วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สั่งก.ค.ศ.รีบเคลียร์สอบครูผู้ช่วย

ากการเสวนา "การบริหารงานบุคคลของข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา" ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นางศิริพร กิจเกื้อกูลเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับการสรรหาครูอัตราจ้างในสถานศึกษา ซึ่งพบว่าวิธีการจ้างมีอยู่หลากหลาย การสรรหาไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีระบบอุปถัมภ์ หางานให้ลูก-หลานทำ ดังนั้นส่วนกลางควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และควรมีการพัฒนาครูอัตราจ้างด้วย ส่วนการพัฒนาระบบการสอบบรรจุครูผู้ช่วยนั้น ที่ประชุมเสนอให้มีการจัดทำคลังข้อสอบ เพื่อวัดความรู้ความสามารถ ภาค ก และ ภาค ข แทนการให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ ไปออกข้อสอบกันเอง ส่วนการสัมภาษณ์ ภาค ค ควรมอบให้เขตพื้นที่ดำเนินการ
          ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จะต้องมาดูเรื่องมาตรฐานข้อสอบ และการขึ้นบัญชี ซึ่งการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปครั้งที่ 1 ปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่ามี 5 เขตพื้นที่มีผู้สอบผ่านเกณฑ์จำนวนมาก ขณะที่หลายเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่จัดสอบก็จะมาเรียกบัญชีจากเขตเหล่านี้ ซึ่งเท่าที่ตนได้รับฟังมา คือ เวลาเรียกบรรจุจากเขตเหล่านี้ก็รู้กัน มีการเตี๊ยมกันล่วงหน้า จ่ายเงินกันแล้วก็ไปเรียกบัญชี ซึ่งเรื่องนี้ ก.ค.ศ.ต้องรีบพิจารณาและตัดสินใจ โดยดูว่าทางกฎหมาย ก.ค.ศ.จะมีประกาศอะไรออกมาตอนนี้ได้หรือไม่ เพราะถ้าปล่อยไปจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะจะกลายเป็นว่า  5 เขตพื้นที่จัดสอบให้คนทั่วประเทศ และไม่รู้ว่าเป็นการออกข้อสอบแบบง่าย ๆ และได้มีสิทธิไปเป็นครูแบบง่าย ๆ หรือไม่.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2557 


ความคืบหน้าการกำหนดแนวทางค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา

           นางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการกำหนดแนวทางค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ว่า คณะทำงานได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาการใช้เงินลงทุนทางด้านการศึกษา ประกอบด้วย เงินอุดหนุนรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน เงินเดือนครู และงบดำเนินการ พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะใช้เงินลงทุนต่อปีสำหรับนักเรียนหนึ่งคน 57,000 บาทต่อหัวต่อคน โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 500-2,000 คน ใช้งบฯ 33,380 บาทต่อหัวต่อคน โรงเรียนที่นักเรียนมากกว่า 2,500 คน ใช้งบฯ 34,100 บาทต่อหัวต่อคน ส่วนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หากมีนักเรียนน้อยกว่า 250 คน ใช้เงินลงทุน 66,930 บาทต่อหัวต่อคน แต่หากมีนักเรียนตั้งแต่ 2,000 คนขึ้นไป จะใช้เงินลงทุนที่ไม่สูง เช่น สาขาอุตสาหกรรมใช้งบฯ 35,070 บาทต่อหัวต่อคน สาขาพานิชยกรรมใช้งบฯ 47,370 บาทต่อหัวต่อคน
          "การศึกษาจะพบว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย จะใช้งบฯต่อนักเรียนหนึ่งคนค่อนข้างสูง ซึ่งผลการวิเคราะห์เหล่านี้จะนำเสนอให้องค์กรที่มีสถานศึกษาในสังกัดอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สอศ.ไปบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็ก อย่างการเพิ่มจำนวนนักเรียน ส่วนการคิดค่าใช้จ่ายรายหัวระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้จัดการศึกษาได้คุณภาพนั้น ยังไม่ลงตัว อยู่ระหว่างการศึกษา และคำนวณกันอยู่" นางผานิตย์กล่าว
          นายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า เมื่อคณะทำงานสรุปวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเสร็จแล้ว จะนำเสนอนายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตลอดจนเสนอองค์กรหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในส่วนที่สามารถดำเนินการได้เพื่อจัดสรรงบประมาณต่างๆ สนับสนุนกันต่อไป
          นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการ กพฐ. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พูดถึงโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ.ว่าควรจะให้ภาคเอกชนเข้ามาอุดหนุนโรงเรียนเหล่านี้ให้มากขึ้น ดังนั้น จะเสนอให้ สพฐ.ไปดำเนินการในเรื่องนี้ โดยอาจจะต้องรณรงค์ หรือหามาตรฐานจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน อุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็กให้มากขึ้นกว่าเดิม

        
  --มติชน ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: