วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ก.ค.ศ.เสนอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี

 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการผลิตและพัฒนาครู เปิดเผยว่า จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การปฏิรูประบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา" ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีการเสนอความคิดเห็นหลายประเด็น อย่างระบบความก้าวหน้าของวิชาชีพข้าราชการครูยังไม่ชัดเจนเพราะไปผสมอยู่กับระบบราชการ ไม่ได้เป็นระบบวิชาชีพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ
          ทางด้าน นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประธานคณะทำงานการผลิตครู กล่าวว่า กำลังรวบรวมความคิดเห็นจากการประชุมซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการจะสร้างคุณภาพนักเรียน จะต้องไปเสริมสร้างอะไรได้บ้าง อย่างการผลิตครูควรจะต้องไปผูกกับการบรรจุครูเพราะก่อนการผลิตครู จะไม่รู้ว่าเมื่อผลิตออกมาแล้วจะไปอยู่ที่ไหนบ้าง
          ส่วนแนวคิดการเสนอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี นั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปซึ่งหากจะต่ออายุราชการน่าจะต้องดูเป็นรายโรงเรียนที่มีความจำเป็นต่อคุณภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องประชุมหารือกันอีกหลายรอบเพื่อหาข้อสรุปกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาว
          ขณะที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เสนอแนวคิดการต่ออายุราชการครูจาก 60 ปี เป็น 65 ปี แต่จะต้องเป็นข้าราชการครูในสาขาที่ขาดแคลน ครูในท้องถิ่นที่มีความต้องการครูเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการต่ออายุราชการด้วย เช่น การกำหนดวิทยฐานะขั้นต่ำที่จะต่ออายุราชการได้ อาจจะไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่จะต่ออายุราชการให้อาจารย์ที่จะต้องมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ เป็นต้น ทั้งนี้ เรื่องการต่ออายุราชการครูอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายละเอียดของสำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาใช้ จะลดปัญหาการขาดแคลนครูได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน
Source - มติชนออนไลน์



'จาตุรนต์' แนะสพฐ.ประชาพิจารณ์หลักสูตรก่อนใช้
          "จาตุรนต์" แนะสพฐ.ส่งหลักสูตรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและเปิดสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก่อนนำไปใช้
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ได้ประชุมคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2556 ขอให้ที่ประชุมช่วยพิจารณาวิธีและกระบวนการที่เหมาะสมในการออกแบบ การจัดทำ ปรับปรุงหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล โดยขอให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องเป็นผู้รับรองหลักสูตร และต้องเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการลงนามก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อจัดทำหลักสูตรเสร็จแล้วจะมีการส่งต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วย เช่น สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี( สสวท.)
          นอกจากนี้ในการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นควรให้หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แม้จะมีการประชุมรับฟังที่เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่มมาแล้วหลายจุด พบว่ายังมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องหลักสูตร บางรายเห็นว่าหลักสูตรในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร บางรายอาจจะเห็นว่าต้องปรับปรุงเป็นบางส่วน
          ดังนั้นหากจัดให้มีการประชุมแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องมากๆ ได้มาพูดคุยหารือร่วมกันจะทำให้รู้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไรบ้าง และที่จำเป็นมากต้องให้คนทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหลักสูตรเกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครองทุกคน หากประชาชนในวงกว้างได้รับความรู้ความเข้าใจในความจำเป็น เนื้อหา รายละเอียดของการปรับปรุงหลักสูตร ก็จะสร้างความเข้าใจ เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้การปฏิรูปหลักสูตรประสบผลสำเร็จ ไม่เป็นอุปสรรค และที่สำคัญเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการให้กระบวนการต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของ ศธ. และคนทั้งสังคม เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: