วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

มว.ศึกษาธิการ ประกาศยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย หลังผลทดสอบนานาชาติพบ นักเรียนไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ประจำปี 2012 ซึ่งปรากฏว่า คะแนนของนักเรียนไทยทุกวิชาสูงขึ้น แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นั้น ไม่ใช่จุดด้อยหรือจุดอ่อนแต่อย่างใด แต่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับผลคะแนนของประเทศไทยในการประเมินครั้งต่อไปปี 2558 ให้สูงขึ้น พร้อมทั้ง ประเมินต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ผลประเมิน PISA ในอนาคตเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อระบบคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ขณะเดียวกันการประเมิน PISA ยังเป็นการประเมินที่สอดคล้องตามนโยบายของตนที่ต้องการให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์เป็นอีกด้วย
          "หวังว่าผลการประเมินนี้ จะทำให้เกิดข้อค้นพบในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ดังนั้น จากนี้ไป ศธ. จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะยกระดับผลคะแนน PISA ไปถึงระดับใด และจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงมาประกอบพร้อมมีแผนรองรับการปฏิรูปเรื่องนี้ทั้งระบบด้วย" นายจาตุรนต์ กล่าว
          ทั้งนี้ นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้จัดการโครงการประเมินผล PISA ระดับชาติปี 2012 แถลงผลการประเมิน PISA ว่า มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีของไทยเข้ารับการประเมินด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ จำนวน 6,606 คนจาก 239 โรงเรียนทุกสังกัด ซึ่งผลการประเมินพบว่า
          1.ด้านคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ย 427 คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 419 คะแนน แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 494 คะแนน และเมื่อเรียงตามคะแนนเฉลี่ยจาก 65 ประเทศ อยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาซักคสถาน ชิลี มาเลเซีย โดยเซี่ยงไฮ้-จีน มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 613 คะแนน รองลงมา สิงคโปร์ 573 คะแนน ฮ่องกง 561 คะแนน จีนไทเป 560 คะแนน เกาหลีใต้ 554 คะแนน มาเก๊า 538 คะแนน ญี่ปุ่นน 536 คะแนน ลิกเตนสไตน์ 535 คะแนน สวิตเซอร์แลนด์ 531 คะแนน และเนเธอร์แลนด์ 523 คะแนนตามลำดับ ส่วนเวียดนามที่เข้ารับการประเมินเป็นปีแรกมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ซึ่งจากการวิเคราะห์คะแนนนักเรียนไทย 50% รู้คณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานถือเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะนักเรียนสายอาชีวศึกษาเอกชนที่มีสัดส่วน 82% อาชีวศึกษารัฐ 70%
          2.ด้านวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 444 คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 425 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD 501 คะแนน โดยเซี่ยงไฮ้-จีน มีคะแนนสูงสุด 580 คะแนน รองลงมาสิงคโปร์ 551 คะแนน ญี่ปุ่น 547 คะแนน ฟินแลนด์ 545 คะแนน เอสโตเนีย 541 คะแนน เวียดนาม 528 คะแนน โปแลนด์ 526 คะแนน และแคนาดา ลิกเตนสไตน์ 525 คะแนน ซึ่งจากการวิเคราะห์คะแนนมีนักเรียนที่รู้วิทยาศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐานอยู่ 34% มากกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนักเรียนกลุ่มนี้มีสัดส่วนลดลงจากครั้งที่ผ่านมา 9%
          3.ด้านการอ่าน คะแนนเฉลี่ย 441 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 420 คะแนน แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD 496 คะแนน โดยเซี่ยงไฮ้-จีน คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 570 คะแนน รองลงมา ฮ่องกง 545 คะแนน สิงคโปร์ 542 คะแนน ญี่ปุ่น 538 คะแนน เกาหลี 536 คะแนน ฟินแลนด์ 524 คะแนน ไอร์แลนด์ 523 คะแนน จีนไทเป 523 คะแนน แคนาดา 523 คะแนน และโปแลนด์ 518 คะแนน ซึ่งนักเรียนไทยกลุ่มที่มีการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐานมีมากถึง 33% มากกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะมีแนวโน้มสัดส่วนลดลง 6% จากการประเมินครั้งที่ผ่านมา
          "เมื่อดูผลการประเมินทั้งสามด้านของนักเรียนไทยแยกตามกลุ่มโรงเรียนจะพบว่า นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และกลุ่มโรงเรียนสาธิตจะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และยังมีคะแนนเท่ากับกลุ่มสิบประเทศที่มีคะแนนสูงสุด เช่น ด้านวิทยาศาสตร์กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณฯ มีคะแนน 565 คะแนน กลุ่มโรงเรียนสาธิต 533 คะแนน ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ได้แก่ โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โรงเรียนเอกชน โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนขยายโอกาส สพฐ. โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน จะมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนจะมีคะแนนเฉลี่ยต่ำมาก" นางสุนีย์กล่าว
ที่มา: http://www.posttoday.com

“พินิติ” เล็งเสนอเดินหน้าทุนครูมืออาชีพ
          สรุปข้อหารือคณบดีสถาบันผลิตครูทั่วประเทศ หนุนรัฐบาลเดินหน้าทุนครูมืออาชีพต่อทันที พร้อมวางเกณฑ์ปี 57 ให้เลือกจากนักศึกษาครูปี 5 ที่มีผลการเรียนดีและพิจารณาภูมิลำเนาเพื่อบรรจุแก้ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ เตรียมเสนอ รมว.ศธ.ตัดสินใจเร็วๆ นี้
          วันนี้ (4 ธ.ค.)รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมร่วมกับคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จากสถาบันฝ่ายผลิตทุกกลุ่มทั่วประเทศ เกี่ยวกับข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ กรณีการเดินหน้าโครงการครูมืออาชีพ ซึ่งที่ประชุมเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการนี้ต่อเนื่องเพราะทำให้ได้ครูที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบมากขึ้น พร้อมเสนอให้ใช้ระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ โดยการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและมีระบบประกันงานทำแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตามสำหรับปีการศึกษา 2557 ที่ประชุมเสนอให้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาครูชั้นปีที่ 5 ซึ่งมีผลการเรียนดีต่อเนื่องเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยวิธีการสอบคัดเลือก และให้พิจารณาภูมิลำเนาของผู้ได้รับคัดเลือกก่อนบรรจุ เพื่อป้องกันปัญหาการโอนย้ายหรือลาออกและตอบโจทย์ความขาดแคลนในพื้นที่ ทั้งนี้ตนจะสรุปผลการหารือเพื่อนำเสนอนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาข้อมูลอัตราบรรจุครูในแต่ละสาขาจากหน่วยงานผู้ใช้ครูนำมาประกอบกันด้วย
          รศ.ดร.พินิติ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงประเด็นการควบคุมจำนวนรับนิสิตนักศึกษาเพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตครู โดยสถาบันฝ่ายผลิตเห็นด้วยในหลักการว่าควรมีการพิจารณาจำกัดจำนวนรับ แต่สำหรับปีการศึกษา 2557 ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเพราะหลายสถาบันได้เปิดรับตรงไปแล้ว ดังนั้นที่ประชุมได้สรุปให้สถาบันฝ่ายผลิตกลับไปหารือกำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อควบคุมปริมาณและมุ่งเน้นคุณภาพของบัณฑิตครูเป็นหลัก เบื้องต้นมีข้อเสนอให้สถาบันฝ่ายผลิตใช้นโยบายการรับนักศึกษาร่วมกันลักษณะเดียวกับการรับนักศึกษาของกลุ่มแพทย์ โดยหวังว่าการกำหนดเป้าหมายการผลิตร่วมกันจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องจำนวนและคุณภาพของบัณฑิตครูได้
          “นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องมาตรฐานหลักสูตรและการผลิตครู โดยเสนอเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูว่า ต้องมีการปรับเพื่อให้ตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเรียนการสอน รวมถึงหารือเกี่ยวกับแนวโน้มการให้บัณฑิตครูสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภา โดยมีข้อเสนอว่าจะต้องสอบทั้งภาคทฤษฎีและกระบวนการสอน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องพูดคุยกับคุรุสภาด้วย”รศ.ดร.พินิติ กล่าว.
ที่มา: http://www.dailynews.co.th


ย้ำปลูกฝังการอ่านต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก
          หมอยงยุทธ ย้ำการอ่านเป็นปัจจัยสร้างประชากรที่มีคุณภาพ แนะพ่อแม่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูกตั้งแต่อายุยังน้อย โดยการเล่านิทาน หรืออ่านการ์ตูน ด้านอดีตศึกษานิเทศก์ ชี้การสอนภาษาไทยในโรงเรียนทำให้เด็กรุ่นใหม่ยิ่งอ่อนแอภาษาไทย
          นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวในการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่สถานศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 23 ว่าการพัฒนาเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการได้ส่งเสริมการอ่านให้ตั้งแต่อายุยังน้อย การอ่านที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเพราะเด็กจะสามารถจดจำได้ดี เรียนรู้คำศัพท์ได้มาก รู้จักความหมายซึ่งจะส่งผลให้มีการเรียนรู้ที่ดีเมื่อเติบโตขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ต้องส่งเสริมการอ่านให้แก่ลูกเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางสมอง เช่นการอ่านนิทาน หรือหนังสือการ์ตูนให้ลูกฟังอีกทั้งยังให้ผลดีในการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวจากการโอบกอดในระหว่างอ่านหนังสือร่วมกันอีกด้วย
          นายทองสุข รวยสูงเนิน อดีตศึกษานิเทศก์ กล่าวว่า เด็กไทยไม่มีนิสัยรักการอ่าน เพราะขาดการปลูกฝังอย่างต่อเนื่อง โดยพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะพยายามปลูกฝังโดยการอ่านหนังสือเล่านิทานให้ฟังในช่วงปฐมวัย แต่เมื่อโตขึ้นมาก็มักจะละเลยเพราะคิดว่าให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนในขณะที่โรงเรียนก็ไม่ค่อยได้สานต่อให้เด็กรักการอ่านอีกทั้งการสอนภาษาไทยในโรงเรียนก็ผิดเพี้ยนไปมาก โดยเฉพาะการสอนให้อ่านเป็นคำๆแบบท่องจำโดยเลิกใช้วิธีการสอนแบบแจกลูกสะกดคำทั้งที่จะทำให้เด็กเรียนรู้หลักภาษาและสามารถอ่านหรือสร้างคำใหม่ๆได้มากกว่าดังนั้นโจทย์สำคัญคือการคิดหาวิธีที่จะทำให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่านติดตัวไปตลอดชีวิตรวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการสอนภาษาไทยในโรงเรียนด้วย
          ด้านนพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่าการอ่านทำให้ฉลาดและมีความสุข เป็นการสร้างโปรแกรมความดีขึ้นในสมองแต่น่าเสียดายที่หนังสือดีๆในประเทศไทยมักจะขายได้น้อยมากนอกจากนี้การที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ที่บังคับให้ทุกคนต้องเขียนตำราขึ้นมาซึ่งบางครั้งก็มีปัญหาด้านคุณภาพ แล้วอาจารย์ก็จะใช้ตำราของตัวเองไปสอนนักศึกษาทำให้รู้สึกน่าเป็นห่วง จึงน่าจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์เหล่านี้ได้แล้วเพราะในต่างประเทศ ผู้ที่จะเขียนตำราได้นั้นต้องมีประสบการณ์และผ่านการตรวจสอบอย่างมาก
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: