วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

สพฐ.วางกรอบขยายโอกาสเปิด ม.ปลาย

         นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาจำนวนมากขอเปิดสอนระดับมัธยมปลาย (ม.ปลาย) บนความไม่พร้อมโดยเฉพาะเรื่องครูผู้สอน ซึ่งในการประชุมบอร์ด กพฐ. ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธาน กพฐ. ได้ตั้งคำถามว่า โรงเรียนขยายโอกาสจะเป็นโรงเรียนประถมหรือมัธยม เพราะบางโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึง ม.ปลาย ซึ่งต้องยอมรับว่าบางแห่งมีความจำเป็นต้องเปิดถึง ม.ปลาย เพราะโรงเรียนมัธยมอยู่ห่างไกลมาก และเป็นชุมชนใหญ่ แต่บางพื้นที่ก็อยู่ไม่ไกลและการคมนาคมก็เจริญ
          โรงเรียนเหล่านี้มักมีปัญหาขาดครู เนื่องจากเวลาเรียกบรรจุครูโรงเรียนขยายโอกาสมักไม่มีคนเลือกทั้งที่เรียกบรรจุจำนวนมาก ทำให้ระยะแรกของโรงเรียนขยายโอกาสต้องจ้างครูมัธยมที่เกษียณอายุราชการไปแล้วให้กลับมาสอน แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน จึงต้องมีการทบทวนกันใหม่ว่ามีความจำเป็นต้องเปิดจริงๆ และต้องถามโรงเรียนเหล่านี้ด้วยว่าจะเปิดเป็นโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนประถม ถ้าเลือกเป็นมัธยม ต้องเลือกรับประถมในปีการศึกษาหน้า โดยหยุดรับอนุบาล กับ ป.1 แต่หากเลือกเป็นประถมก็ต้องหยุดรับ ม.4
          "ทุกวันนี้มีโรงเรียนหลายร้อยโรงที่ตั้งอยู่บนความขาดแคลนเรื่องครู จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องศึกษาและตัดสินใจ ถามโรงเรียนว่าจะเลือกเป็นโรงเรียนประถมหรือมัธยม เพราะถ้าเป็นมัธยมก็เปิดถึง ม.ปลาย แต่ถ้าเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดแค่ ม.ต้น ก็เป็นไปตามหลักการเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ เพราะไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงาน ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องทำเรื่องนี้ มิฉะนั้นอีก 5-10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะไม่มีคนทำงาน เพราะมุ่งเรียนแต่ปริญญากันหมด ดังนั้น หากนโยบายรัฐบาลเน้นส่งเสริมผลิตกำลังแรงงาน สพฐ.ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายการขยายชั้นเรียนเพิ่มในระดับ ม.4 เช่น จากเดิมที่อนุญาตให้โรงเรียนเปิด ม.4ได้ 8 ห้องเรียน ก็ต้องคงเดิมไม่ขยายห้องเรียนเพิ่ม
          "เราต้องเข้าใจว่า สภาพปัญหาว่าประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถจ้างคนจบปริญญาตรีได้ เพราะไม่ได้ฝึกทักษะ แต่สถานศึกษาอาชีวะฝึกให้ ทำให้เด็กที่จบอาชีวะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานง่ายกว่าคนจบปริญญาตรีที่ต้องไปฝึกอบรมเพิ่มทำให้เสียเวลา" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
          --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 29 ม.ค. 2557 


คิดเกณฑ์บรรจุจิตอาสาเป็นครู
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้รายงานการปรับปรุงข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ในส่วนของการประเมินเพื่อขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จากเดิมที่สามารถต่อได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการพัฒนาวิชาชีพครู แต่หลักเกณฑ์ใหม่จะมีการประเมินแบบให้คะแนน ที่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ขณะเดียวกันต่อไปผู้จบการศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทุกคนต้องมา สอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย ไม่ใช่ได้โดยอัตโนมัติเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้ให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อน  อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ให้คุรุสภาไปหารือร่วมกับผู้ใช้และผู้ผลิตบัณฑิตเพิ่มเติม เพื่อให้หลักเกณฑ์ต่างๆ เกิดความชัดเจนมากขึ้น และได้ครูตรงความต้องการของผู้ใช้
          รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ตนให้คุรุสภาไปหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู โดยเฉพาะการดึงผู้ที่จบในสาขา อื่นที่เป็นความต้องการของประเทศ อาทิ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาตร์ เป็นต้น ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นครูง่ายขึ้น พร้อมทั้งให้องค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในสังกัด ไปหารือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการบรรจุให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มครูอัตราจ้างในสถานศึกษา นักศึกษาที่จบใหม่ และกลุ่มที่มีจิตอาสา เช่น ครูอาสาที่ไปสอนในพื้นที่ทุรกันดาร ครูจากโครงการจิตอาสาต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าคนเหล่านี้ติดใจอยากเป็นครู ก็ให้บรรจุเป็นข้าราชการครูได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ให้นำร่างหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูต่อไป.
      
    --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 ม.ค. 2557 

เรียนภาษาผ่านการแสดง

          นางระพีพร คิ้วทวีวิวัฒน์ อายุ 49 ปี หรือที่เด็กนักเรียนรู้จักเรียกติดปากว่า "คุณครูอ้อย" โรงเรียนวัดสัมมาราม ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 ได้นำความรู้ ความสามารถเข้ามาช่วยเด็ก ๆ ชนบทที่อยู่ห่างไกลให้มีความใส่ใจกิจกรรมการเรียน การสอน โดยได้นำเทคนิควิธีการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ทำให้เด็กมีความเข้าใจ และทำให้เด็กได้รับรางวัลเหรียญทองด้านประกวด ร้องเพลงของสำนักงานเขตพื้นที่ถึง 10 เหรียญทอง ส่วนปี 2556 สามารถพัฒนา ขึ้นมาเป็น 13 เหรียญทอง จนทางคุรุสภาได้ประกาศผลการคัดเลือกได้รับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเพื่อรับรางวัลคุรุสภา ดีเด่นประจำปี 2556 สร้างความภาคภูมิใจให้แก่โรงเรียนและชุมชนอย่างยิ่ง
          ครูอ้อย เล่าว่า เข้ารับราชการครั้งแรกที่จังหวัดจันทบุรีจากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรีบ้านเกิด อดีตเป็นครูเอกชนอยู่ที่โรงเรียนดรุณาราชบุรีนาน 23 ปี ได้สั่งสมประสบการณ์และผลงานมากมาย จากการที่ผู้บริหารได้ให้โอกาสทำงานที่รักและปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทย ก็ได้ประยุกต์การสอนภาษาไทย ด้วยการใช้เพลงเข้ามาร่วม จะดูเด็กที่สอนโดยไม่ได้เลือกว่าเด็กเหล่านั้นจะเก่งหรือไม่เก่งแต่ดูศักยภาพว่าใจเด็กต้องรัก ก่อนว่ามีอารมณ์สุนทรีย์ในใจเขา หากมีตรงนี้จะสามารถพัฒนาได้ถึงแม้เด็กคนนั้นจะอ่านหนังสือออกหรือไม่ออก
          "การสอนภาษาไทยต้องดูแววเด็กไปด้วย ประกอบกับส่วนตัวครูจะชอบศิลปะการแสดงอยู่แล้วจึงเลือกเด็กมาฝึกฝนชอบให้เด็กแสดงความสามารถ จะได้ค้นหาพบตัวเองว่ามีศักยภาพด้านไหนโชคดีที่จากเด็กไม่เป็นอะไรมาเลยในวันหนึ่งเขาสามารถประสบความสำเร็จได้ทำผลงานและสร้างชื่อเสียงด้วยตัวเขาและสถานศึกษามากมาย ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ ได้รางวัลสูงสุดเป็นถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ตลอดเวลาที่เป็นครูมาเกือบ 30 ปีทำให้ได้รับรางวัลเป็นผลต่อเนื่องเชิงประจักษ์ได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือว่าเป็นสุดยอดของความเป็นครูแล้ว ในชีวิตไม่คิดว่าจะมีวันนี้ พอประกาศผลรางวัลคุรุสภา รู้สึกเหมือนฝัน" ครูอ้อย เล่าอย่างมีความสุข
          สำหรับเทคนิควิธีการสอนนั้น ครูอ้อย บอกว่า ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย จึงนำมาปรับใช้ โดยการจัดโต๊ะกลุ่มในห้อง เรียนจะคละเด็ก เก่ง อ่อน จับกลุ่มกันเป็น การให้เพื่อนช่วยเพื่อนคอยเตือนและช่วยเหลือกัน ให้เลือกกันเองตามความพอใจของเพื่อน ผลัดกันเป็นผู้นำ
          และผู้ตาม รู้จักแสดงความคิดเห็น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ให้มีความเชื่อมั่นเป็นของตัวเอง เช่น ให้ออก มาพูดหน้าชั้นเรียน ฝึกให้กล้าแสดงออก ซึ่งจากการที่ได้มาสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดสัมมารามพบว่าเด็กอยากทำในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น พอได้ทำและประสบความสำเร็จ รู้สึกว่าผู้ปกครองจะตื่นตัวและให้การสนับสนุนเด็กอย่างดีมากจนได้รับเหรียญทองระดับเขตมาแล้ว ทั้งนี้ถ้าเด็กทำดีต้องส่งเสริมและยกย่องแจกเกียรติบัตร เชิดชูหน้าแถวหลังเคารพธงชาติ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีกับเด็กคนอื่น ๆ ต่อไป.
          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: