วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เกณฑ์วิทยฐานะใหม่เน้นน.ร. 80% แต้มต่อครู'กันดาร-เหมาหลายชั้น' 20%

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายนิวัตร นาคะเวช ประธานคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว17 เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะ ว17/2552 ที่จะนำมาใช้ในการขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศในสายผู้สอน สายผู้บริหารการศึกษา สายผู้บริหารสถานศึกษา และสายศึกษานิเทศก์ ซึ่งหลักเกณฑ์วิทยฐานะที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การประเมินวิทยฐานะสายผู้สอนจะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนร้อยละ 80% ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจะกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยในหลายๆ ด้าน อย่างคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ผลการทดสอบอื่นๆ ผลการทดสอบกลางที่กำลังจะดำเนินการอยู่ คะแนนด้านปัญญา ความมีจิตสาธารณะ การเคารพสังคมของผู้เรียน ส่วนอีก 20% จะดูปริมาณและสภาพงานของครู โดยครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนห่างไกลกันดาร ครูที่มีภาระงานสอนหลายชั้น และครูที่อยู่ในโรงเรียนที่อัตราครูขาด จะมีคะแนนให้ในส่วนนี้ด้วย สำหรับการประเมินวิทยฐานะสายผู้บริหารสถานศึกษา จะให้น้ำหนักผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนประมาณ 50% และ 20% จะในส่วนของครู อย่างการส่งเสริมการพัฒนาครู การส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ และสัดส่วนที่เหลือ จะดูการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา การมีส่วนร่วมกับชุมชน
          "การดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนนั้น จะนำคะแนนโอเน็ตของผู้เรียนมาพิจารณา 2  ลักษณะทั้งระดับชาติ และระดับโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะดูพัฒนาการของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากกว่าที่จะนำมาเปรียบเทียบกับผลระดับชาติ หากนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก็จะมีคะแนนส่วนนี้ โดยวิธีการนี้จะเป็นผลดีกับโรงเรียนขนาดเล็กเพราะหากนำผลคะแนนของเด็กมาเปรียบเทียบกับคะแนนระดับชาติ โรงเรียนเหล่านี้ก็จะมีคะแนนต่ำกว่าระดับชาติอยู่แล้ว นอกจากผลคะแนนโอเน็ตแล้ว จะนำผลคะแนนส่วนอื่นๆ มาดูด้วย อย่างผลการทดสอบกลางที่เป็นนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทางคณะทำงานได้บรรจุไว้ในการประเมินวิทยฐานะนี้แล้ว" นายนิวัตรกล่าว และว่า การประเมินวิทยฐานะใหม่นี้ หลักการสำคัญคือจะทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน และไม่ต้องไปจ้างใครทำผลงาน เพราะการจะผ่านการประเมินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเสร็จแล้ว สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องนำเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ระบบฯ นำเสนอนายจาตุรนต์พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2557 กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ศธ.ผลักดันโรดแมปปฏิรูปการศึกษา เน้นขับเคลื่อน 8 นโยบายหลัก

          เมื่อวันที่ 14 พ.ย.นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ กระทรวงฯ ที่มีนายจาตุรนต์ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ  เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนงานหรือโรดแมป/โครงการเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2556-2558) ซึ่งประกอบด้วย 8 นโยบาย 52 มาตรการ
          โดยแผนฯ นี้จะเป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและ ศธ. ในการปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในรอบ 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปจัดทำเป็นแผนงานโครงการ และกำหนดเป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ เป้าหมายเชิงนโยบายภายในปี 2558 อาทิ การกระจายโอกาส และเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น โดยจะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา ให้จบการศึกษาระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมการอ่านและเพิ่มอัตราการรู้หนังสือของคนไทย 100%
          ปลัดกระทรวงฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยให้ติดอันดับโลกมากขึ้น โดยจะส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานตลอดจนส่งเส ริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามา ร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา และเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.อุดมศึกษา
          พร้อมกันนี้จะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอน อีกทั้งจะเร่งพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะส่งเสริมการเรียนการสอนทวิภาษา และอิสลามศึกษา รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และการศึกษาเพื่ออาชีพและอุดมศึกษาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

สทศ.เตือนสมัครสอบ 7 วิชาสามัญ

          รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ สทศ.มีความเป็นห่วงว่า นักเรียนอาจจะลืมสมัครและชำระเงินค่าการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ประจำปีการศึกษา 2557 เนื่องจากขณะนี้มีผู้สมัครเข้ามาแล้ว 116,925 คน แต่ชำระเงินเพียง 45,736 คน ดังนั้นขอให้นักเรียนที่จะต้องใช้ผลคะแนนการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา รีบสมัครและชำระเงิน เพื่อที่จะได้มีเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของการสมัคร โดย สทศ.เปิดรับสมัครทางเว็บไซต์ สทศ. www.cuas.or.th ถึงวันที่ 24 พ.ย. ให้ชำระเงินผ่านทางธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา ถึงวันที่ 25 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ขอฝากไปถึงนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับชั้นเทียบเท่า ม.6 ได้แก่ นักศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นาฏศิลป์ อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home school เป็นต้น ที่ต้องการใช้คะแนนผลสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2556 ให้รีบสมัคร เพราะจะปิดรับสมัครวันที่ 15 พ.ย.นี้แล้ว
          ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ สทศ.จะมีการขยายการรับสมัครทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา และการสอบความถนัดทั่วไปหรือแกต และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพหรือแพต ครั้งที่ 1/2557 ที่จะสอบ 7-10 ธ.ค. นี้หรือไม่ รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์สอบต่าง ๆ ยังไม่มีการรายงานว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบกับการสอบและยังมีเวลาอีกพอสมควร ดังนั้น สทศ.ยังดำเนินการตามกำหนดเดิม.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ก้าวสำคัญของการนำสะเต็มศึกษาไปใช้กับความหวังยกระดับคุณภาพศึกษาไทย

          สินีนาฎ  ทาบึงกาฬ          จากปัญหาในปัจจุบันที่จำนวนผู้เรียนสายวิทยา ศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีลดลง ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้การประเมินผลทั้งในระดับประเทศและ ระดับนานาชาติ บ่งชี้ว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิต ศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียน มีคุณภาพโดยเฉลี่ยต่ำ
          ด้วยเหตุนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ผลักดันให้เกิด "สะเต็มศึกษา" (STEM Education) ขึ้นในประเทศไทย โดยหวังว่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยขึ้นมาได้
          STEM Education (Science Technology Engineering and Mathematics Education) เป็นแนวทางใหม่ในการจัดการศึกษาแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าด้วยกัน ทั้งในการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงการศึกษาตลอดชีวิต
          วันนี้เราลองมาคุยกับ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมองว่าการเรียนการสอนของไทยไม่บรรลุเป้าหมาย เกิดจากหลายปัจจัยหลายอย่างทั้งครู สื่อการสอน กระบวนการเรียนการสอน การเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง จะกระตุ้นความสนใจได้มาก จากผลการวัดและประเมิน จะเห็นได้ว่าเด็กไทยไม่ได้ถูก ฝึกให้มีความสามารถในการคิดและการอ่านมากนัก การสอบวัดผลส่วนใหญ่จะเป็นคำถามแบบเลือกตอบ เป็นการปิดกั้นทางความคิดของเด็กทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสะเต็มศึกษาต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ตอบคำถามที่ใช้การอธิบาย หรือคำถามแบบปลายเปิด ครู  ผู้สอนจะได้รู้ว่าเด็กมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือทักษะของการอ่าน และทักษะคณิต ศาสตร์ที่จะช่วยให้เข้าใจและนำไปปรับใช้กับวิชา อื่น ๆ ได้
          ดร.พรพรรณ ย้ำว่า การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายแนวทาง เช่น จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นโครงงาน ประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น ๆ เพราะถ้าเด็กมีการใช้กระบวนการคิด เพื่อทำโครงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เมื่อเจอปัญหาในชีวิตจริง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นสะเต็มศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ สสวท. อยากเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน วิชาที่เรียนสามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไรบ้าง หรือเขาอยากจะไปในทิศทางของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือไม่ เพราะวิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ทั้งนี้การเรียนรู้แบบนี้ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ผู้ปกครองต้องให้โอกาสเด็ก ๆ ได้สังเกต ให้คำตอบในเรื่องต่าง ๆ และต้องเชื่อมโยงให้เด็กได้เห็นว่าสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้างรอบ ๆ ตัวเด็ก คิดว่ากระบวนการนี้จะสร้างความน่าสนใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้กับเด็กไทยทุกคน
          "สำหรับการดำเนินงานด้านสะเต็มศึกษาใน เบื้องต้น สสวท.จะกระจายกระบวนการเหล่านี้สู่ท้องถิ่น ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามสร้างเครือข่ายในอนุภูมิภาค เราได้นำวิธีการเหล่านี้มาเสริมศักยภาพเด็ก ด้วยการเรียนรู้จากการทำโครงงานอยู่แล้ว ตอนนี้ก็จะเริ่มใช้กับโรงเรียนในเครือข่ายก่อน หากเรื่องใดมีเนื้อหาที่ลึกก็อาจมีการขอความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เขาทำโครงการอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการก็สามารถสนับสนุนองค์ความรู้ได้ เพราะสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาในระบบโรงเรียนได้ก็คือ งบประมาณในการจัดหาสื่ออย่างเพียงพอ" ผอ.สสวท.กล่าว
          กับคำถามที่ว่าโรงเรียนที่ สสวท. นำร่องไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ? ดร.พรพรรณ บอกว่า โรงเรียนที่นำร่องไปแล้วคือโรงเรียนที่มี ศูนย์สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในเครือข่ายของ สสวท. แต่ตอนนี้กำลังจะเริ่มใช้กับนักเรียนปกติในปีการศึกษาใหม่นี้แทรกในสื่อประกอบการเรียนรู้ ซึ่งคู่มือครูจะมีการจัดทำและจะจัดอบรมเพื่อให้ครูสามารถนำสะเต็มศึกษาไปใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ ในที่สุดคุณครูและนักเรียนก็จะสามารถเลือกทำโครงงานได้ โดยจะเริ่มกระจายไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ โดยโรงเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมต้องมีความตั้งใจ  ที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งในขั้นแรกก็จะมีโรงเรียนนำร่องที่เป็นศูนย์สะเต็ม 12 จังหวัด จังหวัดละ 6 โรงเรียน รวมระดับภูมิภาคที่เป็นศูนย์ก็จะเป็น 84 โรงเรียนด้วยกัน ซึ่งปีการศึกษา 2557 ก็จะเริ่มสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนสนุกกับสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและสนใจ นอกจากนี้เรื่องสื่อการศึกษาก็สำคัญ เป็นส่วนที่จะทำให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหา ต่าง ๆ ได้"
          หากผล  PISA ยังอยู่ในระดับต่ำ แล้วสะเต็มศึกษาจะมีส่วนช่วยอย่างไร ? ดร.พรพรรณ เห็นว่า ส่วนหนึ่งคือการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของ สสวท. รวมทั้งสะเต็มศึกษา จะกระตุ้นการเรียนการสอนให้เด็กสนใจ ดังนั้นในการตอบโจทย์ต้องมีการทำอย่างเป็นขั้นตอน และต่อเนื่องระยะยาว เพราะปัญหาของ PISA คือการอ่าน ซึ่ง สพฐ. มีนโยบายที่จะผลักดันในเรื่องของการอ่าน การเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ สามารถเน้นการอ่านได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องการอ่านจะเข้ามาแทรกในวิชาต่าง ๆ นอกจากนี้การวัดและการประเมินจะเน้นการคิดวิเคราะห์ให้ครูได้ใช้เป็นตัวอย่าง จึงอยากยกเลิกกระบวนการที่เน้นความจำ เปลี่ยนเป็นเน้นให้นักเรียน ได้อธิบายเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน และไม่ใช่แค่วิชาเดียว แต่ต้องทำทุกวิชา
          สำหรับโรงเรียนที่ลงมือปฏิบัติไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ? ผอ.สสวท.ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่เรามองจากการเรียนรู้ เช่น นักเรียนในโครงการ GLOBE จะมีทักษะในการสังเกต การวัด การรวบรวมข้อมูล การตอบโจทย์อย่างเป็นขั้นตอน เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแค่เพียงเด็กที่มีความสามารถพิเศษเท่านั้น อยากให้เกิดกับนักเรียนทั่วไปด้วย
          ผอ.สสวท.ย้ำอีกว่า เป้าหมายสำคัญคือการทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ และมองเห็นการเชื่อมโยงอาชีพในอนาคตข้างหน้า ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปี นักเรียนจะได้ฝึกฝน สะสมความรู้ความคิด คนรุ่นใหม่มีความรู้และทักษะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สามารถประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณภาพชีวิตที่ดีในยุคประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งมีเป้าหมาย ที่จะยกระดับคุณภาพและเพิ่มจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประชากรไทยให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
          สำหรับการเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมสะเต็มศึกษา สสวท.จะรับสมัครโรงเรียน และรับสมัครบุคคลหรือหน่วยงานในท้องถิ่นที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่สนใจอยากเข้าร่วม เช่น สมาคมผู้ปกครองที่มีอาชีพหลากหลายก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ ที่บ้าน ที่โรงเรียน ด้วยตัวของนักเรียน และตอนนี้สื่อต่าง ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย เด็กโตอาจเข้า ไปศึกษาได้เอง แต่เด็กเล็กผู้ปกครองอาจต้องช่วย ชี้แนะด้วย
          "สะเต็มศึกษา เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ครูจำนวนมาก ที่ได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการนำเอาสาระเนื้อหา วิชาต่าง ๆ มาให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน การ นำสะเต็มศึกษามาใช้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ครูจะต้อง ทิ้งของเดิมทั้งหมด เพียงแต่รู้จักบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เข้า ด้วยกัน โดยต่อจากนี้ไป สังคมไทย และแวดวงการศึกษาของไทยก็จะเห็นการส่งเสริมผลักดันด้าน สะเต็มศึกษาจาก สสวท. อย่างเป็นรูปธรรม และนำ ไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น" ดร.พรพรรณ กล่าว ทิ้งท้าย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: