วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: เงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2556 และ ปี 2557

ศิริพร  กิจเกื้อกูล
            เลขาธิการ ก.ค.ศ.
          สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน หลายท่านคงได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับมติการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กันไปบ้างแล้วว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง (การกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ) ปี 2556 และปี 2557 และเห็นชอบการกำหนดอัตราเงินเดือนและจำนวนเงิน ที่ได้ปรับตามคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง (การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ) ปี 2556 และปี 2557 ตามที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอ โดยมีหลักการที่สำคัญในการปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวคือ 1.) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท 2.) การกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องกำหนดให้ใกล้เคียงกับข้าราชการพลเรือนสามัญ และ 3.) การกำหนดอัตราเงินเดือนนั้นจะต้องยึดโยงตามบัญชีเงินเดือนชั่วคราวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
          ซึ่งจากมติ ครม.ที่เห็นชอบการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับอัตราเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปี 2556 และปี 2557 นี้ จะส่งผลให้
          1.ผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุที่สูงขึ้น เช่น คุณวุฒิปริญญาตรี 4 ปี เดิม ในวันที่ 1 มกราคม 2555 ได้รับเงินเดือนในอัตรา 11,920 บาท เงินเดือนใหม่ในปี 2556 จะได้รับในอัตรา 13,470 บาท และปี 2557 จะได้รับในอัตรา 15,050 บาท คุณวุฒิปริญญาโททั่วไป จากเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2555 ได้รับเงินเดือนในอัตรา 15,430 บาท เงินเดือนใหม่ในปี 2556 จะได้รับในอัตรา 16,570 บาท และปี 2557 จะได้รับในอัตรา 17,690 บาท เป็นต้น
          2.สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในครั้งนี้ คือผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เช่น คุณวุฒิปริญญาตรี 4 ปี อันดับครูผู้ช่วย ช่วงอัตราเงินเดือนที่จะได้รับการปรับชดเชย คือ อัตรา 11,920-17,690 บาท อันดับ คศ 1 ช่วง 11,920-23,360 บาท และปี 2557 ในวันที่ 1 มกราคม 2557 คุณวุฒิปริญญาตรี 4 ปี อันดับครูผู้ช่วย ช่วงอัตราเงินเดือนที่จะได้รับการปรับชดเชย คือ อัตรา 13,470-17,690 บาท อันดับ คศ 1 ช่วง 13,860-25,240 บาท เป็นต้น
          ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการปรับอัตราเงินเดือนทั้ง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้เงินเหลือจ่ายจากส่วนราชการก่อน หากไม่พอให้ใช้จ่ายจากงบกลางรายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะได้มีหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเร่งดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องต่อไป และพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

เร่งปั๊มแม่พิมพ์ 5 สาขาขาดแคลน รองรับเกษียณ-หนุนรื้อหลักสูตรสายครู

          รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานวิเคราะห์ระบบการพัฒนาและผลิตครูนัดแรก ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด แต่ได้แนวทางว่าจะต้องไปหาข้อมูลพื้นฐานเรื่องขาดแคลนครูให้ตรงกันก่อนทั้งในส่วนของ สพฐ. และ ก.ค.ศ. ซึ่งการพัฒนาและผลิตครูจะต้องยึดคุณภาพของนักเรียนเป็นตัวตั้ง โดยเบื้องต้นจะเน้นครูที่ขาดแคลนใน 5 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ จะให้แต่ละหน่วยงานไปหาข้อมูลว่าในสาขาวิชาดังกล่าว ยังขาดแคลนอัตราเท่าไร และครูที่มีอยู่จะมีการพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ การที่เน้นการผลิตและพัฒนาครูในสาขาวิชาหลักนี้ เพราะถือเป็นสาขาที่สำคัญและจะต้องส่งเสริมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ในอนาคต
          รองเลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า นอกจาก การเพิ่มอัตรากำลังครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลนแล้ว ได้มีการพูดถึงการผลิตครูของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่จะต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลครูที่ขาดแคลนใน ขณะนี้ยังไม่ตรงกัน เช่น สำนักงาน ก.ค.ศ. บอกว่า ในอีก 10 ปีจะมีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการประมาณ 2 แสนคน ส่วนข้อมูลของ สพฐ.ระบุว่าจะมีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการภายใน 6 ปีประมาณ 1 แสนคน แต่ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูประมาณ 3 แสนกว่าคนและ ผู้ที่จบสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์อีกปีละประมาณ 4-5 หมื่นคน เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ติวครูแนะเด็กเรียนสายอาชีพ

          นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการกำหนดนโยบายเรื่องเป้าหมายสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะและสายสามัญใหม่นั้น ขณะนี้นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสมาคมครูแนะแนวจัดประชุมชี้แจงระดมครูแนะแนวโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อแนะนำและแนะแนวการศึกษาต่อของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเรียนต่อสายอาชีพ รวมถึงการหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กหันมาเรียนสายอาชีวะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมางานแนะแนวการศึกษาในร.ร.ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เด็กเลือกเรียนต่อสายสามัญเป็นหลัก ส่วนน้อยมากที่ครูจะแนะแนวให้เด็กเลือกเรียนต่อสายอาชีพ จึงทำให้เด็กหลายคนมุ่งเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
          รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า สพฐ.ยังมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยจะจัดโรดโชว์การศึกษาต่อสายอาชีพในร.ร.มัธยมศึกษา ซึ่งครูจะต้องมีการวิเคราะห์และหาข้อมูล ความสามารถเด็กแต่ละคนว่าควรจะให้เด็กไปเรียนในสาขาไหนได้บ้าง รวมถึงการจัด Open House พานักเรียนชั้นม.3 ไปดูการเรียนการสอนแต่ละสาขาในวิทยาลัยอาชีวะ อาชีวศึกษาจะต้องสร้างแรงจูงใจและมีความชัดเจนในการทำประชาสัมพันธ์ เช่น สาขาวิชาชีพไหนเรียนแล้วเป็นอย่างไร การันตีการมีงานทำให้กับเด็ก เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น: