วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สกศ.รื้อแผนการศึกษาชาติล้าสมัย นำร่องถกระดับภาค-หนุนวิจัยพัฒนา 4 หัวข้อหลัก

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง "การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (2556-2559) สู่การปฏิบัติ ภาคเหนือ" โดยหารือถึงการขับเคลื่อนกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษา ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำมาตั้งแต่ปี 2542 และปรับปรุงมาเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันมีหลายเรื่องที่ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เช่น เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว การศึกษาไม่มีการพูดถึงเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเรื่องยาเสพติด และเรื่องอาเซียน จึงควรเพิ่มเติมเรื่องเหล่านี้ในแผนการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับการประชุมนี้จะจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค โดยจัดที่ จ.เชียงราย เป็นครั้งแรก และอีก 3 ภูมิภาค คือ ภาคกลางที่ กรุงเทพฯ ภาคใต้ที่ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น ตามลำดับ
          เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จัดตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ มุ่งเน้นเรื่องการสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ทางการศึกษา เป็นครั้งแรกที่เริ่มจัดในภาคเหนือ โดยเชิญหน่วยงานทางการศึกษา สถาบันการศึกษา นักวิจัยที่ดำเนินการวิจัยทางการศึกษาตามกรอบการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ ประเด็นและหัวข้อวิจัยทางการศึกษาที่เน้นด้านนวัตกรรมการจัดการศึกษา ที่นำไปสู่การเสนอนโยบาย การแก้ปัญหา งานวิจัยที่ตรงความต้องการของพื้นที่ เป็นต้น มานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
          โดยแบ่งกลุ่มงานวิจัยตามหัวข้อได้ 4 หัวข้อหลัก คือ 1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การสร้างและกระจายโอกาสการศึกษา 2. การปฏิรูปครู 3.การจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องตลาดแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับการเปิดอาเซียน และ 4.การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญา ของชาติ
ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2556

ศธ.ไทย-จีนร่วมยกระดับจัดการศึกษา ชู 3 งานใหญ่ส่งเสริมภาษา-อาชีวะ-อุดมฯ

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือเกี่ยวกับการจัดการศึกษาร่วมกับนายหยวน กุ้ยเหริน รมว.ศธ.สาธารณรัฐประชาชนจีน ใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ ความร่วมมือระดับอุดมศึกษา การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย และความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา โดยเรื่องความร่วมมือระดับอุดมศึกษานั้น ถึงแม้จะ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกันเองแต่ทางจีนก็ยินดีที่ จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือมากขึ้น ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนภาษาจีน ที่พบว่าขณะนี้นักเรียนไทยสนใจเรียนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก แต่ต้องมีการปรับระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนในการสนทนาได้ดี ซึ่ง รมว.ศธ.จีน รับที่จะให้ความช่วยเหลือโดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำวิจัยพัฒนา สื่อ หลักสูตร การเรียนการสอนภาษาจีน และส่งอาสาสมัครสอนภาษาจีนมาให้เพิ่มขึ้นด้วย
          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของอาชีวศึกษานั้น สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีของจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยและได้มีการลงนามร่วมกันใน 6 ด้าน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นเรื่องการศึกษาที่เน้นด้านการอาชีวศึกษาเป็นการเฉพาะ ตนจึงได้เสนอว่าควรจะเลือกวิทยาลัยบางแห่งมาพัฒนาโดยใช้รูปแบบของจีนมาเป็นต้นแบบ เนื่องจากปัจจุบันจีนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการอาชีวศึกษาอย่างมากโดยถือเป็นเรื่องใหญ่ของจีน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของประเทศไทยในขณะนี้
          "ศธ.มีนโยบายที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเรียนภาษาต่างประเทศของคนไทยให้มีศักยภาพ ซึ่งมีคนสนใจทุกภาษา แต่ที่พูดถึงการส่งเสริมการเรียนภาษาจีนมากกว่าภาษาอื่น เพราะทุกวันนี้มีเด็กไทยเรียนภาษาจีนมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาษาอังกฤษ และความต้องการคนที่พูดภาษาจีนก็มีค่อนข้างสูง เพราะมีการค้าการลงทุนและมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงเรามีการทำความร่วมมือกับจีนในหลายเรื่องด้วย" นายจาตุรนต์ กล่าว.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2556


เล็งผุดแผนแม่บทไอซีทีการศึกษา

          เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษนโยบาย Smart Education เพื่อคุณภาพการศึกษา ณ ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า กำลังให้ช่วยกัน คิดว่าควรจะมีอัตราครูด้านเทคโนโลยีการศึกษาให้เพียงพอได้อย่างไร โรงเรียนหนึ่ง จะมีครูด้านนี้หนึ่งคนได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะรับจากผู้ที่จบการศึกษาด้านนี้อยู่แล้วหรืออาจใช้วิธีการอบรมพัฒนาครูที่มีอยู่ แต่เรื่องใหญ่มากของประเทศไทย คือ การคิดวางแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการที่จะทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องการพัฒนาเนื้อหาสาระ แบบเรียน บทเรียน แบบฝึกหัดและบททดสอบที่จะนำมาใช้ในลักษณะของแอพพลิเคชั่น ที่จะใช้ในการเรียนการสอน โดยการวางแผนนี้ ต้องรีบทำ จะทำให้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาในการเรียนการสอนสมัยใหม่ได้เร็วขึ้น เป็นระบบและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ศธ.เล็งแก้ '1 อ.' รุ่น 5 อิงกลุ่มแทน หลังรับสมัครถี่แต่ไม่ถึงเกณฑ์คะแนน 70 % เปิดทางให้เด็กได้แต้มสูงสุดในอำเภอซิวทุน

          เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกรับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ในรุ่นที่ 4 รอบสอง ซึ่งมียอดสมัครกว่า 10,000 คนและสามารถรับทุนได้ประมาณ 1,000 คน โดยจะประกาศผลการสอบข้อเขียน วันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะสอบสัมภาษณ์และทราบผลต้นเดือนธันวาคมและจะจัดอบรมผู้ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเลือกมหาวิทยาลัยได้ตามที่ต้องการและเรียนจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ช่วงเดือนกันยายนปี 2557 ทั้งนี้ หากผลการคัดเลือก ปรากฏว่า มีจำนวน ผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนวิชาที่สอบ 70% ขึ้นไป น้อยกว่าจำนวนทุน 1,000 กว่าทุน จะต้องพิจารณาว่าจะต้องรับสมัครสอบรุ่นที่ 4 รอบที่สามหรือไม่ หรืออาจจะต้องนำทุนที่ไม่มีผู้สอบได้ไปสมทบรวมกับการคัดเลือกโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนในรุ่นที่ 5 แทนหรือไม่ ทั้งหมดจะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน พิจารณาว่าจะดำเนินการเช่นไร
          "ในการสอบโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนรุ่นที่ 5 จะต้องปรับเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ เพราะทุกวันนี้การที่เราไปอิงเกณฑ์มากๆ ทำให้เป้าหมายของนักเรียนที่จะผ่านเกณฑ์รับทุนมีน้อยเพราะปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 บางครั้งนักเรียนต่างจังหวัดที่สอบได้ที่หนึ่งในอำเภอ แต่ไม่ถึงร้อยละ 70 จึงทำให้ไม่ได้รับทุน ดังนั้น เกณฑ์ใหม่จะเน้นการอิงกลุ่ม การกระจายโอกาสให้มากขึ้น และอาจจะไปเข้มข้นในเรื่องการเตรียมพร้อมก่อนจะไปเรียนต่อ เช่น การเตรียมด้านสภาพแวดล้อม มีการสอนเสริมให้มากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้สามารถสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้" ปลัด ศธ.กล่าว
          ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า เกณฑ์อิงกลุ่มอาจจะไม่ได้ยึดคะแนนร้อยละ 70 ทั้งหมด เช่น ใครที่สอบได้คะแนนที่หนึ่งของอำเภอแต่ไม่ถึง ร้อยละ 70 จะให้รับทุนดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการเดิมของโครงการนี้ที่ให้เด็กเก่งแข่งกันในอำเภอ โดยให้นักเรียนที่ได้ที่หนึ่งของอำเภอได้รับทุน ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้เกณฑ์อิงกลุ่มเพิ่ม จะต้องมีการจัดกลุ่มของเด็กที่ได้รับทุน เช่น อาจจะเป็นกลุ่มที่พร้อมมาก พร้อมปานกลางและพร้อมน้อย เพื่อมาเตรียมความพร้อมให้แต่ละกลุ่ม ส่วนการเลือกมหาวิทยาลัยนั้น จะมีช่องทางเพิ่มขึ้น คือ มีมหาวิทยาลัยที่มีข้อตกลงกับทาง ศธ.ให้เด็กได้เข้าไปเรียนจากเดิมที่เด็กจะเป็นผู้เลือกมหาวิทยาลัยเอง ส่วนนักเรียนอาชีวศึกษา อาจจะต้องปรับเกณฑ์ให้สอดคล้อง ไม่ใช่ว่าจะให้เด็กอาชีวะมาสอบรวม อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะรีบนำเสนอคณะกรรมการบริหาร พิจารณาต่อไป ทั้งนี้นายจาตุรนต์ ยังได้มอบให้ ศธ.วิจัยติดตามผลของโครงการว่าที่ผ่านมาเป็นเช่นไรบ้าง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: