อนุมัติร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- กำหนดให้มี “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ และเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม รวมทั้งมีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง
- กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวน 1,000 ล้านบาท เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเงินงบประมาณแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นต้น โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
- ผู้เสียภาษีเงินได้มีสิทธิแสดงเจตนาให้รัฐนำเงินที่ตนได้เสียภาษีไว้ไปอุดหนุนกองทุนได้ปีละไม่เกิน5,000 บาท และผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาทสำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิสำหรับนิติบุคคล
- กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 1 คน เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 6 คน เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- กำหนดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือน
- กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า หรือศึกษาธิการจังหวัดหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือน หรือลดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษ
- กำหนดให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า หรืออธิการบดี หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า หรือศึกษาธิการภาคหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือน หรือลดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น