วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เพิ่มเงินครูสายขาดแคลนก.ค.ศ.แบ่งสายวิทยฐานะประถม-มัธยม-อาชีวะ

 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.56 นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)เปิดเผยความคืบหน้าการยกระดับและพัฒนาวิชาชีพครู ตามนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ว่าสำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอให้ที่ประชุมที่มีนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณาในเรื่องของการตีค่าคุณวุฒิของผู้ที่จะบรรจุเป็นครูผู้ช่วย ในสาขาวิชาขาดแคลน 4-5 วิชา อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น เพื่อให้ได้คนดีคนเก่งเข้ามาเป็นครู โดยเบื้องต้นแนวคิดนี้ จะให้เงินเพิ่มพิเศษ หรือค่าตอบแทนพิเศษ แก่ผู้ที่บรรจุในสาขาที่ขาดแคลนเพิ่มมาจากเงินเดือนปกติที่ได้รับ 15,000 บาทและหากได้รับความเห็นชอบจะต้องออกเป็นกฎ ก.ค.ศ.ต่อไป
          นอกจากนี้ จะให้มีการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูใหม่ แยกเป็นสายประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา เพื่อให้ตรงสายงานตามความก้าวหน้า แต่ในปัจจุบันจะใช้มาตรฐานตำแหน่งรวมในขณะที่ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และเกี่ยวพันกับเรื่องการโยกย้ายฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานตำแหน่งที่แยกออกไปแต่ละสาย
          เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนการประเมินวิทยฐานะที่ ก.ค.ศ.กำลังปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว 17/2552 ในสายผู้สอน สายผู้บริหารการศึกษา สายผู้บริหารสถานศึกษา และสายศึกษานิเทศก์ซึ่งจะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้นกว่าเดิมนั้น จะมีการเสนอให้ใช้เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะเพิ่มอีกทางเลือกหนึ่ง คือเป็นการประเมินวิทยฐานะเชิงอนาคต ที่จะนำมาใช้กับทุกวิทยฐานะ โดยจะเป็นลักษณะการประเมินที่จะต้องมีการทำข้อตกลงกับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและครูที่จะเข้ารับการประเมิน จะต้องทำข้อตกลงกับ ผอ.โรงเรียน ซึ่งจะมีการประเมินเป็นระยะ อาจจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ที่จะผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งนี้ การประเมินวิทยฐานะเชิงอนาคต จะเป็นผลดีกับการจัดการเรียนการสอน ที่ครูจะไม่ทิ้งห้องเรียน และครูจะต้องมีการพัฒนาตนเอง โดยจะต้องมีการทำข้อตกลงด้วยว่าในระหว่างการประเมินครู จะต้องไม่ย้ายไปที่โรงเรียนอื่นอย่างไรก็ตาม หากที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบสำนักงาน ก.ค.ศ. ก็พร้อมจะเดินหน้าทันทีเพื่อยกระดับและพัฒนาวิชาชีพครู
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ก.ค.ศ.ร่อนหนังสือตรวจคุณสมบัติครูผู้ช่วยรุ่นโกง

          ศึกษาธิการ * นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ กรณีการทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว12 ดังนี้ 1.กรณีครูผู้ช่วยที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการ และได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พิจารณาคำร้องทุกข์ตามกระบวนการของกฎหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2.กรณีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และ/หรือยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้ขอข้อมูลพยานหลักฐานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงศึกษาธิการตั้ง ฯลฯ รวมทั้งสอบพยานหลักฐานแวดล้อม โดยให้ครูผู้ช่วยได้มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน หากพบว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ ฟังได้ว่ามีการทุจริตในการสอบคัดเลือกจริง ให้สั่งให้ออกจากราชการตามและรายงาน ก.ค.ศ.ทราบ
          เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวอีกว่า หากตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยให้ครูผู้ช่วยชี้แจงและสอบพยานหลักฐานแวดล้อมแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการกระทำทุจริตในการสอบคัดเลือกตามที่ถูกกล่าวหา ให้รับราชการต่อไป และรายงาน ก.ค.ศ.ทราบ 3.กรณี การตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ซึ่งสอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2556 จำนวน 2,161 ราย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเชื่อว่ามีผู้สมัครสอบยื่นเอกสารหลักฐานการสมัครสอบไม่ถูกต้อง หรือขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบ และมีการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครสอบไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


จี้รัฐประกาศนโยบายเอาจริงพัฒนาภาษาอังกฤษ

          ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คนที่ 2 กล่าวในการเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ในหัวข้อ "การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ : ประสบการณ์จากต่างประเทศ" ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันสอนภาษาอีเอฟ (Education First) ของสวีเดน ได้รายงานผลการทดสอบทางอินเทอร์เน็ตในกลุ่มประชากรวัยทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ จำนวน 7.6 แสนคน ใน 60 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในส่วนของเอเชีย พบว่ามาเลเซียเป็นอันดับ1 แต่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 12 สิงคโปร์, 21 อินเดีย, 22 ฮ่องกง, 24 เกาหลีใต้, 25 อินโดนีเซีย, 26 ญี่ปุ่น, 28 เวียดนาม, 33 ไต้หวัน, 34 จีน และ 55 ไทย
          "ในรายงานยังระบุด้วยว่า ประเทศที่ประชากรมีความรู้ ภาษาอังกฤษสูงขึ้นจะทำให้แนวโน้มมีรายได้เฉลี่ยมวลรวมต่อปีสูงขึ้นด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องค้นหามาตรการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มศักยภาพในการ แข่งขัน เตรียมรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558" ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว
          ดร.ดอริส วิบูลย์ศิลป์ อดีต ผอ.บริหารมูลนิธิฟุลไบรท์ กล่าวว่า ตนสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยมา 40 ปี พบว่าปัจจุบันทักษะภาษาอังกฤษทั้งของนักเรียนและคนไทยยิ่งแย่ลง แม้แต่การใช้คำศัพท์พื้นฐานง่ายๆก็ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่คนไทยนั้น รัฐบาลต้องเอาจริงและประกาศนโยบายที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา ครู ผู้ปกครอง ฯลฯ ทั้งนี้การเอาจริงเอาจังสามารถเริ่มได้จากครูเป็นอันดับแรก
          ด้าน ผศ.ดร.เสงี่ยม โตรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ม.ศิลปากร ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนโยบายด้านภาษาต่างประเทศอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะมีนโยบายพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น สิงคโปร์จะจัดการเรียนการ สอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ในขณะที่ไทยยังถือว่าภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ยังพบว่าเฉพาะประเทศไทยนั้น ผู้ที่จะสอนภาษาอังกฤษต้องมีวุฒิด้านครู และจบวิชาเอกภาษาอังกฤษจากคณะครุศาสตร์ ทำให้พื้นฐานความรู้น้อยกว่าผู้ที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ในขณะที่ประเทศจีน เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย ผู้ที่สอนภาษาอังกฤษมักจบจากคณะอักษรศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์แล้วจึงมาเรียนวิชาชีพครูเพิ่มเติมในภายหลัง.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

สพฐ.ตั้ง 2 อนุกก.ใหญ่เร่ง'ปฏิรูปศึกษา'

          ศึกษาธิการ * สพฐ.เร่งรับลูกปฏิรูปการศึกษา ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุดใหญ่ช่วยวางแผนการศึกษา โดยเฉพาะแก้ปัญหาเรื่องด่วน สามารถเข้ามาดูแลได้ทันที
          นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ครั้งที่ 6/2556 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุดคือ คณะอนุกรรมการ กพฐ. ซึ่งเป็นกรรมการถาวร และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งจะตั้งขึ้นต่อเมื่อต้องการให้ปฏิบัติภารกิจใดภารกิจหนึ่ง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็จบกันไป ทั้งนี้ การตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พ.ศ.2546 มาตรา 18 ทั้งนี้ ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถือว่าสำคัญมากๆ เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน กพฐ.จึงตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดขึ้นเพื่อให้ภารกิจของ สพฐ. ได้รับการดูแลให้ปฏิบัติโดยครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ โดยจะเข้ามาคิดแนวนโยบายหรือแนวทางการแก้ปัญหาแทน กพฐ.
          "อนุกรรมการดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยงานและวางแผนการศึกษาให้ สพฐ. ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่และมีภารกิจด้านงานการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก ฉะนั้นหากมีเรื่องเร่งด่วนสามารถให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องดูแลได้ทันที" นายสุรัฐกล่าว
          ประธาน กพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับคณะอนุ กรรมการ กพฐ. มีทั้งสิ้น 4 ชุดคือ 1.คณะอนุกรรม การด้านปฐมวัย 2.คณะอนุกรรมการด้านประถมวัย 3.คณะอนุกรรมการด้านมัธยมศึกษา และ 4.คณะ อนุกรรมการด้านมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร ส่วนคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีทั้งสิ้น 5 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพัฒนาสมรรถนะ และวิชาชีพครู 2.คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านยก ระดับคุณภาพการศึกษา 3.คณะอนุกรรมการเฉพาะ กิจด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 4.คณะอนุกรรม การเฉพาะกิจด้านการวัดและประเมินผล และ 5.คณะ อนุกรรมการเฉพาะกิจด้านการมีส่วนร่วมของภาคประ ชาชนแต่ละสาย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น: