วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เล็งเปิดรองฯสพป.สอบชิง'บิ๊กสพม.'สพฐ.ชงก.ค.ศ.แก้เกณฑ์คัด '49' ผอ.เขต

  •  รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังพิจารณาเสนอปรับคุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งในหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)ในสังกัด สพฐ. ที่จะรับสมัครสอบคัดเลือกในเร็วๆ นี้ เพื่อบรรจุแทนตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุ ราชการและตำแหน่งว่างจากกรณีที่มีการ ฟ้องร้องต่อศาลปกครองและมีการยกเลิกในเวลาต่อมา รวมจำนวน 49 ตำแหน่งโดย คุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งใหม่ที่จะเสนอ ให้ปรับ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มรองผู้อำนวยการ สพป. สามารถมีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการ สพม.ได้ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมไม่ได้ ให้สิทธิสมัครข้ามสายได้ นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้รอง ผอ.สพม. มีสิทธิสมัครคัดเลือกเป็น ผอ.สพป.ได้ด้วยเช่นกัน และหลักเกณฑ์ ดังกล่าวจะมีคะแนนพิเศษเพิ่มให้แก่ผู้สมัครในสายเดียวกันด้วย เช่น หากเป็นรอง ผอ.สพป. สมัครสอบคัดเลือกเป็น ผอ.สพป. จะมีคะแนนประสบการณ์ส่วนนี้ให้ เป็นต้น
              รายงานข่าว ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้  สพฐ.จะต้องจัดทำรายละเอียดเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทาง การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ระบบที่เกี่ยวข้องจากนั้น ต้องนำเสนอที่ประชุมคกรรมการข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พิจารณาเห็นชอบ และจะได้กำหนดปฏิทินการรับสมัครคัดเลือกต่อไป
              นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า สพฐ.ได้ทำหนังสือแจ้งเรื่องการคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มาแล้ว แต่ตนไม่แน่ใจว่ามีเรื่องการขอปรับคุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่ง หรือไม่ และเรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาในที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.ระบบฯ ที่มีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน ซึ่งการคัดเลือกผู้อำนวยการ สพท.ในขณะนี้ ยังต้องรอหนังสือแจ้งมาจากศาลปกครองก่อน ในกรณีที่ผู้ฟ้องร้อง ได้ถอนฟ้องแล้ว ถึงจะดำเนินการคัดเลือกแต่งตั้งได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. เห็นว่าอาจจะต้องใช้คุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งเดิมไปก่อน
    ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

    ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก 18 พฤศจิกายน 2556

    ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2556-2558
รมว.ศธ.ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้จัดทำ Roadmap(หรืออาจเป็น Policy Review) การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2556-2558) ภายใต้ นโยบายการศึกษา เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป ซึ่งหลายส่วนได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องในวงกว้างมากขึ้นแล้ว จึงจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ จากการรับฟังไปสู่ข้อสรุปตามยุทธศาสตร์/แผนงานต่อไป เช่น เรื่อง PISA ที่มีการประชุมรับฟังไปแล้ว 2 ครั้ง เกือบสมบูรณ์แล้ว หรือเรื่องการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งต้องให้ สกอ./สพฐ./สป.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อตั้งคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ เพื่อประชุมและวางระบบการผลิตและพัฒนาครูต่อไป และโครงการแผนงานต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์จะนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานโครงการปี 2557 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2556 น่าจะลงตัวหมดทุกเรื่องว่าเรื่องใดควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กลไกขับเคลื่อนการทำงาน เป็นไปตาม 52 มาตรการย่อย ใน 8 นโยบายการศึกษา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญ รมว.ศธ./รมช.ศธ./ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการศึกษา ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง) และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2556-2558 รวมทั้งแผนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ที่จะดำเนินการในแต่ละช่วงอายุด้วย
  • ความคืบหน้าการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
รมว.ศธ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ได้มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งการหารือในครั้งนี้ได้มีความคืบหน้าไปมาก เพราะประธาน กกอ. และ ทปอ.ซึ่งเป็นคณะกรรมการได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยข้อสรุปที่เห็นพ้องกันคือ ควรจะต้องมีการปรับปรุงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาจใช้ระบบแอดมิชชั่น หรือระบบรับตรง หรือระบบโควตาเหมือนเดิมก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ควรใช้ข้อสอบกลาง เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปใช้สอบได้ ไม่ควรสอบกันเอง โดยระยะเวลาที่สอบเข้า ก็ไม่ควรจัดสอบก่อนปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้เรียนครบตามหลักสูตร ไม่ทิ้งห้องเรียน
 นอกจากนี้ ได้เห็นพ้องให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้าระบบ Clearing House เพื่อต้องการให้เด็กสมัครที่เดียว เป็นการแก้ไขปัญหาเด็กวิ่งรอกไปสอบหลายแห่ง ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการ กกอ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกฯ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบคัดเลือกฯ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปด้วย
  • ความคืบหน้าการปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอนภาษา และการคิดวิเคราะห์
ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการ กพฐ. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าเกี่ยวกับการยกร่างหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสังคม ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้ต่อไป หลังจากนั้น สพฐ.จะต้องวางแผนจัดการอบรมครูครั้งใหญ่เพื่อให้ครูสามารถสอนตามหลักสูตรใหม่ได้
รมว.ศธ.กล่าวว่า ทราบว่าจะมีการประชุมหารือการตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จึงขอให้พิจารณาว่าคณะกรรมการจะมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง มีผู้รู้ หรือผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่สำคัญๆ เข้ามาร่วมดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรให้มากขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งกระบวนการใดที่ต้องเร่งดำเนินการตามลำดับ ให้มีการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร กระบวนการ Transition ที่จะนำไปสู่การเห็นชอบและการนำหลักสูตรไปใช้ ที่จะต้องสอดคล้องกับระเบียบกฎหมายต่างๆ ด้วย ซึ่ง สพฐ.ในฐานะเจ้าภาพหลัก ต้องทำงานประสานร่วมมือกับหลายหน่วยงานให้กลมกลืนกันให้ได้ โดยกระบวนการในส่วนนี้อาจต้องใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องพอสมควร เพื่อไม่ให้สะดุด
 ในส่วนของการเรียนการสอนภาษานั้น หากจะให้ได้ผล ต้องเรียนแบบเข้มข้น และการเรียนการสอนภาษาในโรงเรียน ไม่ควรเป็นการเรียนกึ่งบังคับ แต่ควรให้เป็นวิชาเลือก เพื่อให้เด็กเลือกเรียนตามความสนใจ ไม่ใช่บังคับเรียนทุกคน ซึ่งเด็กที่ไม่สนใจเรียนภาษาต่างประเทศ อาจเลือกเรียนวิชาอื่นๆ เช่น พลศึกษา ดนตรี ฯลฯ แทนก็ได้ รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการสอนของครู รวมทั้งจัดห้องเรียนให้มีความเหมาะสมมากขึ้นด้วย
  • Workshop การปฏิรูประบบพัฒนาครู
ศธ.จะจัดการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง การปฏิรูประบบการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันให้ได้แนวทางการปฏิรูประบบการพัฒนาครูในด้านต่างๆ เช่น การรับรองมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งเสนอโดยคุรุสภา, การประเมินวิทยฐานะครูและผู้บริหาร โดยสำนักงาน ก.ค.ศ., ระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เสนอโดย สคบศ. และการพัฒนาระบบสวัสดิการ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เสนอโดย สกสค. เป็นต้น
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: การรับรองคุณวุฒิของผู้ที่จะสมัครสอบ ข้าราชการครู-บุคลากรทางการศึกษา

          ศิริพร กิจเกื้อกูล
            เลขาธิการ ก.ค.ศ.
          สวัสดีค่ะท่านผู้บริหาร เพื่อนข้าราชการครู ผู้ที่เกี่ยวข้องและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังรอคอยการสอบแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย ขณะนี้ใกล้ถึงระยะเวลาของการสอบแข่งขันอีกครั้งหนึ่งแล้ว สิ่งที่สำนักงาน ก.ค.ศ.มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ คือสืบเนื่องจากการสอบแข่งขันที่ผ่าน สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับเรื่องหารือจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาการสมัครสอบทั้งของ ผู้สมัครและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีคุณวุฒิที่ผู้สมัครนำมาใช้สมัครสอบแข่งขันเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.ยังไม่ได้รับรอง ทำให้ ผู้สมัครไม่มีสิทธิสอบ หรือหากสอบแข่งขันได้แล้ว ก็ไม่มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ดังนั้น ดิฉันจึงจะขอย้ำเตือนให้ผู้ที่สนใจ จะสมัครสอบแข่งขัน ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของตนเองให้พร้อมก่อนที่จะมีการเปิดรับสมัครสอบ โดยคุณวุฒิที่จะนำไปใช้สมัคร ต้องเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือ ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน
          สำหรับการตรวจสอบคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองนั้น ท่านสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ค.ศ. 
www.otepc.go.th และhttp://203. 146.44.131/qual55 โดยคุณวุฒิที่ปรากฏในเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองแล้วทั้งหมด สามารถ นำไปใช้สมัครสอบแข่งขันได้ แต่ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ก.ค.ศ. ยังไม่ได้รับรองคุณวุฒิ ขอให้ท่านรีบแจ้งสถาบันการศึกษาดำเนินการเสนอให้ ก.ค.ศ.รับรองโดยด่วน เพื่อให้ทันการรับสมัครสอบแข่งขันวันสุดท้าย
          ในส่วนของสถาบันการศึกษาก็เช่นกัน ขอให้ตรวจสอบด้วยว่า ได้เสนอให้ ก.ค.ศ.รับรองคุณวุฒิที่สถาบันท่านเปิดสอนแล้วหรือไม่ และหากตรวจสอบพบว่าคุณวุฒิใดยังไม่ได้เสนอให้ ก.ค.ศ.รับรอง ก็ขอให้เสนอเรื่องขอให้ ก.ค.ศ.รับรองโดยเร็ว เพื่อมิให้บัณฑิตของท่านเสียสิทธิในการสมัครสอบแข่งขัน
          สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นผู้รับสมัครและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบแข่งขัน ต้องตรวจสอบว่าคุณวุฒิที่ผู้สมัครนำมาใช้สมัครสอบแข่งขันเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วหรือไม่ โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ค.ศ. และในกรณีตรวจสอบพบว่าคุณวุฒิที่ผู้สมัครนำมาใช้สมัครสอบแข่งขันเป็นคุณวุฒิที่ไม่ตรงตามประกาศรับสมัคร ขอให้ท่านพิจารณานับหน่วยกิต ใน Transcript ของผู้สมัคร ตามแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต ว 7 ปี 2556 หากมีปัญหาในการตรวจสอบคุณวุฒิ ให้ หารือไปยังสำนักงาน ก.ค.ศ. ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ
          สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ สามารถสมัครสอบแข่งขันได้ โดยเมื่อสอบแข่งขันได้แล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะดำเนินการเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณารับรองคุณวุฒิ เป็นการเฉพาะราย เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นครู ผู้ช่วย ต่อไป ทั้งนี้ นับถึงปัจจุบัน ก.ค.ศ.ได้พิจารณารับรองคุณวุฒิไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 14,704 คุณวุฒิ และในแต่ละเดือน ก.ค.ศ.ได้พิจารณารับรองคุณวุฒิ ที่สถาบันการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเสนอให้ ก.ค.ศ.รับรอง เดือนละประมาณ 500 คุณวุฒิ
          สุดท้าย ดิฉันขอให้ผู้ที่มุ่งมั่นจะเข้าสู่วิชาชีพครู ประสบความโชคดี ในการสอบแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในเร็ว วันนี้ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทยให้เทียบเท่าระดับสากลต่อไป แล้วพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

กคศ.ผุดทุนครูตั้งตัวสร้างกำไร-ปลดหนี้จี้วันสต๊อปเซอร์วิส

          นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่าก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจการบริหารและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวนกว่า 6 แสนคน ขณะที่โครงสร้างขององค์กรมีบุคลากร และเจ้าหน้าที่เพียง 300 คนเท่านั้น ซึ่งก.ค.ศ. ได้รายงานว่ากำลังดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.(....)เพื่อแก้ไขโครงสร้างรองรับภาระงานนำไปสู่การทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์แก่บุคลากรให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยทั้งนี้ตนได้มอบนโยบายไปว่าควรหาวิธีการก้าวไปสู่ภาพลักษณ์ของ ก.ค.ศ.ยุคใหม่ โดยให้ศึกษาถึงภารกิจต่างๆที่มีอยู่ส่วนใดบ้างที่สามารถดำเนินการพร้อมกัน หรือให้บริการในรูปแบบ One Stop Service สามารถใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ ซึ่งอาจใช้วิธีจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการแทนเพื่อให้งานคล่องตัวลดปัญหาคอขวดที่เป็นอยู่ในเวลานี้
          ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องกองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครู ขณะนี้มีเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท ตนอยากให้มีการใช้ดอกผลจากกองทุนให้เกิดประโยชน์ นอกเหนือจากปล่อยกู้ใช้หนี้ เช่น ตั้งเป็นกองทุนครูตั้งตัวได้เพื่อช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจSMEs ของครูที่จะสร้างรายได้และมีเงินมาชำระหนี้ ซึ่งเลขาธิการ ก.ค.ศ.ก็เห็นด้วย จึงได้มอบให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งอาจต้องแก้ไขระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูส่วนกองทุนครูแห่งแผ่นดิน ที่เคยมีการเปิดรับบริจาค ได้รับเงินประเดิมกองทุน 100 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ได้เพราะอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯและต้องรอให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงขอให้ ก.ค.ศ. ไปดำเนินการจัดทำระเบียบ ศธ. หรือประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี คู่ขนานกันไป เพื่อนำเงินมาสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครู
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: