วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สพฐ.ขับเคลื่อนผู้บริหารสู่คุณภาพผู้เรียน

การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพและมีศักยภาพในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ของนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับย่อมขึ้นอยู่กับผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนที่เปิดขยายโอกาสทางการศึกษา คือโรงเรียนประถมศึกษาที่เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษา เป็นตัวจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับประเทศ และนานาชาติ
          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนผู้บริหารสถานศึกษา ในโรงเรียนขยายโอกาส จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสในหลายๆ เรื่อง เช่น ประสิทธิภาพการบริหารงานในยุคปัจจุบัน ผู้นำกับการพัฒนา การจัดทำแผนและการบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มคุณภาพ O-NET และ PISA คุณธรรมนำความรู้สู่การพัฒนา และการบริหารโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับสู่ความสำเร็จ
          โดยได้คัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสจากทั่วประเทศ จำนวน 1,000 โรงเรียน เข้าร่วมประชุมสัมมนา แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ภูมิภาค 5 จุด คือ
          1.อุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาส 11 จังหวัดอีสานตอนล่าง 203 คน
          2.ขอนแก่น ผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาส 10 จังหวัดอีสานตอนบน 197 คน
          3.เชียงใหม่ ผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาส 15 จังหวัดภาคเหนือ 200 คน
          4.นครนายก ผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาส
          20 จังหวัดภาคกลาง 200 คน
          5.สุราษฎร์ธานี ผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาส 17 จังหวัดภาคใต้ 200 คน
          อุบลราชธานี เป็นจุดแรกในการนำร่องประชุมสัมมนา ผู้เข้าประชุมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวม 11 จังหวัด 203 โรงเรียน ดำเนินการโดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ซึ่งมีวิทยากรระดับแนวหน้าในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของประเทศสู่ความสำเร็จ
          เช่น ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายชลอ กอง สุทธิใจ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.วิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 มี นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด
          ดร.วิชัย แสงศรี กล่าวว่า การขับเคลื่อน ผู้บริหารสถานศึกษา ในโรงเรียนขยายโอกาส มีความจำเป็นต้องพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสในหลายๆ เรื่องและเป็นความหวังของ สพฐ. ที่อยากเห็นการรวมพลังของผู้บริหารในโรงเรียนขยายโอกาส เป็นเครือข่ายการขับเคลื่อนคุณภาพของผู้เรียนและให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการแข่งด้านวิชาการ ในระดับประเทศ และนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ
          นายอภิชาติ จีระวุฒิ กล่าวว่า สภาพที่พบในการบริหารงานในโรงเรียนขยายโอกาส คือ ผู้บริหารไม่อยู่โรงเรียน เพราะผู้บริหารมีอำนาจในการอนุญาตตัวเอง จึงไปไหนมาไหนได้สะดวก ในภาคอีสานนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสลดลงมาก ครูมีเวลามากในการทำงานส่วนตัวเพราะคาบสอนลดลง
          "ผู้บริหารอยู่ที่โรงเรียน ต้องสนใจงานวิชาการ การแก้ไขปัญหาครูขาด ครูขาดบางวิชา ผู้อำนวยการจะต้องสอนเอง ผู้บริหารโรงเรียนต้องคิดวางแผน เมื่อมีครูย้ายออก ว่าโรงเรียนมีความต้องการครู ในวิชาเอกใด ควรแต่งตัวสุภาพและเหมาะสม ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างทั้งการแต่งกาย และพฤติกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ควรทำงานในโรงเรียน อย่างน้อย 8 ชั่วโมง"
          "ผู้อำนวยการต้องดูแลด้วย ว่าอาหารมีคุณภาพหรือไม่ เนื่องจากจัดสรรงบประมาณให้ตามรายหัว รวมทั้งให้ดูแลบริเวณโรงเรียนให้สะอาดร่มรื่นสวยงาม"
          "นักเรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานขอให้อ่านออก เขียนได้ คิดเลขได้ สื่อสารรู้เรื่อง สามารถอ่านฉลากยาที่เป็นภาษาอังกฤษได้ ผู้อำนวยการควรถึงโรงเรียนก่อน 7 โมงเช้า และให้ใช้เวลาอยู่โรงเรียน 70% หรืออย่างน้อย 140 วัน จาก 200 วัน"
 

          --มติชน ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2557



สมศ.ผุดตัวบ่งชี้ประเมินรอบ 4 เตรียมเพิ่มประเมินศิษย์เก่าด้วย

          ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)เปิดเผยว่าจะนำเสนอเรื่องที่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือยูเน็ต ที่จะนำร่องในปีการศึกษา 2557 และจะเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ.ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 เพื่อพิจาณราว่าจะนำตัวบ่งชี้ใดมาใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่แทนการใช้ยูเน็ต โดยเบื้องต้น คาดว่า สมศ.อาจนำผลประเมินคุณลักษณะตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือที่คิวเอฟมาใช้เป็นตัวบ่งชี้เดิมที่เคยใช้ในการประเมินฯ รอบสาม แต่เนื่องจากทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ไม่ต้องการให้ สมศ.นำผลดังกล่าวมาใช้ ดังนั้นคงต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
          ทั้งนี้ การประเมินฯ รอบสี่ ได้มีการปรับตัวบ่งชี้การประเมินระดับอุดมศึกษา ด้านคุณภาพศิษย์ โดยเพิ่มการประเมินศิษย์เก่าด้วย เพราะถือเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยสะท้อนถึงคุณภาพของสถานศึกษาครูอาจารย์ ที่ทำให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และกลับมาช่วยเหลือมหาวิทยาลัย ซึ่งจะพิจารณาจากการทำประโยชน์ให้สถาบัน เช่น พัฒนางานวิชาการงานวิจัย พัฒนารุ่นน้อง ช่วยระดมทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องทุกปี มีกองทุนศิษย์เก่า และมีศิษย์เก่าที่ได้รับยกย่องเชิดชูระดับชาติ/นานาชาติ เป็นต้น เชื่อว่าตัวบ่งชี้นี้เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในอุดมศึกา โดยในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของหน่วยงานต่างๆ ก็มีการประเมินจากศิษย์เก่าด้วยเช่นกัน

        
  --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 14 พ.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: