วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การขอปรับเงินอุดหนุนนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ศึกษาธิการ - รองศาสตราจารย์นายแพทย์ กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2558 ซึ่งมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการขอปรับเงินอุดหนุนนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่เป็นการเพิ่มวงเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สพฐ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการขอปรับเงินอุดหนุนนักเรียนที่ผ่านมา ซึ่งพบปัญหาหลายประการ ประกอบกับอัตราเงินอุดหนุนที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ไม่เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าสาธารณูปโภคของโรงเรียนสูงขึ้น สพฐ.จึงขอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนร้อยละ 10 ใน 5 รายการ คือ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 

ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างหลากหลายและมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับแนวทางในการปรับระบบการเงินการคลังในการจัดการศึกษา และให้การปรับอัตราเงินอุดหนุนให้เกิดความเพียงพอต่อการจัดการศึกษาในอนาคต โดยคณะทำงานดังกล่าวมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน มีคณะทำงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ด้วย โดยคาดว่าคณะทำงานจะศึกษาวิเคราะห์แล้วเสร็จภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นที่ประชุมได้เสนอแนวทางการจัดเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนใน 2 ลักษณะ คือ 1) ค่าใช้จ่ายประจำของโรงเรียน เพื่อให้สามารถพัฒนาและดำรงอยู่ได้ 2) ค่าใช้จ่ายรายหัว ที่จะต้องรอผลสรุปของคณะทำงานต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้ยกเว้นการเก็บค่าบำรุงการศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการสำหรับผู้ที่มีฐานะไม่ดี เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาในวิชาเลือกอื่น นอกเหนือจากการจัดหลักสูตรปกติ เช่น ค่าครูดนตรี/ครูว่ายน้ำ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปรับงบประมาณในส่วนของเงินอุดหนุนแล้ว ก็จะต้องลดงบประมาณในส่วนอื่น เพื่อไม่เป็นการเพิ่มงบประมาณ เพราะในปัจจุบันงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการสูงมากอยู่แล้ว

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: