วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เลขาธิการกพฐ. สั่งพาเด็กเข้าวัดใกล้บ้าน


ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ส่งหนังสือเวียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือโรงเรียน และหน่วยงานในสังกัด สพฐ. จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ โดยรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมในวัด รวมถึงเชิญชวนบุคลากรแต่งชุดขาวเข้าวัดทุกวันพระ ประดับธงธรรมจักรรอบหน่วยงาน และให้โรงเรียนพานักเรียนไปบำเพ็ญประโยชน์ในวัด โดยเน้นวัดใกล้บ้าน เพื่อสะดวก รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และจากนี้ขอให้โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สพฐ.จะใช้โอกาสช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา พลิกฟื้นขนบธรรมเนียม และประเพณีวิถีชีวิตไทย ๆ ให้เหมือนในอดีต
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่า สพฐ.มีการเกณฑ์บุคลากร และให้โรงเรียนพานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในวัดชื่อดังย่านปทุมธานี ดังนั้น ตนจะนำเรื่องนี้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ยอมรับว่าในอดีต สพฐ.ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นระยะ และบางช่วงมีการร่วมกิจกรรมกับวัดสำคัญบางวัด โดยจัดเป็นโครงการแบบปีต่อปี ซึ่งปีนี้ สพฐ.จะทบทวนเรื่องเหล่านี้  โดยจะดูโครงการเดิมที่มีอยู่ว่าได้กำหนดแผนอะไรไว้บ้าง ถ้าเงื่อนไขอะไรที่ผูกพัน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ก็จะปรับให้เหมาะสม โดยเน้นส่งเสริมให้นักเรียน และบุคลากรของ สพฐ.เข้า ร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนากับวัดใกล้บ้านที่อยู่ในท้องถิ่น เนื่องจากเจ้าคณะจังหวัดทั้งหลายล้วนเป็นพระใน สังกัดมหาเถรสมาคม และมีมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นผู้ดูแลหลักสูตรการอบรม โดยตนเห็นว่าเราควรต้องทำงานร่วมกับสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหลัก.
        
  --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ก.ค. 2557 


เล็งรื้อเกณฑ์คัด'ผู้บริหาร ร.ร.-ศึกษานิเทศก์'

          "ชีพจรครู" ฉบับนี้ มีความเคลื่อนไหวเรื่องการปรับปรุง "หลักเกณฑ์วิธีการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)" โดยเรื่องนี้ นายอภิชาติ จีระวุฒิ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบาย และระบบบริหารงานบุคคล ที่ทำหน้าที่แทนที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ระบุว่า
          "ในการประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบาย และระบบบริหาร งานบุคคลฯ ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ จะหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการในการสรรหาผู้บริหารฯใหม่ จากเดิมที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้มอบให้ สพฐ.ดำเนินการสอบคัดเลือกขึ้นบัญชี แต่จะแก้ไขให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกเอง แต่ยังไม่ตกผลึก หรือได้ข้อสรุปในข้อสอบที่จะใช้ในการสอบแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ว่าจะออกโดยส่วนกลาง หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ส่วนการขึ้นบัญชี มีแนวคิดจะให้ขึ้นบัญชีเป็นรายเขตพื้นที่การศึกษา กับบัญชีรวมเป็นภูมิภาค เช่น ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ เป็นต้น"
          แนวคิดนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะการสรรหา "รองผู้อำนวยการสถานศึกษา" และ "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" เท่านั้น เพราะนายอภิชาติบอกว่าจะนำมาใช้กับการสอบคัดเลือกตำแหน่ง "ศึกษานิเทศก์" ที่ยังว่างอยู่ 2,400 กว่าตำแหน่งด้วย
          สำหรับสาเหตุที่จะปรับปรุงเกณฑ์ในครั้งนี้ เป็นเพราะการจัดสอบโดย สพฐ.ที่จะให้ขึ้นบัญชีรวม ทำให้ไม่สะดวกในการเลือกบรรจุ อย่างเช่นกรณีผู้สอบขึ้นบัญชีได้ในอันดับที่ 1 เป็นคนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ตำแหน่งว่างอยู่ จ.นราธิวาส จึงสละสิทธิที่จะไปบรรจุ และพอเรียกผู้ขึ้นบัญชีในลำดับถัดไป ก็ยังสละสิทธิ จึงไม่มีใครที่จะไปบรรจุแต่งตั้ง
          ด้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนล่าสุด มีแนวนโยบายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะการสอบแข่งขันคัดเลือกว่า สิ่งที่จะเข้ามาดูเกี่ยวกับการสอบคัดเลือกแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการสอบครูผู้ช่วย ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น จะต้องกำหนดปฏิทิน เวลาในการสมัครคัดเลือก และการสอบแข่งขันล่วงหน้าในแต่ละปี เพื่อให้ผู้ที่จะเข้าสอบมีเวลาเตรียมตัวกันได้ล่วงหน้า เหมือนกับการสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ที่จะกำหนดปฏิทินล่วงหน้าในแต่ละปี
          "การกำหนดวันเวลาในการสอบที่ชัดเจนแต่ละปี มีข้อดีที่จะลดปัญหาการฟ้องร้องต่างๆ ได้ เพราะทุกคนมีเวลาเตรียมตัว และไม่เสียสิทธิ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องนำไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนสู่นโยบายกันต่อไป" เลขาธิการ กพฐ.กล่าวย้ำ
          อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือก ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการคัดคนเข้ามาสู่ระบบการศึกษาเท่านั้น แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือจะทำอย่างไรที่จะคัด "คนดี" และ "คนเก่ง" เข้ามาสู่ระบบ อีกทั้งจะต้องปราศจากการทุจริตในกระบวนการสอบคัดเลือกอีกด้วย
         
--มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.ค. 2557 

ไม่มีความคิดเห็น: