วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เพิ่มข้อเขียน 'มิด-ปลาย' เทอม 30% สพฐ.นำร่อง ร.ร.พร้อม เริ่ม ป.1หวังเพิ่มทักษะ'คิด-วิเคราะห์'

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้นาย อภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องแนวปฏิบัติในการยกระดับคุณภาพนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้ดำเนินการในปีการศึกษา 2557 ใน 8 แนวปฏิบัติ อาทิ การจัดให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศด้านการฟัง พูด เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาที่ใช้ในอาเซียนให้มากขึ้นโดยเน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้, จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนมีจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหานักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้, จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้เพิ่มการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบทั้งการเขียนตอบแบบสั้นและแบบยาวเมื่อจบหน่วยการเรียนในการสอบระหว่างภาคเรียนและการสอบปลายภาค อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการสอบแต่ละครั้ง เป็นต้น
          นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า แนวปฏิบัติที่กำหนดให้โรงเรียนใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบทั้งการเขียนตอบแบบสั้นและแบบยาวนั้น ให้โรงเรียนและครูผู้สอนดำเนินการตามความพร้อม ซึ่งปัจจุบันแม้ระบบการเรียนการสอนจะเน้นการฟัง พูด อ่านและเขียนอยู่ แต่สุดท้ายเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกฝึกในเรื่องของการเขียนที่จะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และการคิดรวบยอดจากสิ่งที่เด็กได้ฟัง อ่าน พูดแล้วเขียนออกมา โดยการกำหนดให้มีข้อสอบแบบเขียนจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กต้องมีกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อจะสามารถเขียนตอบได้ ซึ่ง สพฐ.อยากจะให้เด็กค่อยๆ ซึมซับและได้รับการส่งเสริมในเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก
          "แนวปฏิบัติดังกล่าวจะให้เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามสภาพความพร้อม และอยากจะให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศได้ทำความเข้าใจและรณรงค์เรื่องนี้กับโรงเรียนและครูผู้สอนด้วย" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

          มติชน ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2557



สอบครูผู้ช่วยมีหนาวต้องปฏิบัติสอนโชว์ 'สุขุม' ชี้ข้อสอบมหา'ลัยเจ๋งกว่าเขตพื้นที่

          รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแล และติดตามการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี 2557 เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ทำให้พบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดสอบหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจ ให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการจัดสอบ ที่ในส่วนของข้อสอบจะมีทั้งกรณีเขตพื้นที่ฯออกข้อสอบเองและให้สถาบันอุดมศึกษาออกให้ ซึ่งข้อสอบก็จะมีความแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ข้อสอบที่ ออกโดยสถาบันอุดมศึกษาจะมีความน่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐาน สัดส่วนของเนื้อหาแต่ละด้านแต่ละวิชาจะมีความสมดุลกันให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สอบมากกว่าข้อสอบของเขตพื้นที่ฯ
          รศ.ดร.สุขุม กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับความครอบคลุมของเนื้อหาข้อสอบด้วยว่า ข้อสอบ ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไปและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพ ครู ควรมีการเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับอาเซียน ในส่วนของความรอบรู้ ส่วนด้านความสามารถก็ควรเพิ่มเรื่องความสามารถด้านมิติสัมพันธ์เข้าไปด้วย สำหรับ ภาค ข ความรู้เฉพาะตำแหน่ง ควรเพิ่มหลักการ วิธีการสอนแบบบูรณาการ รวมถึงควรมีการกำหนดให้สอบวิชาศีลธรรม จริยธรรม ความเป็นครู ทั้งนี้ เพื่อให้เนื้อหาของข้อสอบมีความครอบคลุมในสิ่งที่จำเป็นต่อผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครูให้มากขึ้น แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นข้อสอบที่ออกโดยสถาบันอุดมศึกษาหรือออกโดยเขตพื้นที่ฯ ควรมีการนำข้อสอบมาประเมินก่อนที่จะนำไปใช้สอบว่าครอบคลุม ตามเนื้อหาหลักสูตรหรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะการออกข้อสอบเชิงลึกของเขตพื้นที่ฯ เพราะทำให้ผู้เข้าสอบที่มาจากเขตพื้นที่ฯอื่นไม่สามารถทำได้เหมือนเป็นการออกข้อสอบเพื่อเอื้อแก่คนในเขตมากกว่า
          "สำหรับกรณีข้อสอบที่มีความยากง่ายแตกต่างกันนั้น ก็มีข้อเสนอว่าอาจจำเป็นต้องมีข้อสอบกลางที่พัฒนาจนเป็นคลังข้อสอบ ซึ่งอาจมองไปถึงการสอบในระบบของข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ที่มีการจัดสอบภาค ก ความรู้ทั่วไป แล้วขึ้นบัญชีไว้ เมื่อมีเขตไหนเปิดสอบภาค ข ก็ไปสมัครกัน ส่วนแนวทางการคัดเลือกที่จะทำให้ได้ครูที่ดีมีคุณภาพสำหรับการสอบภาคอื่น ๆ นั้น มีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการสอบภาคปฏิบัติ หรือการทดสอบการสอน อย่าคิดแค่ว่าหากใช้วิธีนี้แล้วจะเป็นการลำเอียง เป็นการสอบที่คะแนนไม่ได้อยู่ในมาตรฐานตัวข้อสอบแต่ไปอยู่ในดุลพินิจของคน ประเมิน ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามฯจะรวบรวมประเด็น เหล่านี้นำเสนอต่อคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพิจารณาด้วย" รศ.ดร.สุขุม กล่าว.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: