วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปลัดศธ.หนุนเพิ่มเงินพิเศษ'ครู' สาขาขาดแคลน-สอนเก่ง-ร.ร.เสี่ยงภัย

 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครูตามนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ว่า ขณะนี้ได้มีการยกร่างตั้งคณะกรรมการมาขับเคลื่อนในการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว ซึ่งวันที่ 23 พฤศจิกายน จะมีการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นต้น มาร่วมหารือเรื่องการผลิตครูทั้งระบบ ส่วน วันที่ 24 พฤศจิกายน จะระดมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ โดยเรื่องการพัฒนาวิชาชีพครู จะต้องนำมาพิจารณาทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือก แต่งตั้งคนเข้ามาเป็นครู จะมีหลักเกณฑ์ใหม่ๆ หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้คนเก่งและดีมาเป็นครูซึ่งจะมีเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยต้องเอื้อให้คนเหล่านั้น มาเป็นครูในปริมาณที่เพียงพอและตรงตามความต้องการ และเมื่อได้ครูเข้ามาในระบบแล้ว จะต้องมีการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน รวมทั้งจะต้องดูโอกาสและความก้าวหน้าของครู นอกจากนี้ จะต้องดูเรื่องขวัญและกำลังใจของครูในเรื่องหนี้สินต่างๆ ด้วย
          ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เสนอให้เงินเพิ่มพิเศษแก่ครูในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนนั้น มี ความเป็นไปได้เพื่อเป็นการรับรองวุฒิการศึกษาในสาขาขาดแคลนและจะได้ดึงดูดให้คนเก่งมาเป็นครู ทั้งนี้ การให้เงินเพิ่มพิเศษดังกล่าว คิดว่าคงไม่ให้เฉพาะครูสาขาขาดแคลน แต่ควรจะพิจารณาให้ครูในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ครูในพื้นที่ห่างไกล ครูในพื้นที่เสี่ยงภัย ครูที่ทุ่มเทการเรียนการสอนมาก ครูที่สอนหนังสือเก่ง แต่ไม่มีเวลาทำผลงานทางวิชาการ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ จะต้องให้ได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

'ภาวิช'ชงรื้อรูปแบบผลิตครู

          ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะทำงานกำหนดประเด็นปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครู ได้ยกร่างข้อเสนอการปฏิรูประบบผลิตครู เพื่อเสนอต่อ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางการผลิตครูให้สอดคล้อง กับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีข้อเสนอ ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาครูของชาติ อาทิ กระบวนการผลิตครู ควรทำเหมือนกระบวนการผลิตแพทย์ ที่ผู้จบแพทย์ทุกคนสามารถเป็นแพทย์ปฏิบัติทั่วไปได้ ดังนั้นผู้ที่จบครูทุกคน จะต้องสอนชั้นประถมศึกษาในทุกวิชาได้ จากนั้นจึงให้มีกระบวนการในการพัฒนาครูที่ มีความสามารถเฉพาะทางต่อไป เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาครูสอนไม่เป็น ไม่สามารถสอนนอกเหนือไปจากวิชาเอกที่จบมาได้ เพราะระบบผลิตครูปัจจุบันมีการจำแนกวิชาเอกตั้งแต่ต้น
          ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า เสนอให้ใช้โครงการ ครูพันธุ์ใหม่ รูปแบบใหม่ ผลิตนักศึกษาครูที่มีคุณภาพจริง ๆ ควบคู่กับการจัดระบบคัดเลือกครูในตลาดเสรี ให้ได้ครูที่มีคุณภาพเข้ามา โดยจำนวนการผลิตครูทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลอัตราเกษียณอายุราชการในอนาคต ที่มีประมาณ 20,000 คนต่อปี ซึ่งการบรรจุเข้ารับราชการครู ก็แบ่งสัดส่วนเป็นครูพันธุ์ใหม่ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาครูสอบแข่งขัน จะทำให้ได้ครูใหม่เป็นครูที่ มีคุณภาพทั้งหมด ทั้งนี้ หาก รมว.ศธ.เห็นด้วย ก็จะมีการกำหนด รายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

แจงสพฐ.ไม่เคยเบรกค่ายคุณธรรม

          นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ จัดโครงการพัฒนาโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องและปีนี้เป็นปีที่ 8โดยได้คัดเลือกโครงงานของนักเรียนในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้มาเข้าค่ายในระดับภาค ซึ่งมีทั้งหมด 6 ค่าย ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งค่ายแรกจัดที่วัดวชิราลงกรณ วรารามวรวิหาร จ.นครราชสีมา วันที่ 20-23 พ.ย. 56 ค่ายที่ 2 วัดปรังกาสี จ. กาญจนบุรี วันที่ 27-30 พ.ย. 56 ค่ายที่ 3 วัดพุทธเกษม จ.ขอนแก่น วันที่ 4-7 ธ.ค. 56 ค่ายที่ 4 วัดวังหิน จ.พิษณุโลก วันที่ 11-14 ธ.ค. 56 ค่ายที่ 5 วัดบุญนิมิตร จ.อุดรธานี วันที่  18-21 ธ.ค. 56 และค่ายที่ 6 วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม วันที่ 25-28 ธ.ค. 56
          "โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเด็กนักเรียน ซึ่ง สพฐ.ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้ได้มีการเสนอขออนุมัติโครงการอย่างกระชั้นชิด เพราะจะมีการจัดค่ายแรก ในวันที่ 20 พ.ย. 56 แต่เสนอโครงการมาให้อนุมัติวันที่ 15 พ.ย. 56 ขณะที่ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ.ต้องการให้ดำเนินโครงการอย่างสมพระเกียรติ เนื่องจากเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอดูรายละเอียดก่อน ประกอบกับในวันดังกล่าวนายอภิชาติมีภารกิจด่วน จึงมอบให้ดิฉันพิจารณาแทน โดยไม่เคยสั่งการให้ระงับโครงการ ซึ่งดิฉันก็ได้เซ็นอนุมัติให้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนในการสื่อสารก็ได้ และดิฉันก็ได้ไปเยี่ยมค่ายที่จังหวัดนครราชสีมาด้วย" นางอ่องจิต กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


เสวนาขับเคลื่อนนโยบาย ศธ.

          จากการเสวนา "แนวคิดสู่การพัฒนา ปัญหาไม่ใช่อุปสรรค" ในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ปี 2556 เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.เอนก ล่วงลือ ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพฐ.) ปทุมธานี เขต1 กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้การศึกษาสำเร็จก้าวหน้าอยู่ที่ตัวครู ซึ่งเวลานี้เห็นว่าครูเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะสอนเด็กในแต่ละช่วงวัย ตามหลักสูตรที่กำหนดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสอนของครูคือการขาดเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่จะดึงความสนใจให้เด็กเข้าห้องเรียนและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และการขาดขวัญและกำลังใจที่ดีที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าของงาน เป็นผลให้ครูไม่ปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นขวัญและกำลังใจครูให้ฮึกเหิมในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ เพราะตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษามาเป็นเขตการศึกษาผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนของเด็กและคุณภาพของครูก็ลดลงโดยตลอด
          ด้าน ดร.สมชัย ชวลิตธาดา ผอ.โรงเรียนเอกชัย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดก็ต่อเมื่อมีการประกาศผลจัดอันดับการศึกษาระดับประเทศ หรือมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ จากนั้นก็เงียบหายไปเป็นระยะ อย่างไรก็ตามหากพูดถึงนโยบายด้านการศึกษาแล้วอยากให้พิจารณาว่า ทุกครั้งที่มีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาลงมาสู่โรงเรียน ควรวิเคราะห์ก่อนว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีนโยบายด้านการศึกษาจากหลายกระทรวงไม่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นที่ลงมาสู่โรงเรียน จึงต้องพิจารณาก่อนว่าเหมาะกับสภาพปัญหาของโรงเรียนหรือไม่ เพราะนโยบายบางอย่างก็เหมาะสมกับบางโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งหากนโยบายใดตรงกับสภาพปัญหาของโรงเรียนก็ควรทำเต็มที่ แต่หากไม่ค่อยตรงก็จะทำพอประมาณ แต่ทั้งนี้ต้องถ่ายทอดและทำความเข้าใจกับครูให้ชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดกระแสการต่อต้าน โดยให้ครูร่วมเป็นผู้กำหนดเป้าหมายที่จะนำนโยบายไปสู่ความสำเร็จด้วยตนเอง
          "ทุกวันนี้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นเหมือนไฟไหมฟาง คือ ทำเป็นงานๆ ให้แล้วเสร็จ ซึ่งการทำลักษณะนี้จะได้ผลชั่วคราวเท่านั้นไม่ยั่งยืน จึงมองว่าหากจะแก้ปัญหาต้องคิดให้ยาวอย่างเป็นระบบ โดยต้องวางแผนตั้งแต่ต้นเช่นการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกก็ไม่ใช่ระดมการซ่อมเสริมเท่านั้น เพราะต้องทำกันทุกปีแต่จะต้องวางระบบอย่างไรให้เด็กอ่านได้โดยไม่ต้องซ่อมเลยจะดีกว่า" ดร.สมชัย กล่าว
          ด้านนายคณิน นาคะไพบูลย์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาในเวลานี้คือไม่ได้มีการคุยกันให้ชัดเจนเรื่องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพราะขณะนี้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยมากจะจัดสอบตรง ทำให้เด็กต้องเลือกวิธีกวดวิชาเพื่อให้สอบได้ เพราะหากมัวแต่เรียนในระบบคงสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ส่วนเรื่องการสอนให้เด็กคิดเป็นนั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่ตัวครูไม่เข้าใจเรื่องการสอนวิเคราะห์จึงมุ่งแต่จะหารายได้ด้วยการสอนกวดวิชา รวมถึงการให้เกรดเทียมกับเด็กเพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาว่าสอนเด็กไม่มีคุณภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: