทำหน้าที่แทน ก.ค.ศ. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มี ปลัด ศธ.เป็นประธาน เพื่อดำเนินการสรรหาโดยเร็วเนื่องจากเขต พื้นที่ฯ เหล่านั้นว่างผู้อำนวยการ สพท.มานานกว่า 6 ปี
          รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีการประกาศผลการขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านเกณฑ์การสรรหาร้อยละ 60 เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ในการสอบคัดเลือกครั้งที่ผ่านมาปี 2555 ว่าให้ใช้เกณฑ์ตัดสินร้อยละ 60 และให้ขึ้นบัญชีผู้ที่สอบผ่านร้อยละ 60 เท่ากับจำนวนตำแหน่งว่างในปัจจุบันและตำแหน่ง ที่คาดว่าจะว่างจากการเกษียณอายุราชการ ในสองปีงบประมาณ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 บางส่วนไม่ได้รับการขึ้นบัญชี โดยเชื่อว่าการคำนวณตำแหน่งว่างมีความคลาดเคลื่อน จึงเรียกร้องขอให้มีการสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อหาอัตราว่างที่ตรงกับความเป็นจริง โดยที่ประชุมได้มีมติให้ สพฐ.ไปสำรวจข้อมูลดังกล่าวให้ตรงกับความเป็นจริงที่สุดโดยเร็ว ทั้งนี้หากได้ข้อมูลอัตราว่างมากกว่าที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ก็จะให้ประกาศขึ้นบัญชีเพิ่มเติมโดยพิจารณาเพิ่มจากผู้ที่สอบได้ร้อยละ 60 ขึ้นไปเพิ่มเติม โดยให้นับเวลาการขึ้นบัญชีสองปีนับตั้งแต่ที่ได้มีการประกาศขึ้นบัญชีไว้ในครั้งที่ผ่านมา
          นายธนารัชต์ สมคเณ นายกสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมถึงให้เพื่อนถอนการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้การศึกษาสามารถเดินหน้าไปได้หลังจากที่ว่างเว้นผู้อำนวยการ สพท. มา 3 ปีและทำให้การศึกษาตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ได้คุยด้วยวาจากับกรรมการผู้แทนครูใน ก.ค.ศ.ว่าในการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการ สพท. ขอให้เปิดโอกาสให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สามารถสมัครสอบผู้อำนวยการสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้รองผู้อำนวยการ สพป.สามารถขอย้ายไปยังสังกัด สพม.ได้ด้วย ซึ่งกรรมการผู้แทนครูฯ ก็รับปาก

 ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ค้านแนวคิดคุรุสภาคุมออกตั๋วครู ประธานทปอ.ชี้อุดมศึกษาไม่ควรจำกัดสิทธิผู้เรียน

           ประธาน ทปอ.มรภ.ค้านแนวคิดประธานคุรุสภาคุมจำนวนผลิคครูด้วยการออกตั๋วจำกัด เพราะตลาดแรงงานหรือความต้องการครูที่แท้จริงจะเป็นตัวกำหนดจำนวนผู้เรียนในแต่ละสาขาวิชา ชี้การอุดมศึกษาไม่ควรจำกัดสิทธิผู้เรียน แนะรัฐวางนโยบายให้ชัดเจนพร้อมให้ข้อมูลผู้เรียนถูกต้องรอบด้าน
           ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (มรภ.พบ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า จากกรณี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา มีแนวคิดใช้วิธีการควบคุมคุณภาพครูด้วยการควบคุมการผลิตครู โดยเสนอว่าจะใช้นโยบายวิเคราะห์ความต้องการใช้ครูกับจำนวนการผลิตครูที่แต่ละสถาบันผลิตได้ เพื่อกำหนดจำนวนผลิตที่ชัดเจนและจะออกใบอนุญาตประกอบวิชาครูให้แก่นักศึกษาตามจำนวนที่ขออนุมัติจากคุรุสภานั้น โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะการอุดมศึกษาในปัจจุบันจะต้องคำนึงถึงเสรีภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ควรมีการจำกัดสิทธิต่างๆ มากเกินไป ทั้งนี้เพราะมองว่าปัจจุบันตลาดแรงงานหรือความค้องการครูที่แท้จริงจะเป็นตัวกำหนดจำนวนผู้เรียนแต่ละสาขาวิชาอยู่แล้ว แนวทางที่เหมาะสมคือการให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเรียนครูอย่างกว้างขวางและเพียงพอ"
          "เอ็ดดูเคชั่นจะต้องฟอร์ออล หรือการศึกษาจะต้องมีไว้สำหรับทุกคน ไม่ควรกำหนดสิทธิผู้เรียน โดยสมมุติว่าผมอยากเรียนครูแต่ไม่เป็นครู ผมเรียนได้ไหม ก็ต้องได้ เพราะฉะนั้นการไปกำหนดเป๊ะๆ มันจำกัดสิทธิ เราคือมหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนนายสิบ หรือพลตำรวจ ว่าปีนี้เรารับแค่นี้ แต่การเรียนครูไม่ได้เฉพาะเจาะจงขนาดนั้น คนเรียนแพทย์ทำงานอื่นก็ได้ เพราะมันเป็นอุดมศึกษา มันมีความหมายกว้าง ดังนั้นการกำหนดหลักการทั้งหลาย ในหลักเกณฑ์ใหญ่จะต้องดูรายละเอียดอื่นประกอบด้วย" ผศ.ดร.นิวัต กล่าว
          ผศ.ดร.นิวัต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของ ทปอ.มรภ. มีการหารือถึงแนวทางการกำหนดจำนวนผู้เรียนและการควบคุมคุณภาพอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศ อาทิ การมีบุตรลดลง ย่อมมีผลต่อจำนวนความต้องการครูในอนาคต แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศนโยบายการผลิตครูเพื่อทดแทนอัตราเกษียณ แต่เมื่อดูตัวเลขในส่วนประกอบแล้วจะเห็นว่า ความต้องการครูในอนาคตอาจไม่ได้มากเท่าจำนวนครูที่เกษียณไปก็ได้
          ดังนั้นในฐานะของสถาบันฝ่ายผลิตก็ไม่ต้องการผลิตครูออกไปมากแล้วตกงานอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันในส่วนของราชภัฎก็อยากฟังนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล โดยเฉพาะกลไกคุรุสภา โดยสรุปคือ ขณะนี้ความเห็นพ้องต้องกันในหลักการใหญ่เรื่องควบคุมจำนวนผลิต แต่เรื่องวิธีการยังต้องมีการทบทวนร่วมกันอีกครั้ง
คมชัดลึก ฉบับวันที่ 5 พ.ย. 2556


เล็งปรับเงินอุดหนุน'รายร.ร.'แทนดัดหลังโรงเรียนใหญ่รับเด็กไม่อั้น

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่สามารถพิจารณาปรับแก้ประกาศการรับนักเรียนในโรงเรียน สังกัด สพฐ. ประจำปีการศึกษา 2557 ตามนโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญเป็น 51:49 ในปี 2558 ได้ เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาฟ้องร้องตามมาจากการที่เด็กไม่ได้เรียนต่อ ม.4 ทำให้นโยบายการเพิ่มนักเรียนสายอาชีวศึกษาอีก 9% ในปีการศึกษา 2557 เป็นไปได้ยากว่า การแก้ไขประกาศรับนักเรียนไม่ใช่จุดที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า สพฐ.สรุปเช่นไร เมื่อ สพฐ.ได้ข้อสรุปแล้ว คงต้องมาหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง เพราะยังพอมีเวลา
          นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การลดสัดส่วนจำนวนนักเรียนให้อยู่ที่ 40 คนต่อห้องนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายแค่จะเพิ่มสัดส่วนการรับนักเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญ คือ ต้องการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ เพราะการมีนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก ทำให้การจัดการศึกษามีปัญหา ครูไม่สามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง โดยเฉพาะการเรียนภาษาต่างประเทศ หากมีนักเรียนต่อห้องมากเกินไป จะทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
          "ประเด็นการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง ในหลายประเทศก็มีปัญหาคล้ายๆ กันเพราะต้องอยู่ภายใต้ความกดดันของสังคมและทำได้ยาก บางประเทศถึงขั้นต้องออกเป็นกฎหมาย แต่ของประเทศไทยคงยังไม่ถึงขั้นต้องออกกฎหมายแต่จะต้องไปคิดหามาตรการต่างๆ มาประกอบ อาทิ ที่ผ่านมามีข้อเสนอให้ปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัว มาเป็นอุดหนุนตามโรงเรียน และกำหนดกติกาว่าแต่ละโรงเรียนจะต้องมีนักเรียนต่อห้องไม่เกินเท่าไร สำหรับเงินรายหัว ต้องมีการจัดสรรให้ต่อไป แต่จะไม่นำมาเป็นประเด็นสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียน เราต้องมาคิดใหม่ เพราะเวลานี้เราเน้นแต่รายหัว ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ อาทิ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็ก 70 คนได้เงินน้อย ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เมื่องบน้อยก็ไม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้เท่าที่ควรจะเป็น ฉะนั้น อาจจะต้องมีการปรับการจัดสรรงบประมาณบางส่วน โดยดูความเป็นโรงเรียนเล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนจะแตกต่างมากน้อยแค่ไหน ต้องไปศึกษาดูก่อน" นายจาตุรนต์กล่าว
          รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ที่สำคัญจะต้องไม่แปรผันตามจำนวนนักเรียนอย่างเดียว ส่วนจะต้องดูเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนประกอบหรือไม่นั้น ต้องหารือในรายละเอียด เพราะเรื่องนี้เป็นดาบสองคม หากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไม่ดี และเราไปตัดงบ ก็เท่ากับทำให้โรงเรียนไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กก็ไม่มีวันดีขึ้น ฉะนั้น ต้องดูให้รอบด้านเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาเป็น 9% นั้น ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การแนะนำอาชีพ การพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวะ เพื่อจูงใจให้รู้ว่าเรียนแล้วมีงานทำ มีรายได้ดี หากทำให้เห็นชัดเจน เด็กก็อาจหันมาเลือกเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจำนวนที่นักเรียนต่อห้องของสายสามัญจะเปลี่ยนหรือไม่ก็ตาม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: