วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

ทุนโอดอส รุ่น 5 อุ้ม นร.ยากจนเรียนนอก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ทบทวนการดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1-4 เนื่องจากเจตนารมณ์ของการจัดตั้งโครงการ เพื่อต้องการให้โอกาสแก่นักเรียนยากจนและครอบครัวมีรายได้น้อยแต่เรียนดี ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ แต่เมื่อเข้าสู่รุ่นที่ 3 เป็นต้นมา กลับมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่แตกต่างไปจาก 2 รุ่นก่อน ส่งผลการคัดเลือกผู้รับทุนในรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 มีผู้ได้รับทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีทุนการศึกษาเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรุ่นที่ 4 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ก็สมัครไม่เต็มจำนวน แม้จะเปิดถึงสองรอบ และล่าสุดอยู่ระหว่างรับสมัครรอบสาม
          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในรุ่นที่ 5 ที่ประชุมจึงเห็นชอบที่จะให้ยึดตามหลักการเดิมของโครงการ คือ ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน ครอบครัวมีรายได้น้อย, ให้ทุนแก่ผู้ที่เรียนดีและมีความประพฤติดี และเปิดโอกาสให้นักเรียนสายสามัญและสายอาชีพได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โดยให้ผู้รับทุนศึกษาต่อในต่างประเทศหรือประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เพื่อให้นำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ อาจจะระบุในหลักเกณฑ์การคัดเลือกด้วยว่า เป็นทุนสำหรับผู้ที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้รับทุนไม่สามารถศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาได้ก็สามารถกลับมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศ เพื่อไม่ให้ผู้รับทุนเครียดเกินไป
          ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารโครงการที่มีนายจาตุรนต์เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการต่อในรุ่นที่ 4 รอบ 3 โดยรับสมัครผู้รับทุนที่เหลือจำนวน 1,619 ทุน ให้ครบ แบ่งเป็นทุนประเภทที่ 1 เรียนดี ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี จำนวน 902 ทุน และประเภทที่ 2 ทุนเรียนดี ไม่จำกัดรายได้ครอบครัว จำนวน 717 ทุน เน้นกระจายทุนให้นักเรียนในสายอาชีวศึกษา ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รวมถึงภาษา ศิลปะ และดนตรี โดยเปิดรับสมัครที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ศึกษาอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1-30 มีนาคม ที่ผ่านมา

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

คุรุสภาฟื้นหลักสูตร ป.บัณฑิต

          ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มครูผู้สอนที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษาเรียกร้องให้คุรุสภาอนุมัติและรับรองหลักสูตรให้สถาบันการผลิตครู เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู/วิชาชีพทางการบริหาร เพื่อให้สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้นั้น ขณะนี้มีสถาบันผลิตครูได้ส่งเรื่องขอเปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต ปีการศึกษา 2557 มายังคุรุสภาแล้วกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ โดยมีทั้งสถาบันที่เคยเปิดสอนแล้วและสถาบันใหม่ที่ขอเปิดสอนเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนี้คุรุสภากำลังตรวจสอบความพร้อม ทั้งหลักสูตรและครูผู้สอนอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเปิดสอนไปแล้วจะไม่มีปัญหา ซึ่งหลังจากที่ตรวจสอบความพร้อมเรียบร้อยแล้ว คุรุสภาจะประกาศสถาบันที่ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บไซต์ของคุรุสภาต่อไป ทั้งนี้จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า เวลานี้มีผู้ที่สอนในสถาบันการศึกษาหลายสังกัดยังไม่มีใบอนุญาตฯ ประมาณ 10,000 คน
          "คุรุสภาจะรับรองปริญญาและมาตรฐานหลักสูตรให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอน ป.บัณฑิตอีกครั้งในปีการศึกษา 2557 หลังจากที่ไม่มีการรับรองฯสถาบันใดเลยมาถึง 2 ปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ ได้มีโอกาสรับใบอนุญาตฯ มากขึ้น" ศ.ดร.ไพฑูรย์กล่าวและว่า หลักสูตรป.บัณฑิตนี้เปิดให้เฉพาะผู้ที่สอนสาขาวิชาใดก็ได้ในทุกสถานศึกษา ส่วนผู้ที่ไม่ได้สอนในสถานศึกษาก็ไม่มีสิทธิสมัครเข้าเรียน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่สอนอยู่ในสถานศึกษาทุกสังกัดที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯและต้องการได้รับใบอนุญาตฯ จะได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่วิชาชีพครูอย่างถูกต้องตามระเบียบของ คุรุสภา. 
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 เม.ย. 2557     


หนุนเลิกจับฉลากม.1เมื่ิอวันที่ 7 เมษายน ว่าที่ร้อยตรีอานนท์ สุขภาคกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่ากรณีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอแนวคิดยกเลิกวิธีการจับสลากเข้าเรียนชั้นม.1 เพื่อปรับเกณฑ์การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2558 ใหม่ โดยเตรียมเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการทั่วประเทศ โรงเรียนชื่อดังที่มีอัตราการแข่งขันเข้าเรียนสูงมาหารือนั้น ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนายอภิชาติ ซึ่งจะยกเลิกวิธีการจับสลากเข้าเรียนชั้นม.1 มองว่าวิธีการการจับสลากน่าจะหมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว ควรเปิดให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการแข่งขันอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็ใช้วิธีการพิจารณาจากผลคะแนนการสอบต่างๆ อาทิ ใช้คะแนนสอบโอเน็ตในการคัดเลือก ส่วนที่ถามว่าหากยกเลิกการจับสลากจะทำให้เด็กในเขตพื้นที่บริการของแต่ละโรงเรียนเสียโอกาสหรือไม่นั้น มองว่าไม่น่าจะเสียโอกาส เพราะการจับสลากเด็กไม่ได้ใช้ความสามารถอะไรเลย เด็กเรียนเรียนสมัยนี้ก็เก่งๆ ทั้งนั้น ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรอดูผลการประชุมหารือรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายว่าจะว่าอย่างไรบ้าง

นางแสงระวี วาจาวุทธ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะยกเลิกระบบการจับสลาก ซึ่งก็จะทำให้เด็กได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสอบแข่งขันเต็มที่ และคิดว่าการยกเลิกการจับสลากไม่น่าจะทำให้เด็กในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนนั้นๆเสียเปรียบ เพราะปัจจุบันเด็กในพื้นที่บริการส่วนใหญ่ก็สอบได้ทั้งนั้น แต่ถ้าจะยกเลิกระบบดังกล่าวจริงๆ ก็อยากให้นำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมและพิจารณาจากคุณงามความดีของเด็กที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ มาใช้ในการคัดเลือกนักเรียนด้วยก็น่าจะดี
มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: