วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สพฐ.เตรียมเปิดชิง 70 เก้าอี้ผอ.สพท.

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้สอบคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ(ผอ.)และรองผอ.สถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมให้ขึ้นบัญชีการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษา เนื่องจากยังมีตำแหน่งว่าง แต่ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ขึ้นบัญชีไว้เท่ากับจำนวนที่มีตำแหน่งว่างปัจจุบันและที่คาดว่าจะว่างจากการเกษียณอายุราชการใน 2 ปีงบประมาณ ทำให้ผู้สอบผ่านเกณฑ์บางส่วนไม่ได้ขึ้นบัญชี  ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มอบให้ สพฐ.ไปสำรวจตำแหน่งว่างที่แท้จริงนั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้รายงานผลสำรวจต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ แล้วว่า ตำแหน่งว่างที่คลาดเคลื่อนจากวันที่แจ้งอัตราทั้งประเทศไม่เกิน 100 อัตรา แต่จะให้ประกาศขึ้นบัญชีผู้ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ทั้งหมดในวันนั้นยังทำไม่ได้ เนื่องจากเวลานั้นแจ้งตำแหน่งว่าง 630 อัตรา ก็ต้องประกาศไป 630 อัตรา ส่วนที่มีว่างเพิ่มในภายหลังก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้ผลการสอบครั้งเดียวกันนั้นหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมีเสียงท้วงติงจากอีกด้านเช่นกันว่าทำไมไม่สอบใหม่
          "สพฐ.มองว่าต้องฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ด้าน ไม่ใช่ใครมาร้องก่อนก็ฟังคนนั้น เพราะกลุ่มที่ทำคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 มีเหลือประมาณ 600 คน และเหลืออีกไม่กี่เดือนจะครบ 2 ปี ขณะที่มีผู้รอการสอบใหม่หลายพันคน ซึ่งคณะทำงานของ สพฐ.ได้เสนอความเห็นว่าเรื่องนี้ควรต้องขอความเห็นจากผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพฐ.)ทั่วประเทศด้วยว่าจะควรใช้วิธีการใดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
          นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีการถอนฟ้องเรื่องการสอบคัดเลือกผอ.สพท.19 ตำแหน่งแล้วนั้น สพฐ.จะเร่งสรรหาผอ. สพท.เพื่อดำรงตำแหน่งที่ว่างทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 70 ตำแหน่ง โดยเป็นการสอบคัดเลือกและคัดเลือกอย่างละครึ่ง ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.)สพฐ.ทำหนังสือถึงรองผอ.สพท.ที่มีคุณสมบัติครบให้เตรียมตัวเข้ารับการสรรหาได้.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


การทดสอบระดับสถานศึกษาและระดับชาติ
 ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการประเมินมาตรฐานผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมมอบนโยบายเรื่อง “การทดสอบระดับสถานศึกษาและระดับชาติ” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556  โดยมีคณะทำงานการประชุมเสวนาดังกล่าวเข้าร่วมประชุมจำนวน 30 คน อาทิ รศ.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) ศาสตราจารย์กิตติคุณ สมหวัง พิธิยานุวัฒน์  ดร.อ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร ข้าราชการ คณาจารย์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่าง "การทดสอบวัดผล" กับ "หลักสูตร"
รมว.ศธ.กล่าวว่า ต้องการให้ที่ประชุมพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการทดสอบวัดผลกับหลักสูตรว่า การทดสอบวัดผลจำเป็นต้องเน้นตัวชี้วัดอะไรบ้าง ต้องเน้นการคิดวิเคราะห์ และความเชื่อมโยงระหว่างการทดสอบกับสิ่งที่เรียน หรือหลักสูตรอย่างไร ซึ่งปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ออกข้อสอบไม่ตรงกับการเรียนตามหลักสูตร ข้อสอบมีความยาก ทำให้คนไม่สนใจการเรียนการสอนในระบบ ดังนั้นไม่ว่าจะปฏิรูปการเรียนการสอนอย่างไร ก็จะไม่มีผล เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งครู นักเรียนชั้น ม.ปลาย ผู้ปกครอง จะไม่สนใจในสิ่งที่โรงเรียนสอน เพราะเด็กต้องสอบในสิ่งที่ไม่มีสอนในโรงเรียน
ทั้งนี้ สทศ.จะพิจารณาร่วมกับ สพฐ.ว่า หากจะต้องมีการทดสอบวัดผล จะต้องวัดในชั้นใดบ้าง เพื่อให้การทดสอบวัดผลกลางได้นำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้ฝ่ายจัดการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบว่าเด็กเรียนอยู่อย่างไร และหาแนวทางปรับปรุงต่อไป ซึ่งหากจะวัดทุกชั้นคงจะไม่ได้ เพราะจะสิ้นเปลืองมาก รวมทั้งจะต้องหารือเรื่องช่วงเวลาทดสอบที่เหมาะสมด้วยว่า จะทดสอบในเทอมใด หรือผลที่เกิดจากการวัดผลจะเป็นอย่างไร เพราะหากการสอบไม่มีผลต่อเด็กๆ ก็อาจจะไม่ตั้งใจสอบ และทำให้ไม่ทราบผลการเรียนที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในบางประเทศใช้เวลาในการจัดระบบทดสอบวัดผลเป็นเวลานาน ในขณะที่มีหลายประเทศมีการวัดและเก็บสถิติเด็กที่สอบไม่ผ่านด้วย เช่น ฟินแลนด์ โปแลนด์ เป็นต้น
ศธ.จะผลักดันให้มีระบบ "การทดสอบกลาง" เป็นเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ศธ.ไม่มีการทดสอบกลางมานานมาก ทำให้ประเทศไม่มีเครื่องมือที่จะทราบว่าการเรียนการสอนเป็นอยู่อย่างไร แต่ปล่อยให้ครูและโรงเรียนวัดเอง ศธ. จึงต้องการให้นำการทดสอบกลางมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อบอกถึงสถานะการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ของเด็ก รวมทั้งนำมาปรับปรุงการจัดการศึกษาตลอดจนนำไปสู่การปฏิบัติงานของโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยจะต้องมีผู้รับผิดชอบในการออกข้อสอบ พร้อมทั้งมีการพัฒนาคลังข้อสอบ ซึ่ง สพฐ.จะร่วมดำเนินการกับ สทศ.ต่อไป
ฝากข้อคิดเรื่อง "การซ่อมเสริม" และ "การตกซ้ำชั้น"
ในความเป็นจริง มีประกาศเรื่องการตกซ้ำชั้นตั้งแต่ปี 2548 แล้ว แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะเด็กจะตกซ้ำชั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับครู หากครูให้เด็กผ่านทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออกเลย ก็ให้เกรด 1 ซึ่งเด็กคนนี้อาจจะผ่านในวิชาอื่นๆ ด้วยโดยที่อ่านหนังสือไม่ได้เลย ดังนั้น จึงฝากให้ช่วยกันคิดว่า การทดสอบจะดำเนินการเพียงใด มีความเคร่งครัดของเกณฑ์การสอบผ่านอย่างไร และหากสอบไม่ผ่านจะมีแนวทางอย่างไร จะให้ซ้ำเป็นรายวิชาเช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือไม่ หรือหากเด็กอ่านหนังสือไม่ออกก็ต้องให้ผ่านเพราะคนส่วนใหญ่กังวลว่าเด็กจะเสียอนาคต เสียเวลาเรียนอีก 1 ปี แต่ไม่กังวลว่าเด็กเสียเวลาไปแล้วตลอด 6 ปี หรือ 9 ปี ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่เด็กจะต้องเสียเวลาถึง 9 ปี ก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก จึงขอให้พิจารณาถึงการพัฒนาปรับปรุงระบบการซ่อมเสริมให้มีความเข้มแข็งขึ้น
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี


เล็งปี 57 เริ่มใช้ข้อสอบกลาง 30 %

          แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือเรื่อง การประเมินและระบบทดสอบกลาง ซึ่งมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. เป็นประธาน ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือทิศทางการทดสอบวัดผลกลาง ว่า จะดำเนินการไปในทิศทางใด โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า การทดสอบจะดำเนินการเป็นอัตราส่วนระหว่างข้อสอบกลาง และข้อสอบปลายภาค ซึ่งช่วงแรกจะเริ่มใช้ข้อสอบกลางในทุกระดับชั้น ประมาณ  30% และข้อสอบปลายภาค 70% โดยเริ่มในปีการศึกษา 2557 จากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มอัตราส่วนของข้อสอบกลางให้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะไม่เกิน 50% ทั้งนี้ ข้อสอบกลางจะเป็นข้อสอบมาตรฐานที่ผ่านกระบวนการพิจารณาจากชุมนุมนักวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 1,000 คน ที่จะมาร่วมกันดูแลเรื่องข้อสอบ
          "มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องมีการเก็บคะแนนการสอบระหว่างภาค และปลายภาคตามสภาพจริงไว้ด้วย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงต้องคงข้อสอบปลายภาคไว้เหมือนเดิม จะใช้ข้อสอบกลางทั้ง 100% ไม่ได้" แหล่งข่าวจาก ศธ. กล่าวและว่า การใช้ข้อสอบกลางนอกจากจะทำให้ทราบภาพรวมผลการจัดศึกษาทั้งประเทศแล้ว ยังจะช่วยทำให้ครูรู้แนวทางวิธีการออกข้อสอบที่ถูกต้อง โดยเฉพาะด้านการคิดวิเคราะห์ว่าควรจะออกข้อสอบอย่างไร ซึ่งต้องค่อย ๆ สร้างความตระหนักให้แก่ครู เพื่อให้ครูได้นำไปใช้ในการออกข้อสอบปลายภาคต่อไป ทั้งนี้ ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการประเมินและระบบทดสอบกลางอีกครั้ง เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอ รมว.ศธ. พิจารณาก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: